เปิดประวัติสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ทีวีเสรีแห่งแรกของประเทศไทย

ITV หรือสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถือเป็นสถานีโทรทัศน์ย่าน UHF แห่งแรกของประเทศไทยที่ออกอากาศในระบบฟรีทีวีภาคพื้นดิน และหากสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ยังอยู่ ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้จะมีอายุถึง 27 ปี

จุดเริ่มต้นไอทีวี สื่อเสรีแห่งแรกของไทย

แนวคิดการก่อตั้งไอทีวี (ITV) เกิดขึ้นในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เนื่องจากในขณะเกิดเหตุการณ์สื่อโทรทัศน์หรือช่องฟรีทีวีในขณะนั้น ไม่ได้รายงานข่าวเหตุการณ์นองเลือดตามความเป็นจริง มีเพียงสื่อจากต่างประเทศเท่านั้นที่รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวออกอากาศได้ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ประชาชนจึงไม่สามารถรับรู้ข่าวการเข้าปราบปรามผู้ประท้วงในช่วงนั้นได้

ประกอบกับ มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐบาลใช้นโยบายจัดตั้งและเปิดดำเนินการสถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อเสนอข้อมูลให้คนไทยมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นกลางอย่างแท้จริง จึงทำให้การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีในระบบ UHF เกิดขึ้น

ไอทีวี เริ่มออกอากาศ และผู้ประกาศข่าวคู่แรก

สำหรับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ได้เริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 เวลา 19.00 น. โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอข่าวภาคค่ำประจำวัน ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกที่เรียกรายการข่าวโดยไม่มีคำว่าภาคและมีชื่อสถานีเรียกทุกครั้ง เช่น ข่าวเช้าไอทีวี, ข่าวเที่ยงไอทีวี และข่าวค่ำไอทีวี เป็นต้น เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นสถานีข่าวและสาระความรู้อย่างแท้จริงโดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานีไอทีวี (ITV) คือ นายกิตติ สิงหาปัด พร้อมกับนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวในขณะนั้น

ไอทีวี ปรากฏการณ์ใหม่ในวงการโทรทัศน์

ด้วยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อการนำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้สู่ประชาชน จึงเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทาน เพื่อให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ในปี  2538 สปน.จึงได้เปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์เสรีขึ้น

โดยกลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลและได้รับอนุมัติให้ดำเนินงานโครงการสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่ นับเป็นสถานีโทรทัศน์ในระบบ UHF ช่องแรกของประเทศไทย

จากนั้น กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ก่อตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการสถานี โดยมีการลงนามในสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 พร้อมทั้งเชิญชวนให้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมถือหุ้นและบริหารสถานีด้วย

ในช่วงแรกของการดำเนินสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) มีระบบการบริหารที่เน้นภาพลักษณ์ของการนำเสนอข่าวสารและสาระเป็นหลัก โดยมีนายเทพชัย หย่อง เป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าว พร้อมทั้งนำทีมงานจากเครือเนชั่น เข้ามาเป็นบุคลากรในการขับเคลื่อนสถานีและดำเนินงาน ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้รับความนิยมจากประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก ทำให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) เป็นที่ยอมรับในการนำเสนอข่าวสาร และยังมีความโดดเด่นในด้านการทำข่าวเชิงสืบสวนในเวลาต่อมาอีกด้วย

CR ยูทูบ : Teerat Ratanasevi

วิกฤตเศรษฐกิจพ่นพิษไอทีวี

ภายหลังจากที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย ด้านการนำเสนอรายการข่าว และรายการสารคดีเชิงข่าว ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ต่อมาไม่นานเกิดประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจช่วงต้มยำกุ้งในปี 2540 ปี และหลังจากนั้นบริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

ต่อมารัฐบาลในยุคของรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้มีการแก้สัญญาสัมปทาน โดยอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นสามารถถือหุ้นไอทีวีได้เกิน 10% ได้ หลังจากที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก จนกระทั่งกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ได้เชิญชวนให้กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี  2544  มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทอีกครั้ง โดยกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นตกลงซื้อหุ้นสามัญของไอทีวีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนกว่า 106 ล้านหุ้น รวมทั้งเสนอซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ทำให้กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด จนส่งผลให้พนักงานฝ่ายข่าวของสถานีบางส่วนไม่เห็นด้วย และกลุ่มผู้บริหารและพนักงานฝ่ายข่าวบางส่วนก็ตัดสินใจลาออกในที่สุด

ผู้ถือหุ้นไอทีวีขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน

ปี 2547 กลุ่มชินคอร์ปได้ทำเรื่องขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน ขอลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 800 ล้านบาท โดยอ้างว่าจ่ายสูงกว่าเอกชนรายอื่น และ สปน.ผิดสัญญาโดยให้ช่องของรัฐมีโฆษณาได้ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2547 อนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยหลังการยื่นแก้ไขสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ลดค่าสัมปทานเป็นปี 230 ล้านบาท

โดยแก้ไขสัดส่วนรายการเป็น สาระ 50% บันเทิง 50% พร้อมทั้งให้รัฐจ่ายค่าชดเชย 20 ล้านบาท เนื่องจาก สปน. ไม่ได้ใช้การคุ้มครองตามสัญญาสัมปทาน และช่วง Prime Time 19.00-21.30 น. ไม่จำเป็นต้องเป็นรายการข่าว สารคดี สาระประโยชน์ แต่ชนิดรายการดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาการออกอากาศทั้งหมด

ทำให้ไอทีวีเริ่มมีรายการบันเทิงมาแข่งขันกับช่องอื่นจนเรตติ้งและรายได้จากโฆษณาถือว่าเป็นอันดับ 3 ของโทรทัศน์ช่องฟรีทีวีในยุคนั้น แต่เมื่อมีข่าวด่วนที่สำคัญ หรือถ้าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินยังคงตัดเข้าข่าว เช่น เหตุการณ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ เมื่อปี  2547 ที่ไอทีวีให้ความสำคัญอย่างมาก เป็นต้น

ยุคสุดท้ายของไอทีวี

วันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการกรณีมีข้อพิพาทกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไอทีวีจึงต้องจ่ายค่าสัมปทานเท่าเดิม 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยทาง สปน.ได้คำนวณค่าสัมปทานและค่าปรับย้อนหลังกรณีการปรับผังรายการของไอทีวี ซึ่งบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในช่วงต่อมา

จาก ITV เปลี่ยนผ่านสู่ ThaiPBS

อย่างไรก็ตาม หลังจากไอทีวีไม่สามารถชำระค่าปรับจำนวนมหาศาลนั้นได้ จึงถูกบอกยกเลิกสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้กิจการของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถูกโอนไปเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ ภายใต้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และเกิดการเปลี่ยนผ่านชั่วคราวไปสู่ “ทีไอทีวี” (TITV) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550

และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้รูปแบบของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นทีวีสาธารณะ จนกระทั่งนำไปสู่ทีวีสาธารณะแห่งแรกของไทย “ไทยพีบีเอส” (ThaiPBS) ที่ดำเนินกิจการโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service) หรือ ส.ส.ท. เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551

งบฯปี 2564 มีกำไรสุทธิกว่า 10 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีสถานะนิติบุคคลที่ “ยังดำเนินการอยู่” โดยส่งงบการเงิน ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) และมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ชั้นที่ 27 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

โดยในรายงานงบฯกำไรขาดทุน ปี 2564 ระบุว่า มีรายได้รวม 22,993,678 บาท มีรายจ่ายรวม 10,248,139 บาท และมีกำไรสุทธิ 10,177,063 บาท

มีประวัติการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน 6 ครั้ง ดังนี้

  • 20 ต.ค. 2541 ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท
  • 26 ก.ค. 2543 ทุนจดทะเบียน 1,550 ล้านบาท
  • 15 ก.ย. 2543 ทุนจดทะเบียนกว่า 387 ล้านบาท
  • 8 ก.ย. 2543 ทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท
  • 28 พ.ค. 2546 ทุนจดทะเบียน 6,300 ล้านบาท
  • 29 ม.ค. 2547 ทุนจดทะเบียนกว่า 6,083 ล้านบาท
  • 30 ม.ค. 2547 ทุนจดทะเบียน 7,800 ล้านบาท (ถึงปัจจุบัน)

ที่มา : https://www.songsue.co/9644/ , https://prachatai.com/journal/2006/07/9166 ,file:///C:/Users/PH5031.DESKTOP-7RSCJ4F/Downloads/Fulltext%2316_313974.pdf