จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

ในจดหมายฉบับที่ผ่านมา พ่อเล่าให้ลูกฟังถึงเรื่องพิษร้ายของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้กระแสการเมืองต่อต้านการค้าโลกเกิดขึ้นในเศรษฐกิจที่เคยเป็นโปรโมเตอร์ตัวยงของโลกาภิวัตน์อย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรซึ่งตรงนี้พ่อคิดว่าจะเป็น จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของการค้าโลกเลยทีเดียว

การเปลี่ยนขั้วอำนาจของโลกกับ “สุญญากาศแห่งผู้นำ”

การขึ้นสู่บัลลังก์ประธานาธิบดีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ขี่กระแสการต่อต้านการค้าโลก และเหตุการณ์เบร็กซิต (Brexit) เป็นพลุสัญญาณเตือนที่สำคัญว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสินทรัพย์ที่สะสมมานานและไม่ได้รับการเยียวยานั้น ทำให้โปรโมเตอร์ของการค้าโลกและโลกาภิวัตน์ คงไม่สามารถกลับมาเป็นผู้นำในการผลักดันด้านนี้ได้อีก

ล่าสุดอเมริกาได้ถอยออกจากข้อตกลงทางการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่อเมริกาเคยเป็นตัวตั้งตัวตีให้ทำข้อตกลง ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พยายามผลักดันให้ปิดด่านพรมแดนเพื่อสกัดกั้นให้ผู้อพยพเข้ามาทำงานในอเมริกาได้ยากขึ้นประจานบริษัทที่จะมีโครงการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อกดดันให้มาเปิดโรงงานในประเทศแทน และนายทรัมป์ยังหักดิบด้วยการถอนอเมริกาออกจาก ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อพยายามลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย จนทำให้ความสัมพันธ์กับยุโรปเกิดรอยร้าวขึ้น

ประเด็นที่ลูกจะเห็น หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ก็คือ “ภาวะสุญญากาศทางผู้นำ” นี้เป็นเรื่องอันตรายสำหรับเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่างในยุคที่เกิดสุญญากาศทางผู้นำ เช่น ในช่วงปี ค.ศ. 1930 ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรได้สูญเสียตำแหน่ง “ผู้นำเศรษฐกิจโลก” หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่อเมริกาได้ผงาดขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจ

แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกที่คอยรณรงค์เรื่องการค้าเสรีเมื่อเศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่ช่วงตกต่ำในปี 1929 อเมริกาจึงเลือกดำเนิน นโยบายกีดกันทางการค้า ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจนสูงเป็นประวัติการณ์ โดยอ้างเหตุว่าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Smoot-Hawley Tariffs

ผลที่ตามมาก็คือ ประเทศคู่ค้าของอเมริกาต่างก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีใส่สินค้าส่งออกของอเมริกาเช่นกัน จนกลายเป็นสงครามการค้าโลก ที่ทำให้แต่ละเศรษฐกิจยิ่งทรุดหนักจากที่ป่วยอยู่แล้ว ส่วนอเมริกาเองการส่งออกและนำเข้าก็ทรุดฮวบลงกว่า 60% ในช่วงเวลานั้น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาจึงได้เปลี่ยนบทบาทใหม่ ทั้งเริ่มแผนที่ต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์คือ “แผนมาร์แชล” (Marshall Plan) ซึ่งก็คือการส่งความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินจากอเมริกาไปให้ยุโรปที่เศรษฐกิจอ่อนแอมากหลังสงครามให้ฟื้นตัวได้อีกทั้งอเมริกายังได้ผลักดันให้เกิดองค์กรเพื่อมาช่วยรักษาและผลักดันกติกาการค้าและการลงทุนของโลก ซึ่งต่อมาในสมัยของพ่อ องค์กรเหล่านั้นมีบทบาทอย่างมาก เช่น ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การการค้าโลก (WTO จากเดิมคือ GATT) เป็นต้น

ซึ่งการร่วมมือกันของเศรษฐกิจมหาอำนาจนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะกฎกติกาการค้าและการลงทุนของโลกนั้นเป็นเสมือน “สินค้าสาธารณะ” ที่ทุกคนอยากได้รับประโยชน์ โดยไม่ต้องเสียสละหรือลงแรงตัวเอง เศรษฐกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะมีแรงจูงใจและความสามารถที่จะตีกรอบและรักษากฎกติกาการค้าการลงทุนของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่กฎกติกาการค้าโลกและการลงทุนภายใต้กรุงวอชิงตันก็มีปัญหาไม่น้อย

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าพ่อกำลังบอกว่าอเมริกาเป็นผู้นำเศรษฐกิจที่ดีนะลูก กระแสโลกาภิวัตน์ หรือการเชื่อมโยงกันทั้งการค้า การลงทุน คนและตลาดการเงินนั้น มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน จริง ๆ แล้วพ่อโตขึ้นมาในยุคที่เห็นอเมริกาและสถาบันอย่าง IMF ผลักดัน ยัดเยียดการเปิดเสรีมากเกินไป และเร็วเกินควร ไม่ดูความพร้อมของแต่ละประเทศ จนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจหลายครั้งขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งวิกฤตไทยที่คนไทยเรารู้จักกันอย่างเจ็บปวดในชื่อ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทยในปี ค.ศ. 1997 และก็สามารถพูดได้เช่นกันว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกาเองในปี ค.ศ. 2008 ก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากการปล่อยให้โลกาภิวัตน์ทางการเงินไปไกลเกินไป จนตามควบคุมดูแลไม่ทัน

เมื่อเศรษฐกิจล้ม คนที่เจ็บที่สุดก็คือคนที่มีรายได้และการศึกษาน้อย ทำให้คนพวกนี้กลายมาเป็นผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบันของพ่อ


คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ