
อาลีบาบา (Alibaba Group) บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ประกาศการลงจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแดเนียล จาง (Daniel Zhang) ที่ดำรงตำแหน่งมาซีอีโอมา 8 ปี และดำรงตำแหน่งประธานบริษัทมา 7 ปี
สองตำแหน่งที่ แดเนียล จาง ก้าวเท้าลงจากเก้าอี้ จะถูกแทนที่โดย โจเซฟ ไซ (Joseph Tsai) รองประธานกรรมการบริหารคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนสนิทของแจ็ค หม่า (Jack Ma) และเป็นคนสำคัญในยุคก่อตั้งบริษัท จะรับตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการ” ส่วนตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” หรือซีอีโอ จะเป็นของ เอ็ดดี้ อู๋ (Eddie Wu) ประธาน Taobao และ Tmall Group
“ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนทำความรู้จัก โจเซฟ ไซ (Joseph C. Tsai) หรือ “ไช่ฉงชิ่น” ประธานบริษัทคนใหม่ของอาลีบาบา ซึ่งเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอาลีบาบาและแจ็ค หม่า (Jack Ma) มาตั้งแต่ต้น
หนังสือ “เหินห่าว Business” ของ วรมน ดำรงศิลป์สกุล ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (พิมพ์ครั้งที่ 1 : มกราคม 2561) เล่าเรื่องราวของชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอาลีบาบาคนนี้ว่า “ไช่” ได้พบกับ “หม่า” เมื่อปี 1999 หลังพบกันสองครั้ง เขาบอกหม่าว่าขอไปทำงานด้วย วันนั้นไช่เป็นผู้บริหารบริษัทการเงินที่ฮ่องกง เงินเดือน 3 ล้านบาท เมื่อย้ายมาทำงานที่อาลีบาบาเขาได้เงินเดือน 2,500 บาท พ่วงสถานะเป็น 1 ใน 18 ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา
โจเซฟ ไซ อ่านเกมขาดและตัดสินใจถูก เพราะอาลีบาบาเติบโตมั่งคั่งเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก และเขาก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอาลีบาบา โดยเป็นรองเพียง Softbank Group และแจ็ค หม่า เท่านั้น
เมื่อไช่เข้าทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินของอาลีบาบา ไม่นานเขาก็สามารถหาเงินลงทุนก้อนแรกให้บริษัทได้มากถึง 25 ล้านบาท จากโกลด์แมน แซกส์ (Goldman Sachs) บริษัทสถาบันการเงินใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของอเมริกา
ในเวลาต่อมา เมื่ออาลีบาบาเติบใหญ่ ไช่ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหาร (Executive Vice Chairman) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของ อาลีบาบา กรุ๊ป บทบาทของเขาเปลี่ยนไป เพราะอาลีบาบาไม่ต้องขอเงินจากใครแล้ว แต่กลับมีเงินเหลือเฟือซึ่งจำเป็นต้องรู้จักบริหารจัดการให้ดี
ดังนั้น หน้าที่ของไช่ คือ การเข้าควบรวมกิจการอื่น ๆ ให้มาทำงานสอดคล้องกับภารกิจหลักขององค์กร นั่นก็คือทำให้เกิดการสร้างธุรกิจได้ทุกที่ทั่วโลก

อาลีบาบากลายพันธุ์จากการเป็นผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก่อนจะขยายธุรกิจด้วยการเข้าไปลงทุนในบริษัทอื่น ๆ จนเกิดระบบนิเวศของตัวเอง
เป้าหมายหลักในการเข้าลงทุนในบริษัทอื่น ๆ จะอยู่ใต้แนวคิดสำคัญ 2 ด้าน คือ 1.ลงทุนไปแล้วบริษัทใหม่จะ “นำลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาใช้บริการ” ธุรกิจในเครืออาลีบาบามากขึ้น ลูกค้าใช้เวลาอยู่กับธุรกิจในเครืออาลีบาบามากขึ้น 2.การลงทุนเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ดี ๆ ให้ลูกค้าอาลีบาบา
ไช่บอกว่า การทำธุรกิจแบบอาลีบาบามีกระบวนการที่ชัดเจน ซึ่งเรียกว่า “กฎการตั้งครรภ์ 10 ปี” หมายถึงห้วงเวลาในการที่ธุรกิจหนึ่งจะสามารถนำมาซึ่งผลกำไรให้กับองค์กรได้ โดยจะมีกลไกประมาณ 1 ทศวรรษ
3 ปีแรก ต้องเริ่มจากการสร้างสินค้าหรือบริการให้คนชอบเสียก่อน ซึ่งจุดนี้ยังไม่ต้องคิดไปถึงการหารายได้ แต่ต้องทำให้บริษัทสตาร์ตอัพมีกลไกธุรกิจของการมีผู้ลงทุน เพราะผู้ลงทุนจะนำเงินมาช่วยค่าดำเนินการ เพื่อให้พนักงานสร้างสินค้าหรือบริการที่ดีที่สุดจนถูกใจคนเสียก่อน เช่น การกำเนิด “เถาเป่า” (Taobao) เว็บไซต์-แอปพลิเคชั่นขายของออนไลน์ดาวเด่นในเครืออาลีบาบา ในวันแรก ๆ ก็เริ่มมาจากเว็บไซต์ประมูลสินค้าที่เปิดให้ลงขายสินค้าฟรี
ต่อมา ปีที่ 3-5 ถือเป็นช่วงที่จะต้องหาโอกาสสร้างรายได้ โดยจะต้องมีวิธีการหารายได้ที่ลูกค้ายอมจ่าย จนนำมาซึ่งรายได้จริง ๆ ซึ่งในระยะแรกมักจะหนีไม่พ้นโฆษณา ด้วยเหตุนี้ อาลีบาบาจึงมีบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันแรก ๆ เพื่อดูแลระบบโฆษณาของเว็บไซต์โดยเฉพาะ ในชื่อ “อาลีมามา” (alimama.com) แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่สร้างรายได้ทางตรงให้อาลีบาบา คือ Alibaba.com ซึ่งคิดค่าบริการจากการเปิดหน้าร้านในระบบ และ Tmall.com ซึ่งมีรายได้จากการเปิดหน้าร้านและเปอร์เซ็นต์จากการขาย
เมื่อขึ้นปีที่ 5-6 ต้องหาโอกาสในการสร้างกำไร และเมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ขึ้นไปก็ต้องเริ่มเก็บเกี่ยวผลกำไรและแบ่งรายได้ให้ผู้ถือหุ้น
เมื่อธุรกิจเวียนมาครบ 10 ปี ต้องย้อนมองกลับไปจุดเดิมแล้วลงมือปฏิวัติตัวเอง จุดนี้จะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างของเถาเป่า ที่เมื่อหนึ่งทศวรรษผ่านไปได้กลายเป็นแอปพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซที่ถูกขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย มีระบบให้ลูกค้าแนะนำสินค้าให้กัน มีรายการถ่ายทอดสดขายสินค้า มีข้อมูลมหาศาลในการแนะนำสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ารายย่อย ทำให้ลูกค้าแต่ละคนเห็นสินค้าที่โชว์บนหน้าจอไม่เหมือนกันเลย กล่าวคือคนที่เข้าเถาเป่าทุกวัน ไม่ใช่เพราะจะซื้อของอย่างเดียว แต่เข้าเพราะมีทั้งความบันเทิงและความรู้เสิร์ฟให้ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับประวัติของ ไช่ฉงชิ่น หรือโจเซฟ ไซ เขาเป็นคนไต้หวัน เกิดที่ไทเป พ่อเป็นเจ้าของบริษัทกฎหมายชื่อดังของไต้หวัน เมื่อโตขึ้นมาเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอเมริกาเหมือนลูกคนรวยในไต้หวันทั่วไป เขาเรียนจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์, เอเชียศึกษา และนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) และมีใบประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
หนังสือ “เหินห่าว Business” เล่าอีกว่า ในการให้สัมภาษณ์หลาย ๆ ครั้งเรื่องการเรียนและการสร้างธุรกิจ โจเซฟ ไซ แนะนำว่า วิชาที่เด็กมหาวิทยาลัยควรเรียนเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สถิติ และจิตวิทยา เพราะต้องใช้สถิติในการเข้าใจคอมพิวเตอร์ และต้องใช้จิตวิทยาเพื่อเข้าใจคน
ส่วนคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจก็คือ ถ้ารู้ว่ายังไม่พร้อม ต้องไปหาบทเรียนที่มีค่าที่สุดด้วยการเป็นลูกจ้าง และเรียนรู้จากบอสที่เก่งซะก่อน และเมื่อพร้อมจะลุยแล้ว อย่ากลัวคำว่าเจ๊ง เพราะเราจะได้เรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น และคำแนะนำสุดท้ายของเขาคือ ฮีโร่ตัวคนเดียวไม่มีจริง ต้องหาทีมเก่ง ๆ มาร่วมงาน
ณ เวลานั้น (หนังสือตีพิมพ์ต้นปี 2561) เมื่อถามถึงภารกิจใหม่ที่ โจเซฟ ไซ กำลังจะทำต่อไป คำตอบของเจ้าตัว คือ “แก้ปัญหาที่โลกต้องการคนมาแก้ไข” นั่นคือ “การค้าปลีกสมัยใหม่” ซึ่งเป็นโจทย์ที่อาลีบาบาตั้งขึ้นมาท้าทายตัวเอง โดยเชื่อว่าหากทำสำเร็จ ย่อมเป็นการปฏิวัติธุรกิจและโครงสร้างรายได้ครั้งใหญ่ให้บริษัท เพราะนั่นมันหมายถึงโอกาสในตลาดค้าปลีกอีก 85 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือในแผ่นดินจีน
หมายเหตุ : เรียบเรียงใหม่จากเรื่อง โจเซฟ ไซ กับ “กฎการตั้งครรภ์ 10 ปี” เบื้องหลังแจ็ก หม่า และความสำเร็จอาลีบาบา ที่ประชาชาติธุรกิจเผยแพร่ทางออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561