รัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลใหม่ โรดแมป 18 เดือน ล้างไพ่อำนาจ ส.ส.-ส.ว.

พานรัฐธรรมนูญ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

วาระรื้อ-โละ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นนโยบายหลักของ 8 พรรค ที่พยายามจัดตั้งรัฐบาล นำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย

พรรคก้าวไกล บรรจุวาระร่าง “รัฐธรรมนูญใหม่” ภายใน 100 วันแรก โดยจะจัดการประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ฉบับก้าวไกล ปักธงรื้อกลไกสืบทอดอำนาจ ใช้งบฯ 3,000 ล้านบาท สำหรับการทำประชามติ 2 ครั้ง ใช้งบฯประชามติ 2 ครั้ง เพื่อขอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี

ขณะที่พรรคเพื่อไทย บรรจุวาระรื้อรัฐธรรมนูญ อยู่ใน แผนบันได 4 ขั้น

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะผลักดันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. ให้จบภายใน 18 เดือน

ขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญ

เปิดขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลใหม่ เริ่มต้นได้ 3 ทาง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9

ADVERTISMENT

หนึ่ง สภาเห็นชอบส่งเรื่องไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

สอง ครม.เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเหตุอันสมควร

ADVERTISMENT

สาม ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 หมื่นคน เข้าชื่อต่อประชาชนเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มอบสิทธิขาดการจัดประชามติไว้ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ชะตาว่าจะทำประชามติหรือไม่

เนื้อหาในมาตรา 11 ระบุว่า “เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ทำประชามติ) ในการที่จะให้มีการออกเสียง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับ กกต.”

“ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันแตกต่างจากที่กำหนดไว้ได้”

“ในประกาศดังกล่าวต้องระบุ เรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียง เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้โดยสะดวก”

เบื้องต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ จะต้องทำประชามติอย่างน้อย 2 รอบ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ที่วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง

ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญ

แก้รัฐธรรมนูญ 4 คูหา

แต่ความจริงแล้วการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนอาจต้องเข้าคูหาถึง 4 ครั้ง นี่คือ เส้นทางการแก้รื้อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขั้นที่ 1 ครม.ชุดใหม่ มีมติทำประชามติ ถามประชาชนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. หรือไม่ (พ.ร.บ.ประชามติ 2564 มาตรา 11)

ขั้นที่ 2 จะต้องมีการจัดทำประชามติ จะต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันแตกต่างจากที่กำหนดไว้ได้) (พ.ร.บ.ประชามติ 2564 มาตรา 10)

ขั้นที่ 3 ให้ กกต.เผยแพร่รัฐธรรมนูญและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนทราบ ภายใน 15 วัน นับแต่มีการประกาศให้มีการออกเสียง และส่งข้อมูลให้เจ้าบ้านทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันออกเสียงประชามติ และเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศของรัฐด้วย (พ.ร.บ.ประชามติ 2564 มาตรา 14)

ขั้นที่ 4 ลงประชามติ โดย กกต.สามารถให้ลงคะแนนออกเสียงประชามติ ผ่านทางไปรษณีย์ เครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น โดยวิธีการนั้นสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี (พ.ร.บ.ประชามติ 2564 มาตรา 12)

ทั้งนี้ การออกเสียงประชามติ จะเป็น “ข้อยุติ” ต้องมีเงื่อนไข 2 ข้อ (มาตรา 13)

ข้อ 1.ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ผู้มีสิทธิออกเสียง มีจำนวน 52 ล้านคน (เทียบกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา) จะต้องมีผู้มาลงประชามติเกินกว่า 26 ล้านคน ซึ่งเป็น “กึ่งหนึ่ง” ของผู้มีสิทธิออกเสียง 52 ล้านคน

ข้อ 2 คะแนนออกเสียง “เห็นชอบ” จะต้องมีจำนวนเสียงเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ

ซึ่งเป็นการเข้าคูหาครั้งที่หนึ่ง

หลังประชามติรอบแรก

ขั้นตอนที่ 5 หากผลการออกเสียงประชามติ ปรากฏว่า ประชาชนที่มาลงประชามติไม่เห็นชอบให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนรัฐธรรมนูญ 2560 วาระแก้รัฐธรรมนูญก็จะตกไป

แต่ถ้าประชาชนเห็นชอบการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เดินหน้าต่อโดย คณะรัฐมนตรี เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมไปที่รัฐสภา โดยเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. (รัฐธรรมนูญ มาตรา 256)

ทั้งนี้ ในวาระแรก จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 เสียง และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน

วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง จากนั้นรอ 15 วัน

วาระที่สาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านด้วยเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 376 เสียง และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน และยังต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ ส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

ขั้นตอนที่ 6 จะต้องมีการทำประชามติกันอีกครั้งหนึ่งว่าประชาชนจะเห็นชอบหรือไม่ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหมวด 15 จะต้องมีการทำประชามติ) เป็นการเข้าคูหาทำประชามติครั้งที่สอง

ขั้นตอนที่ 7 เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วัน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 256)

ขั้นตอนที่ 8 เข้าสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 256 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติ เพื่อเปิดช่องให้มี ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการเข้าคูหาครั้งที่สาม

ขั้นตอนที่ 9 เมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไปทำประชามติรอบสุดท้าย เป็นรอบที่สี่

ขั้นตอนที่ 10 นำขึ้นทูลเกล้าฯ มีผลบังคับใช้

กระบวนการทั้งหมดอาจคิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ปี ทั้งนี้ ยังมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องตีความในขั้นตอนที่ 6 ว่าจะต้องทำประชามติซ้ำ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำกับไว้หรือไม่

เพราะในโรดแมปรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับพรรคก้าวไกล ให้มีการทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง โดยตัดขั้นตอนที่ 6 ทิ้งไป เนื่องจากได้สอบถามประชาชนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว

ย้อนอดีตแก้รัฐธรรมนูญ

หลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ มีความพยายามแก้ไข แต่ล้มเหลวถึง 5 ครั้ง

ครั้งแรก เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยแบ่งเป็น ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ฉบับ มีประเด็น อาทิ แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตนายกฯ, ยกเลิกคำสั่ง คสช., แก้ไขระบบเลือกตั้งมาเป็นบัตรสองใบ, ลดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ

ส่วนฉบับของฝ่ายรัฐบาลมี 1 ฉบับ คือ แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และฉบับของไอลอว์ เสนอแก้ไข 6 ประเด็น

แต่ปรากฏว่าที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านแค่ 2 ฉบับ คือ ร่างของฝ่ายค้าน และร่างฝ่ายรัฐบาล ในประเด็นให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่าปลายทางของทั้งสองร่างก็จบลงกลายเป็น “วาระแท้ง” ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้อำนาจรัฐสภา ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน

ครั้งที่สอง เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวม 13 ฉบับ ผ่านการรับรองด้วยเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาตามข้อบังคับในรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ประเด็นใหญ่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง แบบบัตรสองใบที่ใช้ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

ครั้งที่สาม เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่ม รี-โซลูชัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นำโดยคณะก้าวหน้า ตั้งชื่อว่ารัฐธรรมนูญ “ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์” แต่ก็ไม่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา

ครั้งที่สี่ เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ฉบับแรก แก้ไขมาตรา 272 เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงร่างของพรรคเพื่อไทย ที่เกี่ยวข้องกับที่มานายกรัฐมนตรี แต่ถูกตีตกทั้งหมด

ครั้งที่ห้า ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ “ร่างปลดล็อกท้องถิ่น” ของคณะก้าวหน้า เสนอโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ

ส่วนครั้งที่หก แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 159 ที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลายเป็น “วาระค้าง” การพิจารณาจากสภาที่แล้ว

ระยะเวลา 18 เดือน-2 ปี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ อาจทำให้รัฐบาลในเวลานั้นถูกกดดันให้ “ทิ้งอำนาจ” เข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญใหม่

เป็นจังหวะเดียวกับที่ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567

การมีรัฐธรรมนูญใหม่ ถึงคราวเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างแท้จริง…ทั้งกระดาน

ไม่ว่าสภาบน-สภาล่าง