พิธา พบสภาหอการค้าไทย โชว์วิชั่น อีก 4 ปี เศรษฐกิจไทยโตเหนือเส้นค่าเฉลี่ยโลก

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา นำทีมเศรษฐกิจก้าวไกล พบสภาหอการค้าไทย โชว์วิสัยทัศน์ ลั่น 4 ปีข้างหน้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเหนือเส้นค่าเฉลี่ยโลก

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วย ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, วรภพ วิริยะโรจน์ และ ศุภโชติ ไชยสัจ พบผู้บริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็น รับฟังข้อเสนอ โดยมี สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ

นายสนั่นกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจากการเลือกตั้ง ทำให้เห็นว่าแม้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และขอให้การจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปโดยราบรื่น รวดเร็ว และมีเสถียรภาพ หน้าที่หลักของหอการค้าฯ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

มี 3 เรื่อง หนึ่งคือการประสานงาน (connect the dots) เชื่อมทุกภาคส่วนในประเทศไทยและเชื่อมไทยกับเวทีโลก สองคือส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) และสร้างความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งเชื่อว่าใน 2 เรื่องหลัง ทั้งหอการค้าไทยและพรรคก้าวไกลน่าจะเห็นตรงกัน พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จากนั้น สภาหอการค้าฯ ได้สะท้อนประเด็นปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยรวม 13 ด้าน อาทิ การแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) แนวทางการช่วยเหลือ SMEs การปรับโครงสร้างค่าต้นทุนพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ รวมทั้งสอบถามถึงนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อรับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอจบ นายพิธาแจ้งที่ประชุมว่า ขอลุกจากที่นั่งหัวโต๊ะ และนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลด้วยการยืนบรรยายหน้าจอมอนิเตอร์ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เริ่มต้นกล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาลและการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (Transition Team) ที่ปัจจุบันแบ่งเป็น 7 ทีมย่อย

โดยมีวาระหลักที่ต้องบริหารจัดการร่วมกัน ยึดตามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจมีความราบรื่น บริหารความคาดหวังของสังคม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและภาคเอกชน เพราะความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ

นายพิธากล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ไม่ว่าพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ย หรือรายได้ต่อหัว ดังนั้น เป้าหมายของพรรคก้าวไกลในการบริหารเศรษฐกิจ คือทำให้ในอีก 4 ปีข้างหน้าไทยอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยโลก มีเศรษฐกิจที่เติบโตควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ

เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเน้นการส่งออก พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากเกินไป เมื่อวันนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เช่น วิกฤตโควิด หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เมื่อดู SMEs ซึ่งถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ จะเห็นว่า SMEs ไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าช่วงก่อนโควิด จากช่วงก่อนโควิดปี 2562 สัดส่วนของ SMEs ต่อ GDP อยู่ที่ 35.3% ในปี 2565 ยังอยู่ที่ 34.9% แม้ตัวเลขดูไม่มาก แต่มูลค่าที่หายไปนั้นมหาศาล

พิธากล่าวว่า ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก หลังช่วงโควิดคือ 3F ประกอบด้วย Fast-Forward Growth เสริมเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ คือไฮเทค เช่น อุตสาหกรรมชิป และไฮทัช เช่น content economy, Fair game สร้างกติกาและกลไกภาครัฐเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ด้วยการทลายทุนผูกขาด เช่น สุราก้าวหน้า และกระจายอำนาจ, Firm Ground วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง ด้วยการส่งเสริมความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

เช่น ลดใบอนุญาตลง 50% ขยายพื้นที่ชลประทานและประปาคุณภาพ และพัฒนาทุนมนุษย์ เช่น คูปองเรียนเสริมทักษะ เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส. รวมถึงอาจมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดึงดูด Digital Nomad เข้ามาในสาขาที่ประเทศไทยยังขาดแคลน เช่น data scientist

ส่วนนโยบายเพื่อส่งเสริม SMEs คือ 5ต ประกอบด้วย 1.แต้มต่อ เช่น หวยใบเสร็จ 2.เติมทุน เช่น ทุนสร้างตัว รายละ 100,000 บาท 3) ตัด cost เช่น SMEs นำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี 4) เติมตลาด เช่น กำหนดชั้นวางสินค้า SMEs ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และ 5) ตั้งสภา SMEs ให้มีอำนาจต่อรองเทียบเท่าทุนใหญ่

นายสนั่นกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการพบปะที่สร้างสรรค์ ทำให้รู้สึกสบายใจ เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลมีความชัดเจนและจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน


จากการหารือพบว่าเห็นตรงกันหลายเรื่อง เช่น การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ การสร้างความยั่งยืน โดยหลังจากนี้จะมีการประสานงานพูดคุยกันต่อไป ส่วนความกังวลของบางฝ่ายเกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนั้น ตนเห็นว่าเรื่องเงินเฟ้อ ค่าไฟคือตัวร้ายที่สุด