
เพราะกติกาการเลือกตั้งที่ละเอียดยิบ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ยันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จนทำให้พรรคการเมืองเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สิ้นชีพในทางการเมือง
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคใหญ่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่สะดุดปมเงินบริจาค ทำให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพวกต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
ขณะที่กฎหมายถูกนำมาใช้เป็น “เครื่องมือ” ทำลายล้างทางการเมือง พรรคไหนพลาดท่ามีสิทธิร่วง
หนึ่งในวิธีป้องกันความเสี่ยงของ พรรคการเมืองขาใหญ่ในยุทธจักร ขาดไม่ได้ คือ นักกฎหมาย-มือเทคนิคเลือกตั้งประจำพรรค และนักกฎหมายที่พรรคการเมืองดึงมาร่วมงานในช่วงหลังมานี้ มักเป็นอดีต “ลูกหม้อ” คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกษียณอายุจาก กกต.แล้วมาเข้าร่วมงานพรรคการเมือง
ในการเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคมนี้ มีอย่างน้อย 3 พรรคการเมือง ที่ “ดึง” อดีตคน กกต.ไปร่วมงานกับพรรคการเมือง ในฐานะ “ที่ปรึกษากฎหมาย” ร่วมทีมกฎหมายประจำพรรค หรือขั้นน้อยที่สุดไปช่วยอบรมความรู้ให้กับผู้สมัครของพรรค
หนึ่ง พรรคเพื่อไทย ดึง “กฤช เอื้อวงศ์” อดีตรองเลขาธิการ กกต. เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยมานานกว่า 1 ปี ภายหลังเกษียณอายุจาก กกต. พรรคเพื่อไทยได้ชักชวนเขาให้เข้าร่วมทีมกฎหมาย และปัจจุบันเขาเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 81
ทุกอีเวนต์สำคัญ ไม่ว่าการประชุมใหญ่พรรค-ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารพรรค อบรมผู้สมัครทั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และการเลือกตั้ง ส.ส.ก็มี “กฤช” อยู่เบื้องหลัง
เมื่อถามเหตุผลว่าทำไมถึงร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย “กฤช” บอกว่า พรรคเพื่อไทยอาจมองเห็นถึงความรู้ความสามารถ พรรคจึงชวนเข้ามาร่วมงาน
แต่เหตุผลหลักที่มาลงเล่นการเมือง เขาบอกว่า ในอดีตเคยเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง จึงอยากลองพลิกบทมาเป็นผู้เล่น จะได้มองเห็นได้หลาย ๆ มุม
เขาบอกจ็อบเดสคริปชั่น ในพรรคเพื่อไทย “กฤช” กล่าวว่า จะช่วยดูเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง มีส่วนช่วยแนะนำข้อกฎหมายตั้งแต่การรับสมัคร ช่วยตรวจสอบคุณสมบัติ ดูขั้นตอนไพรมารี่ การเตรียมการยื่นใบสมัคร ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งให้ความรู้การปฏิบัติการหาเสียงเลือกตั้ง มีข้อห้ามอะไร อะไรที่ปฏิบัติได้ อะไรที่ไม่ควรปฏิบัติ ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ลงหาเสียงเป็นพรรค
จากนั้น ให้ชุดความรู้การทำหน้าที่ของสมุห์บัญชี การทำบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัคร
อบรมความรู้ฝ่ายกฎหมายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบรมผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง บอกวิธีการทักท้วง การคัดค้าน การรายงานผลคะแนนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริต
แม้กระทั่งนโยบายพรรคการเมืองที่ใช้ในการเลือกตั้ง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยดูไม่ให้ “ผิดกติกา” เพราะทุกนโยบายจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ มีการวิเคราะห์งบประมาณต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 57
พรรคต่อมา คือ พรรคภูมิใจไทย ที่ใช้บริการ “ธนิศร์ ศรีประเทศ” อดีตรองเลขาธิการ กกต.เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 49
“ธนิศร์” ไปช่วยงานพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 2562 ในการช่วยดูข้อกฎหมายต่าง ๆ
และในช่วงพรรคภูมิใจไทยถูกถล่มทางการเมือง กลายเป็นตำบลกระสุนตกช่วงใกล้เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 บุคคลที่มักนั่งแถลงข่าวร่วมกับศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรค ก็คือ “ธนิศร์”
ตัวอย่างเช่น กรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นต่อ กกต.ให้ยุบพรรคภูมิใจไทย อันเนื่องมาจากเงินบริจาคพรรคการเมือง ไม่เป็นไปตาม ม.72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็มี “ธนิศร์” ช่วยอธิบายเรื่องข้อกฎหมาย
อีกพรรคหนึ่งที่ใช้บริการอดีตคนใน กกต. คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ใช้บริการของ “สมศักดิ์ สุริยะมงคล” อดีตรองเลขาธิการ กกต. ที่เกษียณอายุไปตั้งแต่ปี 2559 โดยถูกเชิญไปเป็นวิทยากร ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสัมมนาผู้สมัคร ส.ส. 400 เขต
ก่อนหน้าไปปรากฏตัวบนเวทีพรรครวมไทยสร้างชาติ “สมศักดิ์” ยังแวะเวียนอยู่ในรั้ว กกต. ในฐานะเลขานุการประจำกรรมการการเลือกตั้ง (ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย) แต่ขณะนี้ได้จบบทบาทแล้ว
นี่คือเบื้องหลังขุนพลกฎหมาย 3 พรรค ที่ดึงอดีตคนของ กกต.ไปร่วมทีม ให้รอดพ้นกับดักการเมือง