รัฐบาลใหม่ลุยล้างมรดกประยุทธ์ รื้อรัฐธรรมนูญ-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พล.อ.ประยุทธ์

22 พฤษภาคม 2566 เวียนมาบรรจบครบรอบการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้าผู้ก่อการยึดอำนาจ

9 ปี แห่งการครบรอบรัฐประหารของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทิ้งมรดก-กลไกสืบทอดอำนาจ คสช.ซุ่ม-ซ่อน และกับดักในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

โดยมี ส.ว.บทเฉพาะกาล 250 คน ถูกเลือกมาจาก 10 อรหันต์-คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองหัวหน้า คสช.ขณะนั้น เป็นประธานแต่งตั้ง โดยจะหมดอายุขัยในเดือนพฤษภาคม 2567

ยัง “เลือกตัวเอง” ไปเป็น ส.ว.เสียเอง ได้แก่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ส่วนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ชิงลาออกจากคณะกรรมการสรรหา

นอกเหนือจากคัดเลือกเพื่อน-พี่-น้อง 3 ป. ยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

ยังให้อำนาจ ส.ว. 250 ลากตั้ง มีอำนาจติดตาม-เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง ครม.ต้องแจ้งความคืบหน้าทุกสามเดือน

รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 65 โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำกับดูแลให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ

ส่งผลให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และหมายถึงการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มาจากการแต่งตั้ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” จำนวน 17 คน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 29 ว่า ในระหว่างที่อายุของ ส.ว. 250 คน การดำเนินการของหน่วยงานรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติ ครม. หรือการดำเนินการของ ครม.โดยตรง

“ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่าเป็นปัญหาว่ามติ ครม. หรือการดำเนินการของ ครม. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว”

“หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของ ครม. หรือการดำเนินการของ ครม. เป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเร็ว”

ทั้งนี้ ให้ ป.ป.ช.พิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

โดยองค์กรอิสระที่ถูกเลือกมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นองคาพยพของ คสช.ที่มาจากแม่น้ำ 5 สาย และ ส.ว.ลากตั้ง คอยรับ-ส่งลูกคำร้องที่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล โดยเฉพาะคดี “หุ้นไอทีวี”

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการคัดเลือกในยุค คสช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และยังคงอยู่ในตำแหน่ง ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน หมดวาระปี 2566

ตุลาการอีก 6 คน ได้รับการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ตามบทเฉพาะกาล ได้แก่ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ เทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ครบวาระปี 2570 และนายอุดม รัฐอมฤต วาระสุดสิ้นปี 2572

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกคัดเลือกมาในช่วงรอยต่อ-เปลี่ยนผ่านจาก “รัฐบาล คสช.” สู่ “รัฐบาลสืบทอดอำนาจ” ถูกตั้งข้อครหา “ใบสั่ง”

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดปัจจุบันที่มาจากการคัดเลือกในยุค คสช.-สนช. และ ส.ว. ได้แก่ นายสุภา ปิยะจิตติ ได้รับการต่ออายุให้อยู่ครบ 9 ปี โดยจะหมดวาระปี 2566

อีก 3 คนได้รับความเห็นชอบจาก สนช. ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ

แม้จะครบวาระ 7 ปีตามกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ไปแล้วเมื่อปี 2565 แต่ใน “บทเฉพาะกาล” ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ 9 ปี ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับเก่า หรือจะครบวาระในปี 2567

ส่วน ป.ป.ช.อีก 2 คนที่ได้รับการคัดเลือกจาก ส.ว. คือ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีต สนช. และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา โดยจะครบวาระในปี 2570

มรดก คสช.กองใหญ่ที่ถูกทิ้งไว้ คือ ประกาศ-คำสั่ง คสช.ที่ยังถูกทิ้งไว้ แม้รัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 279 จะเปิดช่องให้ยกเลิก-แก้ไขได้ โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่ที่ผ่านมาถูกตีตกทั้ง 2 ฉบับ

ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. และร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. รวม 29 ฉบับ อาทิ

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง 2.ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 เรื่อง การดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 39/2557 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด

แต่หาก “พิธา” เป็น “นายกฯ” ยังสามารถออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี-มติ ครม.ยกเลิก ประกาศ-คำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหารล้างมรดก คสช.ได้

นั่งร้าน-กลไก คสช.ที่พรรคก้าวไกล-เพื่อไทยปักธง นับ 1 รื้อรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจและระบอบประยุทธ์ที่ถูกสร้างมาตลอด 9 ปี แต่ต้องเป็นรัฐบาลให้ได้เสียก่อน