BITE SIZE : งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ฉบับกระชับ

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ย้อนกลับไปเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566 พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคการเมือง ถือฤกษ์ยาม ครบรอบ 9 ปี การรัฐประหาร ปี 2557 แถลงลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) การจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน โดย 23 นโยบายร่วม ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในนามรัฐบาล

หนึ่งในข้อที่ปรากฎบน MOU ฉบับดังกล่าว คือ “จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นวิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting)” โดยระบบงบประมาณดังกล่าว มีใช้ในต่างประเทศมานานแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย ระบบงบประมาณนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก

ขณะเดียวกัน ทำให้ทุกคนสงสัยกับระบบนี้ว่า ระบบนี้คืออะไร มีหน้าตาของการทำงบประมาณเป็นอย่างไร และมีข้อดี-ข้อจำกัดอย่างไร

Zero-Based Budgeting คืออะไร ?

งบประมาณฐานศูนย์ หรือ Zero-Based Budgeting ถูกพัฒนาขึ้นโดย ปีเตอร์ เพียร์ (Peter Pyhrr) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ซึ่งตอนนั้นเขาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ และระบบการจัดทำงบประมาณนี้ ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก และ 3 ปีต่อมา จิมมี่ คาร์เตอร์ ผู้ว่าการรัฐจอร์เจียในขณะนั้น ได้นำระบบดังกล่าว มาใช้ในการจัดทำงบประมาณของรัฐ

งบประมาณฐานศูนย์ คือการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงความจำเป็น และความเหมาะสมของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น โดยไม่คำนึงถึงงบประมาณที่เคยได้จากปีก่อน โดยระบบนี้ จะตั้งคำถาม 3 เรื่อง คือ

  1. ความจำเป็นของโครงการ ในปีงบประมาณต่อไป ยังจำเป็นอยู่หรือไม่
  2. งบประมาณที่ขอมา สูงเกินจริงหรือไม่
  3. ผลลัพธ์ที่ผ่านมาของโครงการ เป็นอย่างไร สำเร็จมากน้อยขนาดไหน

ซึ่งหน่วยงานที่ทำแผนงบประมาณมาเสนอ จะต้องแจกแจงและเล่าออกมาผ่าน 3 คำถาม ให้เห็นความจำเป็นและความสมเหตุสมผลของงบประมาณที่เสนอมา

ข้อดี-ข้อจำกัดของ Zero-Based Budgeting

การจัดงบประมาณแบบฐานศูนย์ มีข้อดี คือ ช่วยให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าที่สุด ตามความจำเป็นของสถานการณ์ รวมถึงช่วยตรวจสอบงบประมาณที่ดูสูงเกินจริงได้

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานภาครัฐ ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยเช่นกัน

แต่ระบบงบประมาณฐานศูนย์ ยังมีข้อจำกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในการทำงบประมาณลักษณะนี้ ที่อาจจะต้อง workshop กันอย่างหนัก หรือแม้แต่การเตรียมเอกสารและการพิจารณางบประมาณที่ต้องใช้เวลานาน อาจทำให้การพิจารณางบประมาณเสร็จสิ้นล่าช้าออกไปอีก

ยิ่งโดยเฉพาะประเทศไทย ที่ใหม่มาก ๆ สำหรับระบบงบประมาณแบบนี้ ยิ่งต้องทำความเข้าใจระบบนี้อีกยกใหญ่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ประเทศไทยต้องใช้เวลาในการวางระบบ และเตรียมตัวอย่างน้อย 2 ปี จึงจะเปลี่ยนใหม่ได้ หากเตรียมการอย่างเป็นระบบและจริงจัง พร้อมกับขมวดตอนท้ายว่า ซื้อไอเดียนี้ และควรลองดูสักรอบ

แม้ระบบงบประมาณแบบดังกล่าว จะเป็นเรื่องที่ใหม่มากและยังต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาและเข้าใจระบบนี้ แต่การให้เวลากับการเรียนรู้และลองผิดลองถูกกับของใหม่ ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เราอาจจะได้เรียนรู้หรือได้อะไรบางอย่างมาปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศไทย

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.4 ที่ https://youtu.be/4rOq1pmF_8A