ย้อนรอยคดีถือหุ้นสื่อ “ธนาธร อนาคตใหม่” หลัง “พิธา ก้าวไกล” ถูกแฉถือหุ้น ITV

หุ้นสื่อ ITV พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หุ้นสื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

“ธนาธร อนาคตใหม่” ถึง “พิธา ก้าวไกล” กับวิบากกรรมถูกยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หลังมีปมถือหุ้นสื่อ

วันที่ 10 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน กกต. กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยต้องการให้ กกต. ตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวานนี้ (9 พ.ค. 66) โดยระบุว่า “ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะ ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะ ผจก.มรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว ฝ่ายทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้”

จากพิธา ถึงธนาธร ชวนย้อนรอยคดีถือหุ้นสื่อ

เรื่องนายพิธา ถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมกำลังจับตามองท่าทีของหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น กกต., ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนสงสัยว่าปัญหานี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่ ?

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นคดีหุ้นสื่อจุดไต้ตำตอจากวันที่ 25 มีนาคม 2562 หลังการเลือกตั้งได้เพียง 2 วัน “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้เป็น ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่

กระทั่ง 16 พฤษภาคม 2562 กกต. มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ “ธนาธร” ให้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า “ธนาธร” เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

Advertisment

เนื่องจากพยานหลักฐาน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ “ธนาธร” ถือหุ้น เป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัท พบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณาถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนและยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชี

Advertisment

ขณะที่สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น หรือ บอจ. 5 ที่ กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562

ขณะที่ กกต.ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเท่ากับว่า เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ “ธนาธร” ยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้งยังถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตัดสินให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสภาพ ส.ส. จากการถือหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้ร่วมกันแถลงคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดี คือ สั่งไม่ฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เหตุไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานว่าเข้าไปเกี่ยวข้องหลังโอนหุ้น

ส่วนกรณีของนายพิธา ถือหุ้น ITV ในฐานะผู้จัดการมรดก จะนำไปสู่วิบากกรรมทางการเมืองของเขาหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมกำลังจับตามองในยามที่กระแสความนิยมของพิธาและพรรคก้าวไกลนำโด่งก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้