นิพนธ์ ประชาธิปัตย์ เปิดศึกชิง ส.ส.ภาคใต้ สู้พรรคประยุทธ์ กู้วิกฤติ กทม.

นิพนธ์ บุญญามณี ประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณการเมือง
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

การเลือกตั้งในรอบ 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ให้บทเรียนหน้าใหม่แก่พรรคประชาธิปัตย์ นับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งได้รับชัยชนะทั่วภาคใต้ แต่ก็ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน บางรอบสูญพันธุ์ในพื้นที่ กทม. แต่ก็ยังได้เป็นขั้วเดียวกับฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้ง 2566 นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 5 รับอาสาเป็นแม่ทัพภาคใต้ ชิง 60 ที่นั่ง ท่ามกลางพรรคใหญ่ที่ลงไปชิงชัย ไม่ต่ำกว่า 4 พรรค อาทิ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย ชาติพัฒนากล้า ที่ทุกพรรคล้วนมีที่มาจากขุนพลเก่าประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น 

“ประชาชาติธุรกิจ” นัดสัมภาษณ์พิเศษกับ “นิพนธ์” ในวันที่ประชาธิปัตย์เลือดไหลออกมากที่สุด ในรอบทศวรรษ

ในสนามเลือกตั้งภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่านับ 1 ใหม่หรือไม่

เราไม่ได้นับ 1 ใหม่ เพราะว่าประชาธิปัตย์เคยผ่านสถานการณ์อย่างนี้ในภาคใต้มาหลายรอบแล้ว ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งประชาธิปัตย์แข่งขันสูงทุกครั้ง ประชาธิปัตย์เป็นตัวตั้ง คนเลยวิจารณ์เยอะหน่อย

ผมย้อนหลังไปตอนที่ลง ส.ส.ครั้งแรก ปี 35/1 ประชาธิปัตย์แข่งกับพรรความหวังใหม่ มาแรงมาก และพื้นที่ กทม. แข่งกับพรรคพลังธรรม  กรุงเทพฯ พลังธรรมกวาดเกือบหมด เหลือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนเดียว ผมมาเป็น ส.ส.พร้อมกับคุณอภิสิทธิ์

ตอนนั้น จังหวัดสงขลา ผู้แทนฯ 7 คน ประชาธิปัตย์ได้ 3 คน ได้เขตละ 1 คน เขต 1 ได้ผม เขต 2 ได้ท่านไสว พัฒโน เขต 3 ได้ท่านไตรรงค์ สุวรรณคีรี ย้อนไปปี 21 ปี 22 ตอนนั้นแข่งกับพรรคกิจสังคม ประชาธิปัตย์ก็แพ้กิจสังคม

ADVERTISMENT

“ประชาธิปัตย์เราอยู่ในการเลือกตั้งทุกครั้งในภาคใต้ แต่พรรคอื่น มีบ้าง ไม่มีบ้าง ล้มหายตายจากไปก็บ้าง เราเรียกว่าพรรคเฉพาะกิจ ประชาธิปัตย์อยู่มา 77 ปี แต่พรรคอื่นที่ อยู่กันชั่วครั้งชั่วคราว เลือกตั้งไม่เกิน 2 ครั้ง 3 ครั้ง ก็ล้มหายตายจาก”

ภาคใต้มีคู่แข่งทั้งพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย

ในอดีตเราเคยแข่งกับพรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม เราก็แข่งกันมาแล้ว มันพิสูจน์ให้เห็นแล้ว สมัยเลือกตั้ง 35/1 แข่งกับพลังธรรม แข่งกับความหวังใหม่ วันนั้นประชาธิปัตย์ได้ 16 ที่นั่งในภาคใต้ จาก 46 ที่นั่ง เลือกตั้ง 62  เราได้ 22 เรายังเป็นอันดับ 1 อยู่ แต่น้อยลง เราเคยสูงสุดปี 48 วันนั้น ส.ส.ภาคใต้มี 54 คน ประชาธิปัตย์ได้ 52

ADVERTISMENT

ประเมินคู่ต่อสู้ พรรคพลังประชารัฐ เป็นอย่างไรบ้าง

พลังประชารัฐวันนี้ กับ พลังประชารัฐปี 62 ปัจจัยต่างกันเยอะมาก ตั้งแต่ตัวบุคคล สถานการณ์การเมือง ความหวาดระแวง ความหวาดกลัวในขณะนั้นเยอะมากที่ทำให้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจ ประกอบกับอาจจะ อาจจะ ใช้คำว่าอาจจะ การที่ประชาธิปัตย์ประกาศไม่อยู่ฝั่งหนึ่งฝั่งใดก็อาจจะเป็นปัจจัยหลักเหมือนกัน เป็นบทเรียนหนึ่งที่ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น

“ผลกระทบเวลาพูดอะไรออกไป เวลาส่วนกลางพูดอะไรออกไป คนที่ได้รับผลกระทบ คือ ผู้แทนฯ ในเขตเลือกตั้ง เราต้องระมัดระวังในการส่งสัญญาณแมสเสจทางการเมือง”

พรรครวมไทยสร้างชาติ มี พล.อ.ประยุทธ์ มีจุดแข็งที่มีอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์เป็นจำนวนมาก

เราต้องไปดูบทเรียนเรา ครั้งหนึ่งที่บอกว่าประชาธิปัตย์ออกไปครึ่งพรรคและไปใช้คำเรียกพรรคนั้นว่าเป็นคนประชาธิปัตย์ เราก็เคยมีมาแล้ว เราแยกแยะออกได้ วันนี้  ท่านชวน หลีกภัย ยังเดินบอกอยู่ให้เชื่อในระบบ อย่าเชื่อตัวบุคคล เราเป็นสถาบันทางการเมือง เราไม่ฝากผีฝากไข้ที่คนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่บอกว่าหมดหัวหน้าพรรคคนนี้แล้วล่มสลาย ไม่ใช่ นี่คือความต่าง

“เราไม่ได้บอกว่า อยู่แค่ 2 ปีนะ แล้วอีก 2 ปีหน้าคุณค่อยไปวัดดวงกันเอาเองว่าจะเป็นยังไง คนเห็นอนาคตทีละ 2 ปี ไม่ใช่ บางทีนักธุรกิจเขาต้องวิเคราะห์ระยะยาว ไม่ใช่ปีต่อปี”

พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนนิยมดีในภาคใต้ ประเมินตัวเองอย่างไร

เราก็ต้องไปดู เราก็ต้องพยายามบอกและสื่อกับพี่น้องประชาชนเหมือนกัน เราก็ต้องไปบอกว่า ความเป็นประชาธิปัตย์ จะทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพอย่างไร วันที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล อยู่ร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ ประชาธิปัตย์ทำอะไร 4 ปีที่ผ่านเราทำอะไร ประชาชนดูได้ เราพูดอนาคต 4 ปี เราไม่ได้พูดอนาคตทีละ 2 ปี

คู่แข่งอีกคนที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญ คือ ภูมิใจไทย เลือกตั้งครั้งที่แล้วแจ้งเกิดในภาคใต้ เลือกตั้งรอบนี้ปักหมุดอีกหลายจุด

เป็นเงื่อนไขที่ต้องไปดูว่า เกิดขึ้นอย่างไร เราเชื่อว่าพี่น้องประชาชนรู้ว่า 4 ปีที่ผ่านมา คนของแต่ละพรรคทำอะไร และมีเรคคอร์ททั้งหมด ว่า แต่ละคนที่พี่น้องประชาชนเลือกมาแล้วในที่สุดเป็นอะไร ทำอะไรในสภา ทำอะไรที่ทำให้เกิดผลกระทบเสียหายในพื้นที่

เรื่องกัญชา ยาเสพติด ไม่เป็นไร ไปพูดกันบนเวที เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนฯ เรื่องเสียบบัตรแทนกันก็เป็นปัญหาทั้งหมด พี่น้องประชาชนรู้

การเลือกตั้งทุกครั้ง ทุกพรรคต้องไปแข่งกับประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าสนาม นี่เป็นครั้งแรกที่ทุกพรรคไม่ได้รู้สึกว่าไปแข่งกับประชาธิปัตย์

ยิ่งแข่งกันมากเท่าไหร่ประชาธิปัตย์ยิ่งได้เปรียบเท่านั้น เพราะประชาธิปัตย์คิดว่าอย่างน้อยคนที่เป็นแฟนคลับประชาธิปัตย์ก็มีอยู่แล้วมั่นคง ส่วนที่คิดว่าไม่ใช่แฟนประชาธิปัตย์ก็ไปแบ่งกัน non democrat มีทุกรอบ ไม่ใช่มีครั้งนี้ครั้งแรก ยิ่งหลายพรรคยิ่งไปเฉลี่ยกันเอง

ผมเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะได้คะแนนมากกว่าเดิมกว่าเมื่อปี 62 เรามีการทำโพลยู่ทุกระยะ เราไม่ได้ทำ 2,000 ตัวอย่างทั้งประเทศ เขตเลือกตั้งหนึ่ง พื้นที่หนึ่ง อำเภอหนึ่ง เราทำ 3,000-4,000 ตัวอย่าง ทำ 2-3 รอบ เป็นที่มาของผู้สมัครบางคนไม่ผ่านโพล ต้องเปลี่ยนคน ก่อนจะทำไพรมารีโหวต

บ้านใหญ่ประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ไม่เหมือนบ้านใหญ่ในภาคอื่น ๆ คือ มีคุณมีโทษกับประชาชนในพื้นที่ ปกปักรักษา ช่วยเหลือดูแล แต่บ้านใหญ่ประชาธิปัตย์ทำไมไม่เป็นแบบนั้น

วัฒนธรรมทางการเมืองแต่ละภาคไม่เหมือนกัน การปลูกฝังคำว่าบ้านใหญ่ ต้องไปดูว่า เราใช้นิยามอย่างไรกับคำว่าบ้านใหญ่ ถ้าบ้านใหญ่ต้องมีบริษัทรับเหมาพ่วงด้วยอย่างนี้ประชาธิปัตย์น้อย อาจจะไม่มีเลยก็ได้ เพราะวัฒนธรรมในประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งมาจากนักคิด มาจากนักกฎหมาย มาจากนักธุรกิจก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องเป็นผู้รับเหมาหมด ทุกคนต้องมีเครือข่ายธุรกิจท้องถิ่นเอาไว้เพื่อได้ประมูลโครงการ เพื่อให้คุมโครงการ ไม่ใช่อย่างนั้น

ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่จะเรียกว่าเป็นพรรคเสรีชนก็ได้นะ เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคอื่น ๆ แต่ว่า ผมก็แปลกใจ วันหนึ่งผมมาอยู่ที่นี่ เมื่อ 30-40 ปีก่อน ก็คิดว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ค่อนข้างก้าวหน้าที่สุด วันนี้เขาบอกว่าจัดลำดับว่า ประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรคที่เรียกว่าอนุรักษนิยมไปแล้ว

ทำไมคนส่วนใหญ่มองว่าประชาธิปัตย์เป็นอนุรักษนิยมเป็นเช่นนั้น

นี่คือสิ่งที่แปลก แต่ผมก็บอกว่า ความรอบคอบ วุฒิภาวะ อย่างนี้จะเรียกว่า อนุรักษนิยมคงไม่ใช่ ในความเห็นผม นี่คือสิ่งที่ความคิดก้าวหน้า แม้เราจะก้าวหน้าอย่างไรก็แล้วแต่

ในสนามเลือกตั้งครั้ง 2566 อะไรคือแมสเสจทางการเมืองของพรรค

ประชาธิปัตย์จะส่งแมสเสจให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร การสร้างรายได้ในภาคเกษตรกร ตั้งแต่ชาวนา ชาวสวนยางพารา ชาวสวนปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง จากโครงการประกันรายได้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 27 ล้านคน 9 ล้านครัวเรือน ที่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายของประชาธิปัตย์

คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณ ทำได้ไว ทำได้จริง 4 ปีที่ผ่านมาเราใช้เงินดูแลเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ ประมาณ 5  แสนกว่าล้านบาท ครอบคลุมพืช 5 อย่าง ใช้เงินผ่าน ธ.ก.ส.จ่ายตรงไปยังเกษตรกร ไม่มีรั่วไหล ไม่มีทุจริต 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเกษตรกรเอาผลิตผลมาเท ล้อมทำเนียบ

หากประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาลอีก สำนักงบประมาณต้องกันเงินไว้ ปีละ 1 แสนล้านบาท กรอบวงเงิน 5 แสนล้านล้านบาทใช่ไหม

ใช่ ซึ่งเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ การทำให้สินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ อัดฉีดเงินเข้าระบบ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียน และเป็นการรักษาเสถียรกภาพทางราคา เป็นการดูแลกลุ่มอ่อนแอ เป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณว่าจะทำต่อไป

ประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจน ออกโฉนดภายใน 4 ปี 1 ล้านแปลง คนที่ครอบครองที่ดินอยู่ที่ไม่ใช่ที่ดินของรัฐออกโฉนดให้หมด เช่น ที่สาธารณะ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ สปก. ป่าสงวน ประกาศนโยบายเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้ชาวบ้าน จ่ายแค่ 110 บาทต่อ 1 แปลง 1 คำขอ ส่วนที่ดินของรัฐในเขตป่าเสื่อมโทรมจะออกสิทธิทำกินให้

โอกาสที่จะได้คะแนนเพิ่มในภาคอีสานกับเหนือมีแค่ไหน

ช่วงแรกมีปัญหาบ้าง คนไม่เข้าใจนโยบายประกันรายได้ว่าเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล คนอาจจะสับสนบ้าง แต่พออธิบาย ได้ขึ้นเวทีปราศรัย แถลงข่าวเป็นระยะ ประชาชนรับรู้รับทราบว่า นโยบายประกันรายได้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำได้ไว้ ทำได้จริง ทำมาครบ 4 ปี

นโยบายประกันรายได้เหมือนเป็นเหรียญสองด้าน เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่เป็นภาระทางการคลังระยะยาว ประชาธิปัตย์จะแก้โจทย์นี้อย่างไร

การดูแลกลุ่มคนที่อ่อนแอจำเป็น การลดภาระและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มคนมีโอกาส เราปล่อยให้เกษตรกรผลิตแล้วราคาต่ำมายาวนาน เอาเปรียบเกษตรกรเกินไป คนกลุ่มนี้ 30 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ การสร้างเสถียรภาพทางราคาจึงจำเป็น เทียบกับจำนำข้าวคนละเรื่องกัน นโยบายประกันรายได้ส่วนต่างไม่มีรั่วไหล ถึงมือเกษตรกรทุกบาททุกสตางค์ การที่จะทำให้เกษตรมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ถ้าเราจะใช้งบประมาณบ้างก็เป็นสิ่งจำเป็น

เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลถ้าประชาธิปัตย์มีเสียงที่มีนัยทางการเมืองมากพอ สิ่งที่ต้องถือไปเจรจาคือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ

คิดว่ายังเป็นเงื่อนไขเดิมที่เราต้องการทำ แต่ปัจจัยต่าง ๆ ต้องมาคุยกันในรายละเอียด ซึ่งประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเราจะทำอะไร

กทม.ไม่มีประกันรายได้ จะจูงใจคน กทม.ให้หันลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์อย่างไร

คน กทม.จะได้ประโยชน์จากนโยบายธนาคารชุมชน ในกทม. 2,000 กว่าชุมชน ชุมชนละ 2 ล้านบาท

นิพนธ์ บุญญามณี ประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณการเมือง

ต่างจากกองทุนหมู่บ้านอย่างไร

ความที่เป็นธนาคารอาจจะมีระเบียบมากกว่า มีวินัยการเงินการคลังมากกว่า กรุงเทพฯก็ต้องได้ ฐานความคิด คือ อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ฐานราก เพราะคนที่อยู่ในฐานรากระดับล่างได้เงินมาแล้วจ่าย เศรษฐกิจหมุนเวียนได้

เราดูแลแม้กระทั่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขยายย่อย (SMEs) กองทุนเอสเอ็มอี 3 แสนล้าน ปลดล็อก กบข.และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำเงินมาชำระค่าผ่อนบ้านได้ 30 %

“ผมไม่อยากไปพูดหมดว่าเอาเงินมาจากไหน พูดหมดเดี๋ยวเพื่อนเอาวิธีการไปทำอีก หลายคนสงสัยเอาเงินมาจากไหน ประชาธิปัตย์มีวิธีการมองไว้แล้ว บางอย่างบอกไม่ได้ ให้เพื่อนไม่รู้ก็ให้ไม่รู้ต่อไป”

คนกรุงเทพฯ ประเมินว่าประชาธิปัตย์ ช้า เก่า ไม่ทันสมัย

ประชาธิปัตย์พยายามทำให้เห็นว่า ประชาธิปัตย์ไม่ได้ช้า แต่เราแบ่งความช้ากับความรอบคอบไม่เหมือนกัน เราแบ่งความสะใจกับทำอะไรไว้แล้วมันให้ความสะใจแต่ผลอะไรที่มันเกิดขึ้นในวันข้างหน้าคนรุ่นใหม่ต้องมารับ

เปรียบเทียบจำนำข้าวกับประกันรายได้สิ จำนำข้าวติดคุกกันมากี่คนแล้ว เป็นหนี้อยู่เท่าไหร่ ความเสียหายที่ต้องชดใช้วันนี้ยังไม่หมด แต่ประกันรายได้ทุกบาทอยู่ที่เกษตรกรหมด ไม่ได้อยู่ที่เจ้าของโรงสี นี่คือ ส่วนต่าง สะใจกับไม่สะใจ หรือว่าทำอย่างอื่นแล้วบอกว่าเร็วแล้วรับผิดชอบความเสียหายมันเกิดขึ้น ประชาธิปัตย์เวลาประกาศอะไรออกไปเราต้องรับผิดชอบ เราถึงมีหัวหน้าพรรคมา 8 คนแล้ว พรรคอื่นหัวหน้าพรรคไม่เกินสองคนสามคนก็เรียบร้อย

จะส่งสัญญาณให้คนกรุงเทพฯ อย่างไร เพื่อให้ประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.กลับคืนมา

คนกรุงเทพฯกับประชาธิปัตย์เป็นของคู่กัน บางครั้งเราผิดพลาดบ้างคนก็ลงโทษเรา ปี 21 เราแข่งกับประชากรไทย คนก็ลงโทษประชาธิปัตย์ เราได้ พ.อ.ถนัด คอมันต์ คนเดียว ปี 35/1 เราแข่งกับพลังธรรมเราได้คุณอภิสิทธิ์คนเดียว ปี 62 เราพลาด เรายอมรับว่าเราพลาด ทำอะไรที่เป็นการส่งสัญญาณพลาดบ้าง เรายอมรับ ประชาธิปัตย์ไม่มีที่นั่งในกรุงเทพฯ

แต่หลังจากเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เราเริ่มเห็นสัญญาณคนกรุงเทพฯ เริ่มให้อภัยประชาธิปัตย์ เรามี สก.9 ที่นั่ง ได้ลำดับที่สอง 7 ที่นั่ง นั่นคือสิ่งที่เรามีความหวังว่าเลือกตั้งรอบนี้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ จะให้โอกาสประชาธิปัตย์ เราขายความเป็นสถาบันทางการเมืองที่พึ่งพาได้ ฝากผีฝากไข้ได้ นโยบายฉบับสมบูรณ์ที่ส่งให้กกต.ความหนา 120 หน้า ความเป็นสถาบันต้องทำแล้วต้องรับผิดชอบ

ขั้วความคิดของประชาธิปัตย์ผูกติดอยู่กับฝ่ายอนุรักษนิยมมาโดยตลอด ใน พ.ศ.นี้ ประชาธิปัตย์อยู่ขั้วความคิดอะไร

ถ้าเขาจะผลักบอกว่าประชาธิปัตย์เป็นฝั่งอนุรักษนิยม ผมคิดว่าเป็นอนุรักษนิยมในฝ่ายก้าวหน้า ไม่ใช่อนุรักษนิยมที่ล้าหลัง อนุรักษนิยมจนไม่ลืมหูลืมตา

เป็นอนุรักษนิยมที่ก้าวหน้าที่ เห็นว่า อะไรดี อะไรไม่ดี รัฐธรรมนูญไม่ดีประชาธิปัตย์ไม่รับ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชาธิปัตย์รับ เราไม่ใช่คนที่ไม่ยอมรับ ไม่เคารพมติ

บนหน้ากระดานการเมืองตอนนี้พรรคไหนบ้างที่เป็นอนุรักษนิยมก้าวหน้าขั้วเดียวกับประชาธิปัตย์

ผมไม่อยากไปวิเคราะห์พรรคอื่น เดี๋ยวจะเป็นประเด็นอีก

พรรคไหนอยู่แถวเดียวกันประชาธิปัตย์บ้าง

เราไม่กล้าบอกว่าใครอยู่กับเรา แต่เราบอกว่า ถ้าจะเลือกเราเลือกแบบนี้ เลือกประชาธิปัตย์ วันที่เราคิดตั้งพรรคประชาธิปัตย์อุดการณ์ข้อแรกเลย คือ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปัตย์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถ้าพรรคการเมืองยืนเรียงกันเอาก้อนหินโยนไป มีพรรคไหนอุดมการณ์เหมือนประชาธิปัตย์บ้าง

บอกไม่ได้ บอกไม่ได้จริง ๆ ว่าจะมีกี่พรรค บางทีมองเผิน ๆ ก็เป็นประชาธิปไตย แต่ลึก ๆ ไม่ใช่ก็ได้

เวลาพูดว่าใครเป็นพวกเดียวกับประชาธิปัตย์มีชื่อพรรคไหนในใจไหม

ก็พอมี แต่บางที ผมเลยบอกว่า ไม่ใช่อนุรักษนิยมกลุ่มเดียวกัน อนุรักษนิยมในประชาธิปัตย์ อนุรักษนิยมแบบก้าวหน้า

อนุรักษนิยมมีหลายเฉด พล.อ.ประยุทธ์ อนุรักษ์เฉดเดียวกับประชาธิปัตย์ไหม

ต่างกัน อย่างน้อยประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ ลงเลือกตั้ง ไม่ต้องไปพูด สอง สาม แล้วนะ มองระบบประชาธิปไตยต่างกัน

ประชาธิปัตย์ เป็นเพื่อนพล.อ.ประวิตร มากกว่าเป็นเพื่อน พล.อ.ประยุทธ์

ก็ไม่เชิงอย่างนั้น เอาไปวิเคราะห์เป็นเฉด ๆ กัน ต้องดูพฤติกรรมในการกระทำด้วย

ประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์คบคนยาก

ไม่ใช่คบคนยาก แต่ประชาธิปัตย์มีหลัก เวลาทำอะไรถึงต้องโหวต จะเป็นจุดอ่อนก็ได้ จะเป็นจุดแข็งก็ได้ ลงคะแนนทุกทีแตกกันทุกที อันนี้จุดอ่อนยอมรับ แต่ทำให้เห็นว่า ลูกชาวบ้านที่นี่มีสิทธิ์มีเสียงได้

บทเรียนจากการเลือกตั้งปี 62 อะไรที่คิดว่าประชาธิปัตย์จะไม่ก้าวพลาดอีก

ประชาธิปัตย์พยามยามปรับตัวให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับผิดชอบมากขึ้น เช่น กรุงเทพฯ ทำให้เห็นว่าประชาธิปัตย์มีคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเยอะมาก ให้โอกาสคนรุ่นใหม่  คนทุกรุ่นอยุ่ด้วยกันได้

ขั้วการเมืองแบบไหนที่ประชาธิปัตย์อยุ่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจทำงานได้ ขั้วการเมืองแบบไหนที่ประชาธิปัตย์อยู่ไม่ได้อึดอัด

ประชาธิปัตย์จะไม่พูดล่วงหน้าแล้ว จะดูว่าพี่น้องประชาชนตัดสินใจอย่างไร แล้วถึงจะบอก ถ้าไปบอกก่อนก็แสดงว่าไม่ต้องฟังชาวบ้านแล้ว

ถ้าเพื่อไทยได้ ส.ส.เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

เขาก็จัดรัฐบาล

ประชาธิปัตย์จะไปร่วมไหม

ประชาธิปัตย์ใครก็บอกไม่ได้ เพราะต้องโหวตกัน คราวที่แล้วไปร่วมกับลุงตู่ เห็นด้วย 60 ไม่เห็นด้วย 16 นะ ไม่ใช่ไม่มีนะ ต้องโหวตนะ ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ใครไปรับแล้วรับเลยนะ ไม่ได้ กลับมานี่โหวตนะ ประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารบอกอย่างนี้แล้ว ที่ประชุมไม่เชื่อก็มีนะ เลือกคนนี้มาเป็นรัฐมนตรี พอส่งเข้าโหวต ไม่ได้นะ แพ้ นี่คือจุดแข็ง ใครก็สั่งไม่ได้ พรรคนี้ไม่มีเจ้าของ พรรคบางพรรคถึงขนาดคนในพรรคเป็นลูกจ้าง ไม่ได้