เปิดประวัติ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทีมประสานต่างประเทศพรรคก้าวไกล

เปิดประวัติ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ บุตรชาย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทีมประสานต่างประเทศ พรรคก้าวไกล

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ชื่อนี้ถูกพูดถึงมากขึ้น หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ประกาศว่าเขาเป็นทีมงานฝ่ายต่างประเทศ ดูด้านการต่างประเทศของพรรค บนเวทีลงนาม MOU พรรคร่วมรัฐบาล ที่ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566า ฟูอาดี้ ย้ำจุดยืนทางการเมืองหลังจาก นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดตัวนางฮูวัยดียะห์ พิศสุวรรณ อุเซ็ง อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 16 คลองสามวา เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น้องสาวนายสุรินทร์ เข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐว่า

เคารพในการตัดสินใจของคุณอา (ฮูวัยดียะห์ พิศสุวรรณ อุเซ็ง) ที่เข้าไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมมีความคิดด้านการเมืองที่ต่างไปนะครับ ผมคิดว่าผมชัดเจนในจุดยืนมาตลอด และจะคงเป็นอย่างงั้นต่อไป ผมคิดว่าสังคมไทยต้องการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง แม้ว่าต้องใช้เวลาและการเปลี่ยนผ่านการเมืองวัฒนธรรม

เราต้องการการเมืองแบบใหม่ การเมืองที่มีความหวัง โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ ในความเห็นของผม ผมสนับสนุนพรรคการเมืองที่ผลักดันให้มี “รัฐธรรมนูญใหม่” ให้มีกติกาที่เป็นธรรม ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาสู่สนามการเมือง เข้ามาเป็นหุ้นส่วนของความรับผิดชอบต่อสังคมการเมืองไทย

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ประวัติ

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ มีชื่อจริงว่า ฟูอาดี้ บิน อับดุล ฮาลีม พิศสุวรรณ ชื่อเล่น ดี้ จบปริญญาตรีสาขาการต่างประเทศ มหาวิทยาลัย จอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดี.ซี. (Georgetown University in Washington DC) เป็นบุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรณ นักการเมืองชื่อดัง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 สมัย รัฐมนตรีว่าการกรกระทรวงต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ระหว่าง พ.ศ. 2540-2544 และอดีตเลขาธิการอาเซียนระหว่าง พ.ศ. 2551-2556 โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว

ตระกูลพิศสุวรรณ ต่างก็ลุยงานสายการเมือง ดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง น้องสาวของ ดร.สุรินทร์ ได้ร่วมงานกับพลังประชารัฐในทีมนโยบายเศรษฐกิจภาคใต้

เส้นทางการเมือง

เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุนแนวคิดเพื่อน ๆ ในกลุ่มการเมือง New dem  ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย “ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ” แต่กลุ่มนี้ก็ยุติบทบาทลงในช่วงกลางปี 2562 หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมรัฐบาล

ในช่วงปี 2563  ฟูอาดี้ แสดงจุดยืนทางการเมืองโดยการลงชื่อไม่เห็นด้วยที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยฟูอาดี้ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ว่า “มีใครที่ไม่ได้เลือกธนาธร แต่รู้สึกอึดอัดกับการกระทำสองมาตรฐานของผู้มีอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยบ้าง? ขอเสียงหน่อย เพราะรู้สึกเดียวดายมาก”

คุณจะเลือกใครก็ได้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเลือกพลังประชารัฐ หรือแม้แต่เป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐก็ได้ คุณควรจะรู้สึกอึดอัดบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองคือ “คู่แข่ง“ ไม่ใช่ “ศัตรู” เราควรและมีหน้าที่ทางจริยธรรมการเมืองที่จะ #StandWithThanathorn อาจจะไม่ใช่ในฐานะตัวบุคคล แต่ในฐานะมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย เพื่อปกป้องและเรียกร้องการคงอยู่ของการเมืองพลเรือน อย่าลืมนะครับว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในบริบทที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นกับฝั่งตนได้

และมีข้อครหาเรื่องการทุจริตต่าง ๆ มากมายที่ไม่ได้รับคำตอบ ปัญหามันจะมีน้อยกว่านี้มาก ถ้าประชาชนไม่ปล่อยให้เรื่องนาฬิกาหลุดรอดไป หรือถ้า กกต.จับผิด พปชร.ในมาตรฐานเดียวกัน หรือรัฐธรรมนูญมีสูตรการคิดจำนวน ส.ส.พึงมีที่ไม่เปิดโอกาสให้ตีความไปต่าง ๆ นานา เป็นต้น พวกเราลืมกันไปแล้วหรือครับว่าเราต่อสู้กับระบอบทักษิณด้วยเหตุผลอะไร? ถ้าคุณไม่พูด หรือไม่พยายามทำอะไรตอนนี้ วันหนึ่งระบอบยุติธรรมแบบนี้อาจจะย้อนกลับมากัดคุณเองก็ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหามากนะครับกับการพัฒนาคู่ต่อสู้ในเส้นทางประชาธิปไตยของการเมืองไทย เพราะมันเกิด crowd out effect นักการเมืองเก่ง ๆ นักวิชาการเก่ง ๆ ไม่สามารถพูดโต้แย้งอะไรต่าง ๆ ตามข้อมูล หลักการ และเหตุผลได้ เพราะคู่ต่อสู้ทางการเมืองโดนจ้องเล่นงานจากกรรมการ เรามีหน้าที่ทางจริยธรรมที่ต้องไม่พอใจกับการที่กรรมการทำไม่แฟร์แบบนี้ การเลือกตั้งคือ “institutionalized uncertainty”

ต้องยอมรับว่ามันมีความไม่แน่นอน และแพ้ได้ ผมไม่แน่ใจว่าคนที่มีอำนาจคิดว่าการทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะโดยการพยายามกำจัดคู่ต่อสู้ทุกวิธีทางจะทำให้ชัยชนะของตัวเองมีความชอบธรรมขึ้นได้อย่างไร?

ตอนนี้ผู้มีอำนาจกำลัง disenfranchise คนอย่างน้อย 6 ล้านคน ซึ่งอันตรายมากกับโอกาสของความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น พวกเราทุกคนต้องช่วยกันลดความเสี่ยงนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม

มีคลาสหนึ่งตอนเรียนที่ฮาร์วาร์ดที่ผมชอบมากที่สุด (ผมได้ B+ เจ็บใจมาก ๆ) ในคลาสเราถกกันเรื่องหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ หน้าที่ของนักการเมือง ที่จะลุกขึ้นสู้กับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ต่ำลงภายในองค์กรของตัวเอง หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “Ethics for Adversaries” เขียนโดยนักปรัชญาการเมืองที่สอนคลาสนั้น ใครมีโอกาสอยากให้อ่าน

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

กระทั่งล่าสุด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศว่าเขาเป็นทีมงานฝ่ายต่างประเทศ ดูด้านการต่างประเทศของพรรค บนเวทีลงนาม MOU พรรคร่วมรัฐบาล