กร เธียรนุกุล “นิวไวเต็กการพิมพ์” สู่ Mywawa

กร เธียรนุกุล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

“เธียรนุกุล” ตระกูลที่เกิดมาพร้อมกับธุรกิจการพิมพ์ “นิวไวเต็กการพิมพ์” ปัจจุบันมี “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท นิวไวเต็ก จํากัด เมื่อธุรกิจถูก digital disruption อย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2559 ยาวมาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมในปี 2563

ทำให้ตัดสินใจที่จะลดบทบาทของธุรกิจการพิมพ์ลง และส่งไม้ต่อให้ลูกชายคนโตสานงานต่อ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายกร เธียรนุกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด หรือ “Mywawa” ถึงจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดธุรกิจ startup สำเร็จขึ้นมา

ปล่อยธุรกิจพ่อก้าวสู่ Startup

“ผมเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ นิวไวเต็กการพิมพ์ ต้องเข้ามารับช่วงต่ออย่างจริงจังจากคุณพ่อ ผ่านขั้นตอนการลองผิดลองถูกมาหลากหลายวิธี เพื่อให้ธุรกิจที่อยู่ในยุคขาลงได้กลับมาฟื้นตัว แต่สุดท้ายเราถูก digital disruption แข่งขันกันด้วยราคาดุเดือดมาก

เป็นตลาด red ocean อย่างแท้จริง เรากำลังนับถอยหลังแม้จะเสียดายจากสิ่งที่คุณปู่และคุณพ่อสร้างมา แต่เราต้องก้าวไปสู่สิ่งใหม่ เดินบนเส้นทางใหม่ โดยมีพนักงานส่วนหนึ่งจากนิวไวเต็กเข้ามาช่วยกัน เกิดเป็น startup ชื่อ Mywawa ขึ้นมา”

startup ถือเป็นกิจการที่ได้รับความนิยม เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด มีรูปแบบทางธุรกิจที่ทำซ้ำได้ง่าย ขยายกิจการได้สะดวก นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น การทำธุรกิจ startup สามารถเริ่มต้นได้ง่ายจากการคิดหรือสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ออกมาและนำไปพัฒนาต่อจนเกิดผลสำเร็จ

แต่การทำ startup จะแตกต่างจากเป็น SMEs เพราะธุรกิจที่เป็น SMEs สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่นใน 1 ปี อาจจะเติบโตได้ 2-3% ที่ได้จากรายได้และผลกำไร แต่การเติบโตของ startup นั้นมาจากผู้ใช้งาน เราจึงต้องหา user ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้หาผลประกอบการในภายหลัง ดังนั้นตัวชี้วัดความสำเร็จจึงแตกต่างกัน

ดึงผู้ประกอบการขึ้นแพลตฟอร์ม

Mywawa คือ “แพลตฟอร์ม e-Marketplace สัญชาติไทย” www.mywawa.me เป็นรูปแบบการซื้อขายสินค้า B2B ให้กับทุกอุตสาหกรรม ทั้งรูปแบบค้าส่งและภาคการผลิต รวบรวมโรงงานผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และซัพพลายเออร์จากทุกอุตสาหกรรม

มีระบบการสั่งซื้อที่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน มีระบบชำระเงินที่ต้องรองรับการชำระเงินที่มีมูลค่าสูงในการสั่งซื้อต่อครั้ง ต้องใช้ระบบโลจิสติกส์หรือการขนส่งที่มีความเฉพาะทางในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ซื้อสามารถเจรจากับซัพพลายเออร์ได้โดยตรง

นึกภาพ Lazada Shopee เรามีรูปแบบคล้ายกัน เราคือตัวกลางจะให้ผู้ซื้อมาเจอลูกค้า แต่ผู้ขายของเราเขาเป็นภาคการผลิต ที่ขณะนี้เราจะดึง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 8 หมวดหมู่ ตามที่ ส.อ.ท.แบ่งไว้อยู่แล้ว เข้ามาไว้ในแพลตฟอร์ม และยังหาเครือข่ายลูกค้าอื่น ๆ ที่เป็นหน่วยงานเพิ่มอย่างคุรุสภา เครือสหพัฒน์ ที่เราจะได้สินค้าพวกกลุ่มอาหารหลากหลายมากขึ้น

“เราอยู่ในช่วงของการฟูมฟัก” ซึ่งก็มีแผนจะขยายไป Alibaba.com และขยายไปในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ภูมิภาค ซึ่งผมเข้ามาช่วยที่บ้านตั้งแต่ปี 2559 ใช้เวลา 2 ปี กว่าจะพัฒนาเรียนรู้ด้วยตัวเองจนมาถึงช่วงปี 2564

เกิด Mywawa เราลองผิดลองถูกกว่าจะเจอลูกค้าที่แท้จริง และในอนาคตยังมีแผนที่จะร่วมกับพันธมิตรรายอื่น ๆ อาทิ ลาซาด้า (Lazada) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการเป็นแหล่งซัพพลายเออร์ให้แก่ร้านค้าบนลาซาด้า

ผนึก “พาร์ตเนอร์”

เราต้องการขยายให้ครบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมซัพพลายเออร์ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และเรามีข้อจำกัดในเรื่องของการขนส่ง ถ้าเป็นธุรกิจแบบ B2C ค้าปลีกทำได้ แต่เราคือ B2B เรื่องการขนส่งจะไม่ค่อยแข็งแรง “จำเป็นต้องหาพาร์ตเนอร์”

หลัก ๆ รายใหญ่ 3 รายที่มีอยู่ อย่าง WeMove (วีมูฟ) ของ ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งวีมูฟแพลตฟอร์มเป็นแพลตฟอร์มจองรถส่งของข้ามจังหวัด เขาเก่งทางภาคเหนือ

อีกพาร์ตเนอร์คือ Flash Express (แฟลช เอ็กซ์เพรส) เป็นบริษัทบริการด้านโลจิสติกส์จัดส่งพัสดุ เขาเก่งพวกสินค้ากล่อง รวมถึง Vialink แพลตฟอร์มบริหารงานขนส่งของ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อเรามีพาร์ตเนอร์ครบ เรากลายเป็นธุรกิจรูปแบบ B2B จริง ๆ

และรายแรก เรามีทีม 30 คนมาช่วยกัน ตอนนี้เรามีพาร์ตเนอร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงธนาคารออมสินเข้ามาเป็นพันธมิตรด้านความปลอดภัยของระบบการชำระเงินออนไลน์

ไม่กลัวเทรนด์ที่เปลี่ยนไป

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจนี้จะเข้ามามีบทบาทในชีวิต เพราะง่ายและสะดวก ลูกค้าที่เรามี มีทั้งองค์กรขนาดใหญ่อย่างสหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน, ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ที่ขายอุปกรณ์การเรียน, ฟอยล์มาสเตอร์ (ไทยแลนด์)

ผู้ให้บริการแสตมป์ปิงฟอยล์, บีบ๊อกซ์ ปริ้นติ้ง ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ฟู้ดเกรดรายใหญ่, พลังงานมั่นคง จำกัด ผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง, ออฟฟิศเมท (ไทย) จำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน รวมถึงบริษัท ครูยุ คอทเทจ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทยทั้งในและต่างประเทศ

และเรายังขยายไปที่กลุ่ม SMEs รวมถึงรายเล็กมาก ๆ แต่เราก็ต้องแข่งกับคู่แข่งที่ผุดขึ้นมาอย่างมาก พอทุกอย่างขึ้นออนไลน์ข้อมูล ถูกเปิดเผยทั้งหมด เห็นหลังบ้านหมด พอเป็น mass เป็นตลาดขนาดใหญ่ก็จะมีคู่แข่งผุดขึ้นมา ตลาดมีความเสี่ยงเรื่องนี้ แต่เราก็ไม่กลัวเทรนด์ที่เปลี่ยนไป เรา “มีสิทธิ์ที่จะนอยด์” แต่เราวางแผน

จุดแข็งของ Mywawa คือ เราจะไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง มีเพียงการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มจากผู้ขายในอัตรา 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม และจะเรียกเก็บเมื่อกระบวนการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ และผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ซื้อเองเขาสามารถใช้บริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เขามีโอกาสพบซัพพลายเออร์รายใหม่ ๆ ต่อรองราคากับผู้ขายได้ ขอใบเสนอราคาได้โดยตรง

อีก 5 ปี เป็นยูนิคอร์นออก IPO

เราถือว่าโตเร็วมาก วันนี้ผ่านไปไม่นานมีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อมากกว่า 2,000 ราย มียอดซื้อขาย (transaction) ผ่านแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 1,600 ล้านบาท มีผู้ขายที่เป็นโรงงานผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และซัพพลายเออร์ในระบบมากกว่า 100 ราย

มีสินค้ากว่า 3,000 รายการ ทั้งอาหาร ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ งานพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์สำนักงาน บ้านและวัสดุก่อสร้าง เคมี ยางและพลาสติก สุขภาพและความงาม แบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษา

แม้จะยังดูห่างไกลจากเป้าที่ตั้งใจไว้มาก แต่ “ผมพอใจระดับหนึ่ง” เรารู้ว่าแพลตฟอร์มเรามีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง

ผมตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และ SMEs ทั่วประเทศ มีพื้นที่ในการแสดงสินค้า แน่นอนว่าผมจะสร้าง Mywawa ให้เป็น trade and investment gateway to Southeast Asia อีก 3-5 ปี เราจะนิยามตัวเองและไปสู่เป้าหมายการเป็น “ยูนิคอร์น” และจะพา Mywawa เข้าตลาด IPO

อย่างไรก็ตาม เรายังอยากให้รัฐบาลสนับสนุน startup มากกว่านี้ “ปลดล็อกอะไรที่มันไม่เอื้อ” เหมือนที่สิงคโปร์ทำ ซึ่งมันยาก แต่มันเป็นธุรกิจที่คล่องตัวมาก ฝากถึงทุกคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ แพลตฟอร์มเรามีเต็มไปหมด แต่มันเป็นของต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ เราต้องสร้างความเป็นไทยเองขึ้นมา เพราะสิ่งที่เราทำอยู่มันมีประโยชน์สำหรับคนในประเทศ