ครม.ไฟเขียว ขึ้นมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 หมายเลข 9 ฟรี ช่วงสงกรานต์

มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 หมายเลข 9
แฟ้มภาพ

ครม.อนุมัติยกเว้นค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 หมายเลข 9 ยาว 7 วัน ช่วงเทศกาลสงกรานต์

วันที่ 4 เมษายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9

ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ตอนกรุงเทพฯ-เมืองพัทยา รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) ทางแยกเข้าชลบุรี ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ทางแยกเข้าพัทยาและตอนบ้านหนองปรือ-บ้านฉาง รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (บ้านอำเภอ)

และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน และตอนบางปะอิน-บางพลี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี’66 ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันพุธที่ 12 เม.ย. 66 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันอังคารที่ 18 เม.ย. 66 รวมระยะเวลา 7 วัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องกันระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย. 66 รวม 5 วัน ที่คาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว เป็นผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง เกิดความคล่องตัว แล้วยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพ ของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศด้วย

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ประเมินผลจากการดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว คาดว่าจะมีการการสูญเสียรายได้ประมาณ 164.71 ล้านบาท โดยคาดการณ์จากปริมาณจราจรช่วงดำเนินการประมาณ 4,239,600 คัน และได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เงินค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และหมายเลข 9 ที่จัดเก็บได้

เป็นเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งกรมทางหลวงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยนำส่งเป็นเงินนอกงบประมาณ (ทุนหมุนเวียน) และนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497

และ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 จึงไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณแผ่นดิน หรือภาระทางการคลัง ในอนาคต และไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินการที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป ตามมาตรา 169(1) ของรัฐธรรมนูญ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นอกจากนี้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจที่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 267 ล้านบาท

ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจาการใช้รถและมูลค่าการประหยัดเวลาจากการเดินทาง รวมทั้งยังมีผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้รวมอยู่ด้วย ได้แก่ การเพิ่มกำลังซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ และผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 227 ล้านบาท