พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
ภาพ : หนังสือ เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์ / ศิลปวัฒนธรรม

เปิดพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี

“วันอานันทมหิดล” ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอพระราชประวัติ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เนื่องใน “วันอานันทมหิดล” วันคล้ายวันสวรรคต ผู้พระราชทานกำเนิด “แพทย์จุฬาฯ”

ข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชสมภพ วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2468 ณ โรงพยาบาลไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี

เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีสมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระอนุชา 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบรมราชปิตุลาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เช้าวันที่ 20 กันยายน 2468 ที่วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้รับโทรเลขแจ้งการประสูติของพระราชนัดดา พระองค์ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง “หลานฉันเกิดแล้ว เมื่ออาทิตย์เช้า พอฉันตื่นนอน ได้รับโทรเลขก็นึกรู้ว่าคงบอกมาว่าหลานเกิด…ฉันดีใจเหลือเกินที่หลานเกิดเป็นผู้ชาย และเกิดวันที่ 20 ด้วย”

ที่พระองค์ทรงดีใจเช่นนี้ เนื่องจากเพราะว่าวันที่ 20 กันยายน ตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงพระราชทานพระนามว่า “อานันทมหิดล”

ขณะที่ทรงประทับอยู่ในยุโรปนั้น สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงช่วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อภิบาลพระโอรสด้วยความเอาใจใส่ ทรงเป็นครอบครัวที่อบอุ่นยิ่ง

เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2471 สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จนิวัตกลับประเทศไทย ในครานั้นวังสระปทุมสดใสมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง การเสด็จนิวัตครั้งนี้ พระบรมราชชนก ทรงตั้งพระทัยในการปฏิบัติหน้าที่แพทย์อย่างจริงจัง

พระองค์ทรงสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้เพียง 3 สัปดาห์ พระองค์ทรงพระประชวร และเสด็จกลับมาประทับยังวังสระปทุม พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472

จากนั้นเจ้านายเล็ก ๆ  3 พระองค์ทรงประทับอยู่วังสระปทุมในพระอภิบาลของสมเด็จพระราชชนนี

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 วันที่คณะราษฎรกระทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในปีต่อมาสมเด็จพระราชชนนีทรงพาพระโอรส และพระธิดา เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างนั้นพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงคลายพระวิตก ถึงพระราชนัดดา ซึ่งประทับห่างไกลกัน ทรงรับไปรษณียบัตรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรายงานให้ทรงทราบ ในฐานะพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทรงมีพระอาวุโสสูงสุด ในพระบรมวงศานุวงศ์ในวลานั้น

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 วัยเยาว์
ภาพ : จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย พร้อมพระราชนิพนธ์คำปรารภ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา / ศิลปวัฒนธรรม

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2478 ขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา และประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก ภายหลังทรงราชย์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2481 ข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2481 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประทับรถสามล้อเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดพระเนตรและทรงเปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้นจัดขึ้นที่สวนสราญรมย์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 วัยเยาว์
ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

จากนั้นในปี 2482 คณะราษฎร ได้ยกฐานะให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ” พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ที่ทรงครองราชย์ในช่วงเวลานั้น ขณะที่ประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงส่งพระราชโทรเลข เพื่อทรงอวยพรประชาชนชาวไทยในวาระโอกาสวันชาติ ซึ่งเป็นการแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อผองไทยทั้งปวง และความใส่พระทัยต่อกิจการบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ทรงเขียนพระราชโทรเลขที่มีเนื้อความที่เป็นการอวยพรแก่ชาวไทย ดังนี้

จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โลซาน ถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรุงเทพฯ

“เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลแห่งวันชาติของเรานี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความปรารถนามาด้วยความยินดียิ่ง ขอให้ประชาชาติของเราและชาวไทยจงมีความสุขสมบูรณ์ทุกประการ”

(พระปรมาภิไธย) อานันท

ในหลวง รัชกาลที่ 8 ทรงส่งพระราชโทรเลข เพื่อทรงอวยพรประชาชนชาวไทยในวาระโอกาสวันชาติ
ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

ในวันชาติ 2 ปีต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็ทรงส่งพระราชโทรเลขข้อความอวยพรประชาชนไทยเช่นเดิม แต่หลังจาก 2484 พระราชโทรเลขอวยพรประชาชนก็ขาดช่วงไป เนื่องในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังอุบัติขึ้นในทวีปยุโรป เป็นผลให้การสื่อสารทางโทรเลขไม่เป็นที่สะดวก พระราชโทรเลขอวยพรคราวนั้นจึงเป็นคราวสุดท้าย

หลังจากที่พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเอกอล นูแวล เมืองโลซาน ระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้โปรดให้อาจารย์จากประเทศไทย ทวนความรู้ทางอักษรไทย ภาษาไทย ความรู้ทางศาสนา ประวัติศาสตร์ไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย ที่เหมาะสมกับกาลสมัย และชนมายุ ทรงเลือกวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ในระดับอุดมศึกษา พร้อมกับการศึกษาในวิชาการปกครอง และเศรษฐศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับการเป็นพระมหากษัตริย์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยพระราชโอรส 2 พระองค์
ภาพ : เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์ / ศิลปวัฒนธรรม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 21 พรรษา

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม “ท่ามกลางอุดมสันนิบาต พระบรมวงศานุวงศ์และทูตานุทูต ผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกช พรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม”

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ รัชกาลที่ 8 ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

จากนั้นวันที่ 3 มิถุนายน 2489 เวลา 9 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาในขณะนั้น ตัดสินพระทัยเสด็จประพาสสำเพ็ง ชุมชนชาวจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้ง จากเหตุวิวาท จลาจลระหว่างชาวจีนและชาวสยาม ที่มีมูลเหตุจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามรายงานของมติชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาในขณะนั้น ตัดสินพระทัยเสด็จประพาสสำเพ็ง
ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

การตัดสินพระทัยในครั้งนั้น ได้รับการทักท้วง เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย แต่ทรงมีรับสั่งให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์ แจ้งยืนยันให้รัฐบาลทราบ เพราะทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาแล้ว

เมื่อชาวจีนในสำเพ็งได้ทราบข่าวอันน่ายินดีนี้ ต่างได้ร่วมแรงร่วมใจกันเก็บกวาดขยะ สิ่งรกรุงรังเพื่อเตรียมสถานที่รอรับเสด็จ ถึง 7 ซุ้ม ระยะทางยาว 3 กิโลเมตร

จากน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาบารมีตลอดเช้าวันนั้น พลิกสถานการณ์กลับกลายเป็นความรักความผูกพัน ความบาดหมางระหว่างชาวจีน-ชาวสยาม มลายหายไปเป็นปลิดทิ้ง

ก่อนถึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพียง 4 วัน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง