ย้อนเส้นทาง 8 ปี ประยุทธ์ ก่อนถึงวันพิพากษา 30 กันยายน 65

8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ย้อนเส้นทางวาระ 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา 30 ก.ย. 2565 จะได้ไปต่อหรือต้องยุติการทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ ?

วันที่ 30 กันยายน 2565 จะเป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศจับตามองการเมืองไทย เพราะจะเป็นวันอ่านคำวินิจฉัยกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นที่จับตามองของสังคมว่า วาระของ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เดินหน้าไปต่อหรือ

“ประชาชาติธุรกิจ” ย้อนเส้นทางวาระ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง ก่อนชี้ชะตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือกลับคืนสู่การปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป

จากวันแรก สู่วันสั่งหยุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนกระทั่งเปลี่ยนผ่านสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 6 เมษายน 2560 และคืนอำนาจการเลือกตั้งกลับสู่ประชาชน ปิดฉากรัฐบาล คสช. ที่ครองเก้าอี้มานานถึงเกือบ 5 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 2562

แม้รัฐบาลและคณะ คสช. จะจบลง แต่ยังมีมรดกตกทอดมาสู่รัฐบาลต่อไป นั่นคือ รัฐธรรมนูญไทย ที่มีกติกาที่ผิดแปลกไปจากการเมืองไทยช่วงหลักสิบปีที่ผ่านมา ทั้งการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม สูตรการคำนวณคะแนนที่ทำคอการเมืองฉงนและสงสัย และ ส.ว. 250 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกชิ้นสำคัญของ คสช. ได้เข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

และด้วยกติกาต่าง ๆ รวมเสียง ส.ว. และเสียงฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกให้กลับขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ขณะที่ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อตุลาคม 2564 ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร สรุปประเด็นข้อกฎหมายส่ง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯได้ถึงปี 2570 และข้อสรุปดังกล่าว ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ช่วงธันวาคมของปีเดียวกัน

ไทม์ไลน์แห่งการเขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 8 ปี

ในสิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาครบ 8 ปี เริ่มมีฝ่ายต่าง ๆ ยื่นคำร้องเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเข้ามา มีไทม์ไลน์ ดังนี้

5 สิงหาคม 2565

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ทั้งสองหน่วยงาน เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินตีตกคำร้อง เนื่องจากเป็นอำนาจขององค์กรอื่น

17 สิงหาคม 2565

ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 171 คน ร่วมยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์

22 สิงหาคม 2565

นายชวน หลีกภัย ลงนามและส่งต่อคำร้องขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

24 สิงหาคม 2565

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้อง พร้อมทั้งมีมติ ที่มีมติ 5 ต่อ 4 เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

1 กันยายน 2565

พล.อ.ประยุทธ์ ส่งคำชี้แจง 23 หน้า ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี พล.ต.วิระ โรจนมาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าทีมสู้คดี

8 กันยายน 2565

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 มีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นการประชุมที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ระบุว่า การนับวันดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องรวมการดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ด้วย

14 กันยายน 2565

ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง

เปิดคำชี้แจง อดีตประธาน กรธ. 2560

ย้อนกลับไป 6 กันยายน 2565 โลกออนไลน์มีการเผยแพร่เอกสารคำชี้แจงของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ฉบับปี 2560 ซึ่งชี้แจงประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง โดยยกมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาใช้ในการยืนยันการนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเริ่มนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

บทเฉพาะกาล มาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม

ขณะที่มาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อมโยงกับบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

วาระนายกฯ 8 ปีนับจากวันไหนกันแน่ ?

การอ้างอิงวันขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตีความได้ 3 แบบ จาก 3 วาระ ดังนี้

  1. เริ่มนับวาระ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยุคคณะ คสช.)
  2. เริ่มนับวาระ วันที่ 6 เมษายน 2560 (วันเริ่มประกาศใช้รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560)
  3. เริ่มนับวาระ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 (วันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากการเลือกต้ัง 2562)

หากนับการตีความวาระแบบที่ 1 เท่ากับการเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากตีความวาระแบบที่ 2 และ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จนครบ 8 ปี ซึ่งหากนับตามแบบที่ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จะยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 5 เมษายน 2568

แต่หากนับตามแบบที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดลง 23 มีนาคม 2566 และมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งรอบใหม่ ที่จะเกิดขึ้น 7 พฤษภาคม 2566 ตามแผนที่ กกต. วางไว้ กรณีไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง

หลากทรรศนะ หลายความคิดถกแถลง วาระ 8 ปี

ระหว่างที่ทุกคนต่างจดจ่อกับการรอฟังคำวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จากศาลรัฐธรรมนูญ มีนักการเมือง นักกฎหมาย คาดการณ์คำวินิจฉัยไว้มากมาย

นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า หากพิจารณาดุลยภาพระหว่างประโยชน์และโทษของการให้ใช้วิธีการชั่วคราว (Balance of Convenience) คิดว่าไม่ได้สะท้อนให้เห็นผลต่อการวินิจฉัยคดีใหญ่มากนัก และประเมินเบื้องต้นจากประสบการณ์ส่วนตัว ว่ามีน้ำหนักต่อคดีวาระ 8 ปีในสัดส่วน 60:40

ส่วนการพิจารณาดุลยภาพ ศาลจะพิจารณาและวิเคราะห์สถานการณ์ของบ้านเมือง นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราว ไปจนถึงวันที่จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ว่าหากใช้วิธีการนี้แล้วจะเกิดประโยชน์หรือโทษต่อบ้านเมืองอย่างไร หรือนำหลักเกณฑ์กฎหมายคดีใหญ่ในการพิจารณาใช้วิธีการชั่วคราว

ด้านนักกฎหมายฝ่ายรัฐบาล วิเคราะห์การวินิจฉัยคดีว่า มีความเป็นไปได้ 3 มติ คือ

  1. มติแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 6 ต่อ 3 เสียง
  2. มติที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 7 ต่อ 2 เสียง
  3. มติที่สาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ด้วยเสียง 6 ต่อ 3 เสียง

หากมติออกมาเป็นแบบที่ 3 ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องดำเนินการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ครม. ชุดรักษาการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ หรือเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีการวินิจฉัยวาระ 8 ปี ตอนหนึ่งของข้อความระบุว่า ​​”เมื่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนจึงมิอาจอ้างเหตุใดเพื่อใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยไปในทางอื่นได้ แต่หากองค์กรใด บุคคลใด จะตีความหรือวินิจฉัยไปในทางที่จะให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นผู้ทำลายหลักความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และล่วงละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์”

ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงประเด็นดังกล่าวว่า “อย่าเพิ่งไปสมมติเลย ศาลยังไม่ตัดสิน ไว้ดูพรุ่งนี้ และจะไม่มีสุญญากาศทางการเมือง ปกติก็เป็นเรื่องที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะอยู่หรือจะไป ซึ่งก็ต้องรอดูศาลตัดสิน” พร้อมยืนยันว่า จะมีการส่งฝ่ายกฎหมายของสภา เป็นตัวแทนสภา ไปรับฟังคำวินิจฉัยด้วย

ฉากต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ?

การอ่านคำวินิจฉัยประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยช่วงเช้า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะมีการประชุมและอภิปรายการวินิจฉัยร่วมกัน จากนั้นจึงลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยขององค์คณะตุลาการ ในเวลาประมาณ 15.00 น.

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มนัดหมายชุมนุมในวันเดียวกันแล้ว โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เวลา 14.00 น.


นับจากนี้ อีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงข้างหน้า ต้องจับตามองกันต่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นนี้ออกมาในทิศทางใด และภาพการเมืองไทย หลังการอ่านคำวินิจฉัยจะเริ่มเย็นลง เตรียมพร้อมรับการเลือกต้ังใหม่ หรือจะกลับมาร้อนแรง ทิ้งท้ายก่อนการหมดวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน