ประวัติ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้มุ่งมั่นให้คนไทยได้อ่านหนังสือดี

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง

ทำตวามรู้จัก คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง อดีต บก. “สตรีสาร” นิตยสารผู้หญิงหัวก้าวหน้า ผู้คร่ำหวอดแวดวงหนังสือ-บรรณาธิการอย่างยาวนาน และมุ่งมั่นให้คนไทยได้อ่านหนังสือดี

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กูเกิล ประเทศไทย แสดงภาพ Google Doodle เนื่องในวันเกิดปีที่ 107 ของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง นักเขียนชาวไทย ผู้อยู่กับแวดวงของหนังสือมาอย่างยาวนาน และเป็นอดีตบรรณาธิการ “สตรีสาร” นิตยสารผู้หญิงหัวก้าวหน้าที่อยู่กับคนไทยมานานหลายสิบปี และมุ่งมั่นการทำหนังสือเพื่อให้คนไทยได้อ่านหนังสือดี ๆ

หากย้อนกลับไปในช่วงชีวิตของคุณนิลวรรณ ถือว่ามีความน่าสนใจ และไม่ได้มีการทำงานแค่มุมของการเป็นบรรณาธิการหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้โอกาสมือใหม่อีกหลายคน ควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อสังคมด้วย

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทุกคนมาทำความรู้จักผู้หญิงเก่งคนนี้ เนื่องในโอกาสวันเกิดปีที่ 107 ของหญิงเก่งคนนี้ไปพร้อมกัน

ชีวิตวัยเด็กของ “คุณนิลวรรณ”

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2458 เกิดมาในครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อย นิลวรรณจบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนเบญจมราชาลัย และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ได้วุฒิ ป.ป. จากนั้นเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ (เป็นรุ่นที่ 4 ปี 2477)

“กรมโฆษณาการ” จุดเริ่มต้นด้านงานหนังสือของคุณนิลวรรณ

หลังจากคุณนิลวรรณเรียนจบแล้ว ไปทำงานเป็นครู เป็นเวลา 1 ปี แล้วย้ายมารับราชการในกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ ในปัจจุบัน) เป็นเวลา 9 ปี จึงลาออกมาทำงานด้านบรรณาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2491 โดยเริ่มต้นจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “สตรีสาร” และปี 2492 รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการอีก 2 เล่มคือ ดรุณสาร สำหรับเยาวชน และสัปดาห์สาร สำหรับเรื่องข่าวสาร

นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง มีชื่อเสียงอย่างมากในด้านการบรรณาธิการนิตยสาร โดยเฉพาะการเป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรี “สตรีสาร” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากของไทยมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี จนนิตยสารฉบับนี้ได้ปิดตัวเองไป เมื่อปี 2539

ทำหนังสือไม่ใช่เพราะหาเงิน แต่อยากให้คนได้อ่านหนังสือดี

“ดิฉันไม่เคยคิดว่าจะหาเงินจากการทำหนังสือ ดิฉันมาทำงานหนังสือ เพราะอยากให้คนอ่านได้อ่านหนังสือดี ๆ เพื่อจะได้เกิดอนุสติบางอย่าง เพื่อให้คนอ่านได้รับรู้แง่มุมความคิดต่าง ๆ ของคนในสังคม”

นี่เป็นคำพูดที่ถูกบอกเล่ามาจากผู้ที่เคยใกล้ชินกับคุณนิลวรรณ ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นและทัศนคติด้านการทำหนังสือของคุณนิลวรรณ ที่ไม่ได้มองแค่การสร้างรายได้ ผลกำไรอย่างเดียว แต่มองถึงการสร้างสังคมที่อุดมไปด้วยปัญญาและความคิดที่ก้าวหน้า

ขณะเดียวกัน คุณนิลวรรณ ยังเป็นผู้เปิดพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ สอนคนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือตลอดจนผู้คนให้ช่วยกันงานด้านภาษาและหนังสือเป็นอย่างดี จนมีคนเคารพนับถือ นิยมเรียกท่านว่า “อาจารย์” กันแทบจะทั้งเมือง ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นครูสอนหนังสืออยู่เพียง 2 ปีโดยประมาณเท่านั้น

เกียรติยศ และงานด้านสาธารณประโยชน์ของ “คุณนิลวรรณ”

นอกจากบทบาทของการเป็นบรรณาธิการแล้ว คุณนิลวรรณ ยังเคยมีบทบาทด้านงานสังคมสงเคราะห์ และงานด้านอาสาเพื่อสาธารณชนอีกมากมาย และกลายเป็นที่รู้จักของนานาชาติ ตั้งแต่ปี 2504 จากการเป็นผู้บอกและสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงาน ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในความคิดที่ก้าวหน้าอย่างมากขณะนั้น

ในสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คุณนิลวรรณ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยความรู้ความสามารถในการทำงานทางด้านสตรี ด้านสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนงานด้านการศึกษาและเยาวชน

ตลอดชีวิตการเป็นบรรณาธิการ และการทำงานสังคม ของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ทำให้คุณนิลวรรณ เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการประชาชน จากมูลนิธิแมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2505 ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) และได้รับรางวัลศรีบูรพา เป็นคนที่ 3 ของประเทศไทย เมื่อปี 2534

เมื่อปี 2517 ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เปลี่ยนคำหน้านามเป็น “คุณ” (อันเป็นคำนำนามระดับชั้นเดียวกับสุภาพสตรีระดับ “คุณหญิง” แต่ใช้สำหรับสตรีที่มิได้สมรส)

นอกจากนี้ นิตยสาร “สตรีสาร” ที่คุณนิลวรรณ เป็นบรรณาธิการมานานกว่าครึ่งชีวิตของการทำงานนั้น ได้รับรางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิตยสารส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2530

กระทั่งคุณนิลวรรณถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สิริอายุ 101 ปี


ข้อมูลจาก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น