ประยุทธ์ จันทร์โอชา เส้นทางอำนาจ 8 ปี จาก คสช. สู่สนามเลือกตั้ง 66

ประยุทธ์ จันทร์โอชา เส้นทางอำนาจ 8 ปี

เปิดเส้นทางอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการเป็นผู้นำรัฐบาล จากยุคคณะ คสช. สู่ยุครัฐบาลผสม ที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และก้าวต่อไปในสนามเลือกตั้ง 2566

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค. 2566) มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเปิดทางสู่การเลือกต้ังครั้งใหม่ ท่ามกลางสังคมไทยที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นอกจากการกุมบังเหียนนายกรัฐมนตรี ยาวนานถึง 8 ปี ซึ่งยาวนานพอ ๆ กับนายกรัฐมนตรีสายทหารแล้ว ยังถือเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาล มากถึง 19 พรรค ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนเส้นทางอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากวันแรกในโลกการเมือง สู่วันเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในสนามเลือกตั้ง 2566 เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏเป็น “สมาชิกพรรคการเมือง”

“วิกฤตการเมือง” นำพาสู่เส้นทางการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงวิกฤตการเมือง ระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้น ทั้งจากกลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส. ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีกฎหมายนิรโทษกรรม ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทำให้ต้องประกาศยุบสภา และเดินหน้าเลือกตั้งใหม่

แต่บรรยากาศทางการเมืองและการชุมนุม ยังร้อนแรงขึ้น และไม่มีทีท่าจะสงบ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพบก ณ เวลานั้น เปิดการเจรจา 7 ฝ่าย ร่วมกับรัฐบาลรักษาการในเวลานั้น และแกนนำผู้ชุมนุมทางการเมือง ทั้ง นปช. และ กปปส.

ตลอดการเจรจา 7 ฝ่าย ที่เกิดขึ้นช่วง 1-2 วัน ยังไม่สามารถหาบทสรุปในการยุติความขัดแย้งนี้ได้ ทำให้นำไปสู่เส้นทางที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

“หากเป็นแบบนี้ ผมขอยึดอำนาจการปกครอง” นี่เป็นประโยคสุดท้ายก่อนปิดการเจรจา 7 ฝ่าย ช่วงบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา สถานการณ์การเมืองของไทย เปลี่ยนโฉม

หาทางออกไม่ได้ จบด้วย “รัฐประหาร”

เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังปิดการเจรจา 7 ฝ่าย วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตัดสินใจประกาศทำรัฐประหาร ในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” โดย พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้หัวหน้าคณะ คสช. พร้อมกับการวางโรดแมปต่าง ๆ เพื่อปฏิรูปประเทศ

จากนั้น สิงหาคม 2557 รัฐบาลของคณะ คสช. จึงเกิดขึ้น ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานถึง 5 ปี

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสมาชิก ส.ว. 250 คนที่คณะ คสช. แต่งตั้งขึ้น ถือเป็นมรดกตกทอดทางการเมืองชิ้นใหญ่ของ คสช. ก่อนจะคืนอำนาจประชาธิปไตยสู่ประชาชนอีกครั้ง

จาก “นายกฯ รัฐบาลทหาร” สู่ “นายกฯ รัฐบาลพลเรือน”

หลังจากการคืนอำนาจของคณะรัฐบาล คสช. เพื่อเดินหน้าประชาธิปไตย สนามการเลือกตั้งกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ท่ามกลางกติกาใหม่ที่แปลกตา ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดต การคำนวณที่นั่ง ส.ส. โดยใข้สูตรหาร 500 และการเปิดทางให้สมาชิก ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้รับการทาบทามให้เข้าสู่สนามการเมือง โดยการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคพลังประชารัฐ และเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียวของพรรค

พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในฐานะรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 และรวบรวมพรรคร่วมรัฐบาลได้มากที่สุดถึง 19 พรรคการเมือง ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เส้นทางการบริหารประเทศบนถนนลูกรัง

การได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้รายเรียบเหมือนเมื่อครั้งรัฐบาล คสช. ทั้งการที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม และรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้การลงมตินโยบายหรือการลงมติของสภาฯ ในบางครั้ง ฝ่ายรัฐบาลมักแพ้เสียงของฝ่ายค้าน และกระทบถึงเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

การมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกตรวจสอบทั้งเรื่องการสืบทอดอำนาจของ คณะ คสช. ไปจนถึงวาระการดำรงตำแหน่ง ที่ทำให้ถูกยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณามาแล้ว

ขณะเดียวกัน การชุมนุมทางการเมือง ที่ดูเหมือนว่าจะสงบและควบคุมได้อยู่หมัดในยุครัฐบาล คสช. กลับมีทีท่าเพิ่มขึ้นในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะการบริหารงานของรัฐบาล และการพยายามปิดกั้นความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ และวาระ 8 ปี

การดำเนินหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2565 ที่หลายฝ่ายทางการเมืองมองว่า นายกฯ ประยุทธ์ จะทำหน้าที่ครบวาระ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้แล้ว

ทำให้ทั้งฝ่ายค้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยตีความวาระการดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า วาระ 8 ปี เริ่มนับจากช่วงไหน

ก่อนที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้อง พร้อมทั้งมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยระหว่างทาง ศาลรัฐธรรมนูญมีการรับหลักฐานที่เกี่ยวข้องจาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคำชี้แจงจาก พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อวินิจฉัยวาระ 8 ปี

ในที่สุด 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า การนับวาระของนายกรัฐมนตรี เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ นั่นคือ วันที่ 6 เมษายน 2560 จึงทำให้วาระการดำรงตำแหน่งฯ ยังไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

จากนั้น นายกฯ ประยุทธ์ ยังได้นั่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี อย่างต่อเนื่อง จนครบวาระ

พล.อ.ประยุทธ์ กับเส้นทางใหม่ในสนามการเมือง

เมื่อสนามเลือกตั้งครั้งใหม่ กำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง กระแสข่าวการถูกทาบทามลงสนามการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวการเมืองต่างตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาว่า จะยังเดินเส้นทางการเมืองร่วมกับ ป. ที่ 2 อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือจะแยกทางเดินสู่เส้นทางใหม่

กระทั่ง 9 มกราคม 2566 คำเฉลยต่าง ๆ จึงปรากฎขึ้น เมื่อมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัครสมาชิกตลอดชีพ พรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคฯ อีกด้วย พร้อมกับการประกาศตนเองว่า เป็นนักการเมืองเต็มตัว

ประกาศยุบสภา

เวลาในแต่ละวันที่กำลังเดินหน้าไปนั้น ในทางกลับกัน หมายถึง เวลาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในการทำหน้าที่ ค่อย ๆ หมดลงไปเรื่อย ๆ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนรัฐบาลดังกล่าวจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะที่ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเหลือระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น และหากถูกรับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก จะทำให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีกลางเทอม

จากนี้ไป ต้องจับตาดูต่อว่า เส้นทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ขนานนามตนเองว่าเป็น “ทหารเสือราชินี” จะเป็นอย่างไร และจะได้รับโอกาสให้กลับมาใช้เวลา 2 ปีที่เหลือบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่?