สถานการณ์การลงทุนใน Startup ของไทย ไปต่อ…หรือพอแค่นี้

startup
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

สถานการณ์การลงทุนใน Startup ของไทยเป็นอย่างไร ?

บางคนบอกว่าช่วงนี้คือฤดูหนาวของวงการ startup ไทย ผมคงต้องย้อนกลับไปราว 5 ปีก่อนที่ถือว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของวงการ

สตาร์ตอัพ ในช่วงที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่มีแนวคิดว่าสตาร์ตอัพจะเป็นกลไกสำคัญที่จะมาผลักดันธุรกิจไทยให้เติบโตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงได้มีการปรับโครงสร้างและนโยบายหน่วยงานต่าง ๆ และการปรับกฎหมายให้หันมาสนับสนุนภาครัฐมากขึ้น

มีการจัดงานใหญ่ชื่อ Startup Thailand ขึ้น ซึ่งไม่เคยพบว่ารัฐนำเงินมาลงทุนในกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน และมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหัวหอกในการผลักดันสตาร์ตอัพประเทศไทย

เด็กรุ่นใหม่ ๆ หันมาเปิดสตาร์ตอัพกันเต็มไปหมด มีการสนับสนุนลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ตอนนั้นปีหนึ่ง ๆ น่าจะมีบริษัทที่เป็นสตาร์ตอัพเป็นพันบริษัท จึงเหมือนเป็นการจุดพลุที่ดังมาก ทำให้ทุกคนตื่นเต้นกับสตาร์ตอัพ การทำบริษัทเกี่ยวกับทางด้านเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จึงกลายเป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศได้รับรู้ ซึ่งการทำสตาร์ตอัพแตกต่างกับ SMEs โดยสิ้นเชิง

จุดแตกต่างหลัก ๆ มีอยู่ไม่กี่จุดคือ SMEs เน้นที่การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แหล่งเงินลงทุนจะเป็นของตัวเองและการกู้ยืมเงิน และโฟกัสเรื่องของกำไรเป็นหลัก ในขณะที่ในฝั่งของบริษัทเทคโนโลยี หรือสตาร์ตอัพที่เน้นทางด้านนวัตกรรม แหล่งเงินทุนจะไม่เน้นเรื่องการกู้ยืมเงิน แต่จะเน้นการระดมทุนจากนักลงทุน

และที่สำคัญคือสตาร์ตอัพจะไม่เน้นเรื่องของกำไร แต่จะมุ่งเน้นไปที่การ growth คือทำธุรกิจให้โต เมื่อเงินที่ได้มาไม่ใช่จากการกู้ยืม แต่เป็นเงินลงทุนจากนักลงทุน บรรดาสตาร์ตอัพจะก็นำเงินเหล่านี้ไปจ้างคนเก่ง ๆ เขาไม่สามารถที่จะมาค่อยเป็นค่อยไปได้ วิธีการของสตาร์ตอัพจะเน้นจ้างคนเก่งเงินเดือนหลักแสนมารันธุรกิจ

เมื่อมีคนเก่งและประกอบกับมีเม็ดเงินส่วนหนึ่งมาทำเรื่องการตลาด ยิงโฆษณา ฯลฯ สตาร์ตอัพจึงโตมหาศาล

เมื่อเงินที่ระดมทุนมาเริ่มหมดและบริษัทก็โตจากเดิมมากในระยะสั้น นักลงทุนกลุ่มใหม่ก็จะนำเงินมาลงทุนต่อ ซึ่งสตาร์ตอัพก็จะได้เงินที่เยอะมากขึ้น ฉะนั้นการเติบโตของ SMEs กับสตาร์ตอัพจะโตคนละเรื่องกันเลย

ในยุค 4-5 ปีก่อนเป็นยุครุ่งเรืองของวงการสตาร์ตอัพ เพราะว่าตอนนั้นรัฐบาลสนับสนุน คนที่มีเงินก็สนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพ และบริษัทขนาดใหญ่ก็กระโดดเข้ามาสร้างกองทุนของตัวเองเพื่อนำเงินมาลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยหวังว่าตนเองจะมีส่วนในการปั้นบริษัทรุ่นใหม่ ๆ และสามารถทำกำไรจากการที่ไปลงทุนปั้นบริษัทเหล่านั้นได้ สตาร์ตอัพที่ผ่านมาก็มีอัตราการเติบโตที่สูง และมีที่ล้มเหลวด้วยเช่นเดียวกัน

บริษัทที่เป็นสตาร์ตอัพส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มักสนใจเรื่องโปรดักต์ที่เป็นเทคโนโลยี แต่มักจะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจมาก่อนฉะนั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในประเทศไทยก็มีบริษัทสตาร์ตอัพหลายแห่งที่สามารถเติบโตได้ดี เช่น LINE MAN Wongnai, Bitkub, Flash ฯลฯ แต่ก็มีอีกเยอะแยะที่ทำออกมาแล้วล้มเหลว

ความล้มเหลวก็มีหลายสเตจ หนึ่ง ทั้งแบบที่ไอเดียไม่ได้ หรือเอาเงินตัวเองมาลงทุนก่อนแล้วไม่มีใครมาลงทุนต่อ หรือไอเดียดี มีคนมาลงทุน แต่ขาดประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ

สอง ส่วนใหญ่สตาร์ตอัพจะเป็นเพื่อนหรือคนวัยใกล้กันมารวมตัวกันทำ ที่พบบ่อยคือเพื่อนทะเลาะกันเอง เพราะตอนทำกันเองก็ช่วยกันทำเต็มที่ แต่พอมีเงินมาลงทุนเริ่มทะเลาะกัน เกี่ยงกัน ขัดแย้งกัน ความเห็นไม่ตรงกันก็แยกกัน คนที่โชคร้ายที่สุดก็คือนักลงทุนนั่นเอง

แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่สามารถรวมตัวกันได้จากเด็กไม่กี่คน ธุรกิจเริ่มขยายเป็นสิบยี่สิบคน จนเป็นหลายร้อยหลายพันคนก็มีเช่นกัน แต่ไม่มากนัก เช่น Wongnai ที่มี LINE ประเทศไทยเข้ามาลงทุนเมื่อ 3-4 ปีก่อน และเริ่มขยายธุรกิจจนกลายเป็น LINE MAN Wongnai

และเมื่อไม่นานนี้ก็เริ่มระดมทุนได้ถึงเกือบ ๆ หมื่นล้านบาท หรือคุณคมสันต์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง แฟลช เอ็กซ์เพรส ก็สามารถระดมเงินทุนได้เป็นหลักหมื่นล้านด้วยเหมือนกัน

นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงบริษัทสตาร์ตอัพหลาย ๆ บริษัทที่สามารถระดมทุนได้ระดับ 10-20 ล้านบาท หรือ 100 ล้านบาทก็มีอยู่ แต่ถามว่าตอนนี้เหลือน้อยลงไหม ก็เหลือน้อยลงมาก

ฉะนั้น สถานการณ์การลงทุนบริษัทสตาร์ตอัพในประเทศไทยต้องบอกว่าบริษัทเริ่มมีน้อยลง ทั้งนี้เพราะการสนับสนุนผลักดันจากภาครัฐก็เริ่มลดน้อยลง จากที่เคยเป็นนโยบายของรัฐที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีพวกสตาร์ตอัพในยุค ดร.สมคิด ตอนนี้กลับเงียบหายไปเลย

แต่ก็ยังมีหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้โดยตรง เช่น NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ถือว่ายังมีการผลักดันอย่างต่อเนื่องอยู่ รวมถึงมีการรวมตัวของภาคเอกชนขึ้นมากลายเป็นสมาคม Thai Startup (หรือชื่อเดิมคือ Thailand Tech Startup Association) ที่พยายามทำงานร่วมกับภาครัฐ

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา น้อง ๆ ที่ทำสตาร์ตอัพต้องเผชิญกับวิกฤตในการเติบโตของธุรกิจ เพราะหลาย ๆ คนเติบโตจากการนำเงินของนักลงทุนมาใช้จ่ายในแต่ละเดือน ถ้ามีเงินทุนมากหรือรันเวย์ยาวมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะใช้เงินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะบินขึ้นได้อย่างแน่นอนก็มีสูง แต่ถ้ารันเวย์สั้นหรือเงินหมดและไม่สามารถระดมทุนเข้ามาต่อได้ก็จบ

สถานการณ์การลงทุนในสตาร์ตอัพในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านก็มีบริษัทที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่หันมาเปิดกองทุนของตัวเองและหันมาลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพ โดยจะมีเงินมากองรอไว้เพื่อเตรียมลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนกับบริษัทของตัวเอง และเริ่มมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะองค์กรเหล่านี้มีความเกรงกลัวว่าบริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์ตอัพหน้าใหม่เมื่อโตขึ้นมาจะมาล้มองค์กรตัวเองได้

การลงทุนแบบนี้ ผมเรียกว่า corporate venture capital หรือ CVC เป็นการลงทุนในระดับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ปัญหาของ CVC คือจะมีเงินมากองรอไว้อยู่แล้ว 100-200 ล้านบาท แต่เขาไม่สามารถลงทุนในสตาร์ตอัพขนาดเล็กได้ CVC จะเน้นไปลงทุนในบริษัทที่เติบโตไปแล้วระยะหนึ่ง หรือบริษัทที่รอดหรือมีความพร้อมอยู่แล้ว

แต่ในเมืองไทยสตาร์ตอัพเหมือนบริษัทที่เพิ่งเกิดใหม่ แต่มีแต่คนไปรอลงทุนในบริษัทที่โตแล้ว ระบบนิเวศของการลงทุนในสตาร์ตอัพมีแต่คนไปรอตรงปลาย แต่ตรงต้นกับตรงกลาง ๆ ทางไม่ค่อยมี คนที่จะไปลงทุนตอนต้น ๆ หรือไปช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ ๆ มีน้อยมาก ในเมืองไทยคนที่ทำสตาร์ตอัพได้สำเร็จมีไม่มากจึงมีคนที่จะกลับไปช่วยคนรุ่นใหม่ได้น้อยมากเช่นกัน