สอท. ดันธุรกิจใช้ “สินค้าไทย” ฉลุย 2,000 โรงงานขึ้นบัญชีขอใช้สิทธิ์

โรงงานผลิตสินค้า
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

โค้งแรก Made in Thailand ฉลุย เอกชนทยอยขึ้นทะเบียนเฉียด 2,000 ราย คาดทั้งปีทะลุ 100,000 ราย หลังกรมบัญชีกลางไฟเขียว TOR ต้องมีสินค้าไทย 60% ส่วนงานก่อสร้าง-สินค้าเหล็กให้ใช้ของที่ผลิตในประเทศ 90% กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ชี้สัญญาณออร์เดอร์ทยอยปรับขึ้น ด้านกลุ่มเหล็กมั่นใจนโยบายส่งผลดีกับผู้ผลิต

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563

โดยกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวในหมวดที่ 7/1 พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศมีนิยามหมายถึง พัสดุที่ได้รับการรับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand อยู่ด้วย

ทั้งนี้ในกรณีที่จัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือกให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างจาก SMEs หรือพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ กำหนดให้ใช้เงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของของงบประมาณสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้น

ส่วนในหมวด 7/1 พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศที่ได้รับการรับรองออกเครื่องหมาย Made in Thailand ประเภทการจัดจ้างงานก่อสร้าง (รวมถึงการใช้เหล็ก) ให้จัดซื้อจัดจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่า หรือปริมาณ และการจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้างให้ใช้พัสดุไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวัสดุหรือครุภัณฑ์ที่จะใช้งานจ้าง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผ่านมาเกือบ 2 เดือนนับตั้งแต่กระทรวงการคลังและ ส.อ.ท.ได้ “คิกออฟ” นโยบายการออกใบรับรองสินค้า Made in Thailand (MiT) ไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนหันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น

โดยเป็นไปตามประกาศกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 นั้น

ล่าสุด ส.อ.ท.ได้ออกใบรับรองเพื่อนำไปใช้แสดงคุณสมบัติสินค้า Made in Thailand กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วประมาณ 1,800 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 1,000 ราย โดยคาดว่าปี 2564 จะมีผู้ยื่นขอใบรับรองไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน

“โครงการนี้ไม่เพียงช่วยผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะ SMEs เท่านั้น แต่ยังช่วยดึงดูดให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยแทนการส่งสินค้ามาขาย เนื่องจากการลงทุนภาครัฐแต่ละปีมีจำนวนถึง 5 ล้านโครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.77 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นเงินไหลเวียนให้กับซัพพลายเชนถึง 1 ล้านล้านบาท” นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับใบรับรอง Made in Thailand จะมีอายุ 1 ปี ผู้ผลิตสามารถนำใบรับรองที่ได้รับแนบไปในตอนเสนองานเพื่อเข้าประมูลภาครัฐ โดยคิดอัตราส่วนลดให้เหลือเพียง 200 บาท/ใบ ในช่วงเริ่มต้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตเข้ามาร่วมโครงการ จากราคา 250 บาท/ใบ และคาดว่าจะมีการหารือถึงอายุใบรับรองที่จะขยายยาวได้มากถึง 3 ปี แล้วจึงต่ออายุให้ใหม่

อย่างไรก็ตามสินค้าทั้งหมดที่จะได้ผ่านการรับรองเป็น Made in Thailand จะต้องเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีคุณภาพ แต่ไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ยกเว้นสินค้าบางประเภทที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานอื่น ๆ ยังจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองจากหน่วยงานนั้น ๆ ก่อน เช่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน เครื่องสำอาง ต้องมี อย. ผู้ผลิตหรือชุมชนก็ต้องดำเนินการขอจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

ด้านนายพิชัย พินิตกาญจนพันธุ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สมาชิกของกลุ่มที่มีอยู่ประมาณ 200 บริษัทได้ประชุมหารือกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ถึงขั้นตอนกระบวนการทางปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การประมูล (TOR) ของภาครัฐเนื่องจากพบอุปสรรคสำคัญคือ การขึ้นทะเบียนสินค้า ที่กำหนดไว้คือ 1 โมเดล ต้องขึ้นทะเบียน 1 ทะเบียน

เช่น โต๊ะสำนักงานขนาด 1 เมตรก็ต้องขึ้ทะเบียนกับกรมบัญชีกลางเป็นสินค้า 1 ประเภทโต๊ะขนาด 2 เมตร ก็ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลางเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่ง เพราะมีขนาดต่างกันแม้ว่าจะเป็นสินค้าประเภทโต๊ะเหมือนกันก็ตาม และหากเป็นโต๊ะที่แบ่งเป็นรุ่นก็ต้องขึ้นทะเบียนใหม่เป็นอีก 1 ประเภท โดยอุปสรรคในทางปฏิบัติดังกล่าวทาง ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ผู้ผลิตเข้าถึงตามสเป็กที่ TOR กำหนด

“1 โมเดลขึ้นทะเบียน 1 ชิ้น มันยุ่งยากมาก กลุ่มเฟอร์นิเจอร์มีสินค้าค่อนข้างมาก ทั้งโต๊ะ ตู้ ผนังฉากกั้น พวกนี้รัฐจัดซื้อจำนวนมาก แต่ก็จะมีเป็นรุ่น มีขนาด มันต่างจากวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ อย่างเหล็กที่มีไซซ์ไม่มาก ประเภทไม่มากเวลาขึ้นทะเบียนง่ายกว่า เวลารัฐเลือกให้ตรงสเป็ก แต่ผมยอมรับว่า การมี Made in Thailand ช่วยภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตจริง ๆ เพราะชื่อก็บอกว่าอุตสาหกรรมนั่นหมายถึง ต้องมีโรงงานผลิต มีใบ รง.4 เท่านั้น ตอนนี้สมาชิกก็ทยอยมีลงทะเบียน MiT ไปบ้างแล้ว อย่างน้อยนับจากนี้รัฐจะเลือกสินค้าไทย จะมีสินค้าที่ผลิตในประเทศขายและใช้ในประเทศมีออร์เดอร์มากขึ้น” นายพิชัยกล่าว

เมื่อรัฐเดินหน้าตามนโยบายแล้ว เอกชนเองก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องศึกษาจากประกาศกระทรวง ติดตาม TOR เพราะมันคือประโยชน์ที่เอกชนจะได้เองทั้งสิ้น โดยเฉพาะเอกชนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ต้องใช้การติดตามมากเป็นพิเศษ

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เหล็กถือเป็นอุตสาหกรรมที่จะได้อานิสงส์จากนโยบาย Made in Thailand อย่างมาก ด้วยข้อกำหนดของประกาศ ในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด

เพราะโครงการก่อสร้างภาครัฐทยอยออกมาต่อเนื่อง ส่วนโครงการในต่างจังหวัดเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐได้เร่งประชาสัมพันธ์ตามประกาศกระทรวงแล้ว ดังนั้นทุกโครงการทั่วประเทศจะถูกใช้ Made in Thailand อย่างแน่นอน เพราะ เป็นกฎหมายที่บังคับให้ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม การจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐจึงสามารถทำได้ทันที