
คอลัมน์ : Politics policy people forum
นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เคยสร้างตำนานการเมืองอันลือลั่น เมื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ปรากฏตัวเพียง 49 วันก็ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน
12 ปีให้หลัง ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 “เศรษฐา ทวีสิน” สลัดคราบนักธุรกิจอสังหาฯหมื่นล้าน ลงเล่นการเมืองเต็มตัว ในนามพรรคเพื่อไทย มี passion อย่างเต็มเปี่ยมที่จะแก้ปัญหาสังคม-ลดความเหลื่อมล้ำ อาจสร้างประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกัน
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 5 วัน ค่ายอีวี BYD ลุ้นแซงโตโยต้า ขึ้นผู้นำขายสูงสุด
- เปิดภาพ 3 รัฐมนตรีเกษตรฯ ต้อนรับนายกฯ เยี่ยมวิถีชาวบ้าน หนองบัวลําภู
เขาเป็น 1 ใน 3 ชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เคียงคู่ “แพทองธาร ชินวัตร” และ “ชัยเกษม นิติสิริ” เขาอาจใช้เวลาเพียง 70 วันที่นับตั้งแต่วันเปิดตัว จนถึงวันเลือกตั้ง ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30
ประชาชาติธุรกิจ พร้อมเครือมติชน สัมภาษณ์ “เศรษฐา” ถึงความพร้อมที่จะมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
หน้าที่แคนดิเดตนายกฯ เศรษฐา
เศรษฐากล่าวถึงภารกิจแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ว่า ภารกิจจากนี้จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คือเผยแพร่นโยบายให้ประชาชนทราบ ที่เปิดนโยบายไปหลายนโยบาย ต้องลงรายละเอียดให้ดี สำคัญมากกว่าการที่จะเป็นห่วงว่าใครจะได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตนายกฯ
“เราทั้ง 3 คน รักชอบกัน มีความสนิทสนม พูดกันรู้เรื่องอยู่แล้ว ถ้าหากเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติเลือกใคร อีก 2 คนก็มีความยินดี แต่ทั้ง 3 คนมีความพร้อม”
“ผมคือหนึ่งในตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่มีนโยบายคิดใหญ่ ทำเป็น และทำได้มาตลอด ผมเป็นตัวแทนที่จะทำให้พ้นจากความยากจน ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม”
นายกฯ สร้างความเปลี่ยนแปลง
เมื่อกระโดดเข้ามาการเมืองเต็มร้อย กลัวคำว่าการเมืองหรือไม่ “เศรษฐา” กล่าวว่า ถ้าบอกว่าไม่กลัวก็ไม่จริง ทุกอย่างทำอะไรในบทบาทใหม่ก็ต้องมีข้อควรระวัง บางอย่างที่เราพูดได้ในวงธุรกิจ วงการเมืองก็ต้องมีความระมัดระวัง ความชัดเจน เป็นตัวของตัวเองมากเกินไป การที่พูดจาโผงผางก็ต้องโทนดาวน์ ลดหย่อนบ้างพอสมควร แต่ต้องคงไว้ซึ่งแก่นสารความเป็นตัวของตัวเอง และต้องสื่อสารให้ได้อย่างชัดเจน
ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจหมื่นล้านลงมาเล่นการเมือง ลงพื้นที่ท้องนาและชุมชนแออัด มองเห็นสายตาชาวบ้านแล้วรู้สึกอย่างไร “เศรษฐา” กล่าวว่า
“มีหลายคน หลายท่านบอกว่าผมเป็นเศรษฐี มีเงิน และมาลงพื้นที่เพื่อมาสร้างภาพ มันไม่ใช่ความต้องการอย่างนั้น แต่ผมต้องการหาคำตอบจริง ๆ ว่าปัญหาของประชาชนคืออะไร ไม่ใช่แค่อ่านตามสื่อ หรือพูดคุยในวงธุรกิจ”
การลงพื้นที่ทำให้ทราบว่า เรื่องเล็ก ๆ อย่างเรื่องเผาซังข้าว ต้นข้าวที่ตาย เผาขึ้นมาก็เกิด PM 2.5 ผมก็บอกทำไมไม่ฝังกลบ เรื่องบางเรื่องเราพูดได้ แต่พูดไปแล้วเขาตอบว่าเอาเงินที่ไหน ไม้ขีดอันเดียว แต่ต้องไปเอารถไถ หรือจ้างเขา productivity ชาวนาต่อ 1 ไร่ ปลูกข้าวได้ 1 พันบาท ถ้าไปจ้างเขาอีก เงินก็ไม่เหลือเลย เผา ผมก็กลับมาถามที่พรรคว่า ชาวบ้านมาบอกอย่างนี้จะต้องทำอย่างไร
หรือไปชุมชนแออัดที่คลองเตย มีปัญหาเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคได้จริง แต่ในพื้นที่ต้องปิดไป ต้องไปที่บางรักตั้งแต่ตี 4 กว่าจะกลับมาก็เย็น ค่าแรงไม่ถึง 400 บาทก็หายไป
“เรื่องพวกนี้ผมไม่ได้แสแสร้งหรืออะไร เพราะผมลงไปแล้วได้เห็นจริง ๆ และมีอีกหลายเรื่อง บางทีเราพูดง่าย แค่อ่านหนังสือพิมพ์อย่างเดียว แต่ไม่สามารถมาโต้กับผมได้ว่า ถ้าบอกไปอย่างนี้แล้ว เขาตอบมาเราจะทำอย่างไร”
เศรษฐายอมรับว่า ตั้งแต่ลงพื้นที่อินกับปัญหาชาวบ้านมากขึ้น “ล้านเปอร์เซ็นต์ครับ อินขึ้น เข้าใจดีขึ้น ถ้าอยากมีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา ผมก็ต้องไปนั่งคิดว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหา ทำไมเราไม่คิดการใหญ่ เช่น ความมั่นคงทางอาหารเป็นจุดแข็งของไทย”
เปรียบเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่ให้ความสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ เช่น ทูต ทุกคนอยากไปอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แต่ไม่มีใครอยากไปไนจีเรีย องค์การสหประชาชาติพยากรณ์ไว้ว่าอีกไม่เกิน 10 ปีไนจีเรียจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก แต่เราไม่มีทูตที่มีความสามารถที่นั่นเลย
“ถ้ามีทูตเก่ง ๆ ให้ KPI เขาชัดเจน บวกกับเจ้าหน้าที่เก่ง ๆ จากกระทรวงพาณิชย์ แล้วไปเปิดตลาดค้าขาย เอานมไปขาย พอมีดีมานด์เข้ามา ซัพพลายก็ขยายได้ เกษตรกรก็จะขยายการผลิตได้ ดังนั้น ต้องการผู้นำที่นั่งหัวโต๊ะแล้วสั่งให้ทุกคนไปทำได้ ยังไม่ต้องพูดถึงไปค้าขายที่จีน สหรัฐอเมริกา หรือ อียู”
“ถ้าไม่ลงพบปะประชาชน ผมก็ยังไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ ดังนั้น การตอบโต้ การได้รับฟัง ถกเถียงอย่างมีเหตุผล คุณมีข้อมูล คุณก็จะมีปัญญา มีปัญญาก็จะมีทางออก”
ถามเขาว่า ระยะเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชน 70 วัน เพียงพอที่จะเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลมาแก้ปัญหาประชาชนหรือไม่ เศรษฐาตอบว่า “พร้อมเข้าสู่ทำเนียบ ถ้าคิดว่าไม่พอคงไม่อาสามา”
“ผมอยากเป็นนายกฯ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ถ้าทำไม่ได้จริงไม่เอา เพราะที่ผมทำ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว”
แจงยิบ แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น
นโยบายที่สร้างกระแสให้พรรคเพื่อไทยในขณะนี้คือ การให้เหรียญดิจิทัลผ่าน digital wallet แก่คนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 1 หมื่นบาท กลับมีเสียงท้วงติงว่า “แจกเงินอีกแล้ว-ประชานิยมอีกแล้ว” และเอาเงินมาจากไหน เศรษฐกิจประเทศจะไม่พังเลยหรือ ?
“เศรษฐา” ตอบประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโต 2.6% แต่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โตขึ้นมา 5% หมด บางประเทศโต 8% เราอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก เหมือนคนป่วยในไอซียู หลาย ๆ นโยบายของเพื่อไทยจะเป็นการกระตุ้นครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อให้เราขึ้นมาทำมาหากิน มีรายได้ที่เหมาะสมได้
เราจึงต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วย 1.ระยะเวลาการใช้ 6 เดือน เราต้องการให้มีการใช้จ่าย ร้านค้า SMEs อุตสาหกรรมทั้งหลายจะได้สั่งผลิตสินค้า ทำให้เกิดการซื้อขาย เศรษฐกิจจะได้หมุนเวียน
2.รัศมี 4 กิโลเมตร เราไม่อยากให้ทุกคนเข้ามาใน กทม. แล้วมาจับจ่ายใช้สอยในห้างใหญ่ ๆ อย่างเดียว ไม่อยากให้ไปภูเก็ต พัทยา หาดใหญ่ อย่างเดียว แต่เราอยากให้ใช้ในชุมชนอื่น ๆ
แต่พอนโยบายออกมาบางคนบอกว่า 4 กิโลเมตรไม่มีอะไรเลย เช่น ในจังหวัดที่มีการพัฒนาต่ำ ซึ่งข้อดีของบล็อกเชน เราสามารถขีดวงมากขึ้นกว่า 4 กิโลเมตรได้ แต่เราต้องถามประชาชนด้วย
ส่วนเรื่องประชานิยม เอาเงินมาจากตรงไหนนั้น คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปมี 50 ล้านคน ตัวเลขกลม ๆ 5 แสนล้านบาท สมมุติถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กว่าจะได้ทำเรื่องนี้ออกมา เช่น 1 มกราคมปีหน้า
สิ่งที่จะเกิดขึ้น เราใส่เงินเข้าไปใน digital wallet คนก็จะมาจับจ่ายใช้สอย รัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นแสนล้านแล้ว สวัสดิการคนจนหลาย ๆ อย่างก็ต้องลดลงไป งบประมาณ 4-6 หมื่นล้านที่เคยใช้ก็จะค่อย ๆ ลดลงไป
งบฯทหารก็อาจจะขอเขามาได้ไหม 2-3 หมื่นล้าน รวมถึงการบริหารจัดเก็บภาษีในปีหน้า ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยศึกษามาว่าจะเก็บได้มากขึ้น เพิ่ม 2 แสนล้าน
“การใส่เงิน digital wallet เราหวังว่าจะทำให้คนอยู่ในฐานภาษีมากขึ้น ระยะยาวก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น เพราะไม่ได้ให้ประโยชน์กับชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ยืนยันตรงนี้ไม่ได้รังแกเจ้าสัว กีดกันเจ้าสัว จะใช้เงินที่ไหนก็ได้”
หรือ 1 หมื่นบาท ถ้าเราเป็นหนี้ธนาคารพาณิชย์อยู่ เราเอาเงินตรงนี้ไปชำระหนี้ได้ไหม ซึ่งยังไม่ได้คุยกันตรงนี้ ยังต้องไปถามประชาชน วันหนึ่งอาจจะบอกให้ 20% เอาไปใช้หนี้ได้ ถ้าเอาไปทำตรงนั้นได้ก็จะแก้ปัญหาใหญ่คือหนี้ครัวเรือน เมื่อดอกเบี้ยเขาลดลง เขาก็จะไปซื้อของได้มากขึ้นอยู่ดี
เรายังมีอีกหลายนโยบาย เพิ่มรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี การเติมเงิน 2 หมื่นบาทต่อครอบครัว เมื่อรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า คิดหรือว่ารายได้ครัวเรือนจะไม่ถึง 2 หมื่น ปัจจุบันสำรวจ 3 ล้านครัวเรือน อาจจะเหลือแค่ 5 แสนครัวเรือน เพราะนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมีเยอะแยะมาก เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมโตไม่ต่ำกว่า 5%
วาง KPI รัฐมนตรี
นักรบต้องมีขุนพลคู่ใจ หากวันข้างหน้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องมี “ขุนพลคู่ใจ” หรือไม่ “เศรษฐา” ตอบว่า “โควตาของผมศูนย์ เลขาฯนายกฯ ยังไม่มีเลย ทีมงานของผมคือทีมงานดาต้า ทีมงานคนรุ่นใหม่ที่จบด็อกเตอร์หลาย ๆ เรื่อง ที่มาช่วยคิดว่าประเทศอื่นเขาทำอย่างไร รัฐสวัสดิการที่สแกนดิเนเวียเขาทำกันอย่างไร แล้วมาดูของเราว่าเหมาะสมตรงไหน ตรงไหนทำได้ ตรงไหนทำไม่ได้ เรื่องเทค เรื่องบล็อกเชน มีทีมงานของผม แต่ผมมีศูนย์ โควตารัฐมนตรี ศูนย์คน”
แต่หลักคิด การบริหารจัดการที่ “เศรษฐา” มีความคิดไว้คือ “ถ้าพรรคส่งคนมาให้คนนี้เป็นรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ บอกคุมอะไร คุมกรมปศุสัตว์ใช่ไหม บอกมา 3 ข้อ ผมจะเติมอีก 1 เป็นข้อที่ 4 แล้วถามว่า 3 ข้อที่คุณบอกจะทำให้ผมได้เมื่อไหร่ เมื่อมี 310 เสียงแล้ว จะอ้างว่าสภาไม่ผ่าน และถ้าไม่เสร็จจะว่าอย่างไร เพราะผมโดนนะ นี่คือ KPI รัฐมนตรี”
กับคำถามที่ว่า ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย 1-10 อันดับแรก ก็มองเห็นแล้วว่าใครจองกระทรวงไหนบ้าง จะจัดการอย่างไร “เศรษฐา” กล่าวว่า “ไม่มีประโยชน์หรอกครับมาคิดตอนนี้ มันเหมือนกับกลัวผี หรือกลัวอะไรสักอย่าง ไม่มีประโยชน์ อย่าไปคิดดีกว่า”
แต่ถ้าเรานั่งหัวโต๊ะต้องมี KPI เศรษฐากล่าวว่าแน่นอนครับ เราต้องให้เกียรติเขา เพราะเขาเข้ามาต้องมีไอเดียของเขา เช่น สมมุติมีคนจองกระทรวงอุตสาหกรรม เขาก็ต้องมีนโยบายของเขา ผมก็มีนโยบายของผม ต้องมาคุยกัน
เช่น เรื่องใบ รง.4 ต้องออกเร็วขึ้น เรื่องอ้อยจะซื้อจากไหน จะไปเชื่อมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างไร เชื่อมกับกระทรวงการต่างประเทศเรื่องเจรจากับเพื่อนบ้านอย่างไร ที่เกี่ยวข้องกับการเผา
“ทุกอย่างทำงานหนักหมด ไม่ทำงานหนักไม่ได้ เสาร์-อาทิตย์ ไปตีกอล์ฟ วันธรรมดา 8 โมงครึ่งมาถึง 4 โมงเย็นขับรถเลี้ยวออกไป เราไม่ใช่ข้าราชการ ผมไม่กลัวที่มาเจอนักธุรกิจ ผมคิดว่าผมสามารถต่อรองได้ ถ้าขอมาไม่ make sense ผมก็ไม่ให้ ถ้าเสนอมา 10 ข้อ ข้อที่ไม่ make sense ก็ไม่ทำ อยากเห็นบ้านเมืองเจริญหรือเปล่า นักธุรกิจทุกคนถ้าบ้านเมืองเจริญ ของเขาก็ขายได้อยู่ดี”
ส่วนเผื่อใจกับความผิดหวังหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า สเต็ปแรกถ้าได้ 310 เสียงก็โอเค แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องบริหารความคาดหวัง ธุรกิจ บริษัทก็ไม่เหมือนกับที่เราคาดหวังไปทั้งหมด เราต้องอยู่กับความเป็นจริง อายุ 60 กว่าแล้ว ก็เจอความผิดหวังมาตั้งเยอะอย่าท้อแล้วกัน ความตั้งใจสำคัญ วันนี้ถามว่าเหนื่อยไหมที่มาทำตรงนี้ แต่ผมอยากเดินเข้ามาเอง
- เปิดประวัติ เศรษฐา ทวีสิน จากซีอีโอ สู่ แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย
- เปิดประวัติ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย คนที่ 3
- เปิดชื่อ 100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย โควตารัฐมนตรี-บ้านใหญ่
- เปิดใจ เศรษฐา แคนดิเดตนายกฯ “อยากเห็นสังคมเท่าเทียม”
- แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ในหมอกควัน
- เปิดประวัติ แพทองธาร ชินวัตร สายเลือดการเมือง สานฝันแลนด์สไลด์