รัฐสภาโหวตคว่ำ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า

รัฐสภา รัฐฑรรมนูญ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า ไม่ผ่านชั้นรับหลักการ เหตุเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และ ส.ว.เห็นชอบไม่ถึง 1 ใน 3

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น ที่เสนอโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ ในวาระ 1 ด้วยวิธีการขานชื่อ

ผลการนับคะแนน ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการ ดัวยเสียง 245 ต่อ 254 เสียง งดออกเสียง 129 คะแนน คะแนนรับหลักการมีจำนวนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ 361 คะแนน และมี ส.ว.เห็นชอบ 6 เสียง น้อยกว่าจำนวน 1 ใน 3 ของ ส.ว. หรือน้อยกว่า 83 เสียงของ ส.ว. ร่างดังกล่าวจึงไม่ผ่านชั้นรับหลักการ

ทั้งนี้ เป็นการประชุมต่อเนื่องมาจากการประชุมรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้พยายามพูดแทรกนายชวนที่กำลังชี้แจงกระบวนการการโหวตในวันนี้ จนนายชวนต้องเตือนว่า “คุณศรีนวลครับ มีมารยาทหน่อยครับ เวลาประธานชี้แจงอยู่ หากยังไม่อนุญาตให้พูด อย่าแทรกขึ้นมา” ก่อนจะเปิดโอกาสให้พูด

ซึ่ง น.ส.ศรีนวลได้ใช้สิทธิพาดพิงกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น กล่าวถึง น.ส.ศรีนวลในช่วงหนึ่งของการสรุปจบการชี้แจงว่าการเสนอชื่อ น.ส.ศรีนวลให้เป็น ส.ส.เป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งหนึ่งในชีวิต และทิ้งท้ายว่าคนอกตัญญูไม่รู้คุณคนระวังจะไม่ได้เป็น ส.ส.อีกเลยว่า สิ่งที่นายปิยบุตรกล่าวถึงตนเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน เวลา 21.00 น. ถือว่าผิดข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 45 ใส่ร้ายเสียดสี

ทำให้ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พยายามลุกขึ้นประท้วง น.ส.ศรีนวล แต่ไม่ได้ผล เนื่องจากนายชวนปิดไมค์ไม่ให้สมาชิกพูดสักคน พร้อมแจ้งว่าวันนี้เป็นการลงมติ ส่วนเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นคงต้องว่ากันอีกที ขออย่าใช้ช่วงเวลาวาระนี้ทำให้เสียเวลา และขอให้เป็นไปตามลำดับ โดยขอให้ น.ส.ศรีนวลใช้สิทธิพาดพิงในวาระอื่น จากนั้นเริ่มลงมติโดยการขานชื่อเรียงตามตัวอักษร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการลงมติด้วยการขานชื่อ แต่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาไม่ได้มาลงมติขณะที่เจ้าหน้าที่ขานชื่อร่วมร้อยคน นายชวนจึงให้สมาชิกที่มาขอลงคะแนนภายหลังเรียงแถวลงคะแนนทีละคน เพื่อไม่ให้กรรมการนับคะแนนและเจ้าหน้าที่เกิดความสับสน

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้ากับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอดังกล่าว เนื้อหามีสาระสำคัญ เช่น

  1. ท้องถิ่นมีอำนาจทำทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ให้ส่วนกลางจัดทำเท่านั้น
  2. ให้ท้องถิ่นได้งบประมาณร้อยละ 50 ภายในสามปี
  3. สภาและผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
  4. ห้ามส่วนกลางก้าวก่าย จะเพิกถอนคำสั่งต้องไปศาลปกครอง
  5. ประชาชนเข้าชื่อ 3 ใน 4 ขอถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น มีผลทันที
  6. ทำประชามติยกเลิกส่วนภูมิภาคในห้าปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ ภายหลังชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2565 ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2565 แสดงความกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะกระทบต่อตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ทั้งนี้ แถลงการณ์พรรคก้าวไกลระบุว่า ต่อกรณีที่มีการพยายามโจมตีว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนที่เข้าชื่อจำนวน 80,772 คน ภายใต้ชื่อแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น”

หัวใจสำคัญของข้อเสนอคือ การกระจายอำนาจให้กับประชาชน ให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเอง และยกระดับการพัฒนาของพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ตัวแทนของประชาชนผู้เสนอร่างได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง โดยสมาชิกรัฐสภาจากหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นในเชิงสนุบสนันกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ แม้อาจมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด

ทางเราได้พยายามชี้แจงและตอบทุกข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป แต่เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบางท่านอาจยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสถานะและบทบาทของข้าราชการส่วนภูมิภาค และ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ (เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะความกังวลที่ถูกสะท้อนในแถลงการณ์ของชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 (6 ธันวาคม 2565) ทางเราจึงขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนดังกล่าว

1.ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องที่ มีลักษณะที่แตกต่างกัน-ส่วนภูมิภาคประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ (อ้างอิง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 มาตรา 51) ซึ่งข้าราชการมาจากการแต่งตั้ง ในขณะที่ส่วนท้องที่ประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือก และถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ้างอิง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อเสนอใด ๆ เกี่ยวกับราชการส่วนท้องที่ ดังนั้น จึงไม่นำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด

2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอ ไม่ได้เสนอให้มีการเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยทันที เพียงแต่เสนอให้มีการเปิดบทสนทนาให้สังคมพิจารณาถึงบทบาทและความจำเป็นของราชการส่วนภูมิภาค และให้คณะรัฐมนตรีจัดแผนรองรับอย่างชัดเจนและรอบคอบ ก่อนจะให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เป็นผู้ตัดสินว่าจะมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ ผ่านประชามติที่จะจัดขึ้นภายใน 5 ปี โดยมีแผนงานเตรียมรับมือหากผลประชามติออกมาให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

3.หากประชาชนเห็นชอบในประชามติให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เราสามารถวางหลักประกันได้ว่า
-ข้าราชการส่วนภูมิภาคจะไม่มีใครตกงาน หรือสูญเสียผลประโยชน์และความก้าวหน้าทางอาชีพ เพียงแต่เปลี่ยนสังกัดไปอยู่กับส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น

-เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ ซึ่งรวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จะยังคงอยู่เช่นเดิม และสามารถมาตกลงร่วมกันได้ว่าจะถูกกำกับดูแลภายใต้สังกัดใด และเปิดช่องให้มีการออกแบบรูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์กว่าเดิม ในเรื่องของค่าตอบแทน ความก้าวหน้าทางอาชีพ และการทำงานที่ยึดโยงกับประชาชน

ทั้งนี้ ทางเราขอยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรานำเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภา ถูกออกแบบบนพื้นฐานของการเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่

ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐสภาจะมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวันนี้ โดยเรายินดีนำข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายมาพิจารณาเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ