“สมลักษณ์” : การเมืองในตุลาการ “กฎหมายไม่ใช่บังคับกับตระกูลเดียว”

สัมภาษณ์พิเศษ

 

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. … ถูกพรรคเพื่อไทย (พท.) โต้แย้ง-หยิบยกกฎหมายไทยและปฏิญญาโลกมาเบิกความแทนนักการเมือง โดยมีจำเลยการเมือง-ทักษิณ ชินวัตร เป็นเงาดำทะมึนอยู่เบื้องหลัง

ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.ป.วิฯ อาญานักการเมือง เมื่อออกเป็นกฎหมาย-บังคับใช้กับ “นักการเมือง” ทุกผู้ทุกนาม ทว่าการออกกฎหมายโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีต้นกำเนิดจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ จึงถูกมองไม่ได้ว่า ออกกฎหมายเพื่อเช็กบิลฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะคดีความของคนในตระกูลชินวัตร

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สมลักษณ์ จัดกระบวนพล” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา-กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนจำเลยการเมือง-พิพากษานอกศาล

Q : ร่าง พ.ร.ป.วิฯ อาญานักการเมืองจะปฏิวัติกระบวนการศาลไปมาก-น้อยอย่างไร

ในเรื่องอายุความ ปัจจุบันมีบัญญัติไว้อยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา หลักของการออกกฎหมายเมื่อมีบทบัญญัติเรื่องใดขึ้นเรื่องหนึ่ง กฎหมายต้องบังคับใช้ทั่วไป ไม่ใช่บังคับกับสถาบันใดสถาบันหนึ่ง คนในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง ถ้าจะต้องบัญญัติเฉพาะกับนักการเมือง ต้องมีเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีบทบัญญัตินี้ไว้เฉพาะนักการเมือง ถ้าบอกว่า นักการเมืองมีอิทธิพลมาก เดี๋ยวก็หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศสบายมีสักกี่คน เท่าที่เคยเป็นผู้พิพากษามา 36 ปี ส่วนใหญ่ 99% ลำบาก ชีวิตไม่ได้มีความสุข เป็นการลงโทษตามสมควรแล้ว กฎหมายถึงได้บัญญัติเรื่องการกำหนดอายุความ

การพิจารณาคดีลับหลังบทบัญญัติในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขหลายประการ เช่น จำเลยต้องมีทนาย ต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้พิจารณาคดีลับหลังได้ จำเลยเจ็บป่วย อัตราโทษไม่สูง ข้อเท็จจริงที่จะสืบพยานไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ไม่อยู่ในศาลกรณีจำเลยหลายคน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐ หรือประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ขณะนี้บ้านเมืองกำลังมีการกล่าวหากัน อีกฝ่ายหนึ่งไม่ดี อีกฝ่ายหนึ่งไม่ถูก แล้วไปคิดบทบัญญัตินี้มาเพื่อเป็นประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้ ต้องให้โอกาสจำเลยสืบพยาน ให้จำเลยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

ในเรื่องบทเฉพาะกาลให้รื้อคดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายเพราะจำเลยหลบหนีกลับมาพิจารณาคดีใหม่ได้ หลักการอะไรที่เป็นผลร้ายนำมาใช้ย้อนหลังไม่ได้ ขัดหลักนิติธรรม คดีอาญาศาลฎีกาเคยวางแนวพิพากษาว่า ถ้าเป็นผลร้ายใช้ย้อนหลังไม่ได้

Q : ถือเป็นผลดีต่อจำเลย เป็นการเปิดโอกาสให้กลับมาสู้คดีอีกครั้งได้

กลับมาต่อสู้คดีก็ไม่แน่ว่าจะชนะหรือเปล่า ถ้าแพ้ก็ติดคุก ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ 50:50

Q : การไม่กลับมาสู้คดี ในทางลบทำให้ไม่มีโอกาสได้แก้ต่างในชั้นศาลได้เลย

เป็นผลร้ายกับจำเลยเอง แต่จำเลยบางคนก็ไม่ชอบ เพราะต้องการให้ศาลพิพากษามากกว่า การพิพากษาคดีของศาลจะมีคำวินิจฉัยบอกถึงเหตุผลของคดี เช่น คดีปราสาทเขาพระวิหาร ศาลให้เหตุผลทั้งหมด ทำให้ คุณนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนี้ พ้นมลทินมาอย่างขาวสะอาด ตอนนี้คุณนพดลขาวสะอาด ทั้ง ๆ ที่เคยถูกกล่าวหาว่า ขายชาติ

Q : หลักอำนาจ 3 ฝ่าย ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อให้เท่าทันกับบริบทของบ้านเมืองในขณะนั้น

ถูกต้อง ทำได้ แต่กฎหมายต้องปฏิบัติได้ด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายต้องคำนึงถึงเทศกาลบ้านเมือง บังคับใช้กับคนทั่วไป ถ้าออกมาในลักษณะเป็นประโยชน์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ถูกหลักการออกกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติผิดเพี้ยนในความคิด แสดงว่ากฎหมายไม่ได้ออกมาเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไป ออกกฎหมายโดยฉ้อฉล เพื่อประโยชน์และเป็นโทษกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

Q : บริบททางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว เช่น คุณทักษิณหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย 

จำเลยที่มีลักษณะแบบคุณทักษิณ มีเงินมีทอง มีอำนาจ ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ และมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย มีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ 90% หลบหนีไปต่างประเทศไม่ได้ ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่มีความสุข ถือว่าถูกลงโทษตามสมควรแล้ว เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงกำหนดอายุความให้สั้นหรือยาวตามอัตราโทษ

Q : ผู้ร่างกฎหมายให้ความเห็นในการเขียนกฎหมายว่า ถ้าคิดว่าไม่ผิด ทำไมต้องหลบหนี ไม่มาต่อสู้คดีในศาล ฟังขึ้นหรือไม่ 

เป็นคนละเรื่องกับการอำนวยความยุติธรรม ความคิดที่ว่า คนที่หลบหนีไป แสดงว่ามีความผิดสิ ผิดหลักการเขียนกฎหมาย จำเลยที่หลบหนีไม่ยอมต่อสู้คดีในศาล อาจมีทัศนคติส่วนตัว ไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรมในขณะนั้น หรือไม่ไว้ใจผู้บริหารประเทศในขณะนั้น

Q : ถ้าจำเลยทุกคนมีทัศนคติเช่นนี้จะเป็นข้ออ้างให้คนกระทำความผิดไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่

คนจะเต็มใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ คนในกระบวนการยุติธรรมต้องสร้างศรัทธา เพราะไม่เช่นนั้น ผู้พิพากษาตุลาการทำหน้าที่ไม่ได้เลยถ้าคนไม่ศรัทธา เกิดความระแวงความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่เมื่อใดเกิดความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมก็จะเป็นที่พึ่งที่สุดท้ายที่จำเลยจะนึกถึง

Q : การไม่เห็นด้วยของศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีลับหลังของร่าง พ.ร.ป.วิฯ อาญานักการเมือง และเรื่องความโกลาหลในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา จะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาในอนาคตหรือไม่

การทำงานของศาลต้องทำให้สังคมศรัทธา ยิ่งขณะนี้สังคมเกิดความแตกแยก และหากทำอะไรให้สังคมระแวง ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่ศรัทธา ศาลต้องอย่าทำให้คนในสังคมเกิดความระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรม

การแต่งตั้งประธานศาลฎีกาในวงการศาลยุติธรรม ต้องยึดหลักความอาวุโส ในวงการศาลยุติธรรมการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจะคำนึงถึงเรื่องความอาวุโสเป็นเรื่องสำคัญมาก

Q : กรณีท่านศิริชัยถึงแม้ว่าจะมีความอาวุโสเป็นอันดับ 1 แต่ไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา

เท่าที่ฟังจากสังคม กรณีท่านศิริชัยโอนสำนวนซึ่งสำนวนนั้นมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ท่านโอนไปองค์คณะที่ลงโทษเป็นข้อกล่าวหาที่ฟังจากสังคม แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรยังไม่สามารถหาคำตอบได้

Q : เป็นการเมืองในแวดวงตุลาการหรือไม่

(หัวเราะ) เราก็ไม่รู้นะ แต่มีนักการเมืองมาบอกว่า การเมืองแน่ ๆ เลย

Q : ถ้าเป็นการเมืองจริงคงจะเป็นการเมืองของเสียงข้างมาก เบ็ดเสร็จ เพราะมติอนุ ก.ต.หรือ มติ ก.ต.ที่ออกมาท่วมท้น

ถ้าท่านศิริชัยทำความผิดวิสัยอย่างนี้เรื่อย ๆ จริง โดยที่ท่านอยู่มาอาวุโสจนถึงคิวที่จะได้ขึ้นเป็นประธานศาลมาหลายสิบปี เหตุใดถึงไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ ไม่มีการกล่าวหา ปล่อยให้ท่านดำรงตำแหน่งมาถึงประธานศาลอุทธรณ์ ถ้ามีความผิดเรื่องการโอนคดีจริง ๆ อยู่ไม่ได้นะ หัวหน้าศาลยังเป็นไม่ได้เลย ทำไมมันมาโผล่ตอนที่ท่านจะเลื่อนเป็นประธานศาลฎีกา เหมือนกับเตรียมการไว้แล้วว่า เดี๋ยว ๆ แกยังไม่ใหญ่ ฉันยังไม่เอา แกใหญ่มาเมื่อไร ฉันเอาแกแน่ (หัวเราะ)

Q : คงไม่เลวร้ายถึงขั้นมีการเมืองนอกศาลเข้ามาล้วงลูก

(เสียงแผ่วเบา) ไม่แน่ใจ ๆ ได้แต่เพียงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไม ทำไม ถึงได้เกิดเรื่องแบบนี้ แต่ไม่เชื่อว่าจะมีใครสั่งผู้พิพากษาได้

Q : วันนี้ยังไม่ถึงกับเกิดวิกฤตศรัทธาศาล

ยังมีทางแก้ไขได้ ถ้าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมช่วยกัน ต้องคิดว่าจะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจได้อย่างไร

Q : คำพิพากษาจะสามารถแก้วิฤตการเมืองได้หรือไม่

อาจจะไม่ได้แก้ได้โดยตรง แต่ถ้าให้ความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด พรรคใดก็ตามเสมอกัน ได้รับความเป็นธรรมเท่ากัน ก็จะสามารถแก้วิกฤตการเมืองไปได้ในตัว นำความสามัคคีปรองดองกลับมา เพราะทุกคนได้รับความเป็นธรรมเสมอภาคกัน ต้องพิพากษาให้ชัด ให้จำเลยยอมรับว่าได้กระทำความผิดจริง

Q : ศาลยังเป็นที่พึ่งสุดท้ายของสังคมได้

สถาบันศาลจึงยังเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อยู่…