รองปลัดเกษตรฯ ลุยชุมพรตั้งรับผลผลิตทุเรียนรอบใหม่ทะลัก 3.33 แสนตัน

ผลผลิตทุเรียน

‘รองปลัดเกษตรฯ’ ลุยชุมพรตั้งรับผลผลิตทุเรียนรอบใหม่ 3.33 แสนตัน เตรียมความพร้อมมาตรการควบคุมคุณภาพ ตอกย้ำความมั่นใจ “ทุเรียนชุมพร ทุเรียนคุณภาพดี ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” ชูจันทบุรีโมเดลเป็นต้นแบบ

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและติดตามการบริหารจัดการทุเรียนของจังหวัดชุมพร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเกาะพิทักษ์ ศาลากลาง จ.ชุมพร จากนั้นลงพื้นที่ตรวจติดตามมาตรการควบคุณคุณภาพทุเรียนที่จะออกสู่ตลาดตั้งแต่ สวน โรงคัดบรรจุ และตลาดส่งออก

“จ.ชุมพร เป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างเข้มข้นตลอดปี 2566 โดยถอดบทเรียนความสำเร็จจากการดำเนินงานควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก หรือจันทบุรีโมเดล ใช้เป็นต้นแบบในภาคใต้”

นายสุรเดช สมิเปรม

 

“ทุกฝ่ายต้องร่วมกันกำหนดแนวทางมาตรการที่ชัดเจน มีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับคุณภาพของทุเรียน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร เร่งอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ที่สำคัญต้องเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านทุกช่องทาง เพื่อเป็นการตอกย้ำและสร้างความมั่นใจ ทุเรียนชุมพร ทุเรียนคุณภาพ ได้มาตรฐานส่งออก”

นอกจากนี้ได้หารือร่วมกับ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในประเด็นการส่งเสริมให้ จ.ชุมพร เป็นศูนย์กลางตลาดสินค้าเกษตร เนื่องจากมีระบบการคมนาคมขนส่งที่ครอบคลุมทั้ง รถ ราง เรือ อากาศ โดยกระทรวงเกษตรฯ ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ในช่วงที่เกิดภัยแล้ง

ทั้งนี้ ในปี 2566 จ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 276,254 ไร่ (ร้อยละ 11.88 ของพื้นที่เกษตรกรรม) ผลผลิต 337,376 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 1,521 กิโลกรัม เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 25,490 ราย มีโรงคัดบรรจุผลไม้ 439 แห่ง ขณะที่สถานการณ์ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ ปี 2566 มีผลผลิตในฤดู 582,925 ตัน (มิ.ย.-ต.ค. 66) ผลผลิตสูงที่สุดในเดือน ก.ค. 66 จำนวน 192,348 ตัน และจะสิ้นสุดฤดูกาลในเดือน ต.ค. 66

โดยกำหนดวันเก็บเกี่ยวและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียน ปี 2566 ในพื้นที่ จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ พันธุ์หมอนทอง วันที่ 10 มิถุนายน 2566 ในส่วนราคารับซื้อทุเรียนหมอนทอง AB อยู่ที่ 165 บาท/กิโลกรัม, ทุเรียนหมอนทอง C อยู่ที่ 110 บาท/กิโลกรัม และทุเรียนชะนีอยู่ที่ 145 บาท/กิโลกรัม

ขณะเดียวกัน 14 จังหวัดภาคใต้ และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนเช่นเดียวกับภาคตะวันออก ได้แก่ 1) มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่ง (สวน) : ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน 2) การขึ้นทะเบียนนักคัด นักตัดทุเรียน 3) มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) : ตรวจความอ่อนแก่ ของทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก

4) มาตรการควบคุมคุณภาพการผลิต การตลาดทุเรียนของ จ.ชุมพร โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาทุเรียนจังหวัดชุมพร (Chumphon Durian Board) และ 5) มาตรการควบคุมผลผลิตตลาดในประเทศ (ค้าส่ง-ค้าปลีก) โดยมีคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน และ 6) การประชาสัมพันธ์เชิงรุก

สำหรับความคืบหน้าผลการดำเนินงานควบคุมคุณภาพทุเรียน จ.ชุมพร ดังนี้ 1) ขึ้นทะเบียนนักคัด นักตัดทุเรียน รวม 793 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย. 66) 2) ผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ โรงคัดบรรจุ จำนวน 201 ตัวอย่าง (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค.-9 มิ.ย. 66) 3) ตรวจก่อนปิดตู้ เข้าตรวจโรงคัดบรรจุ 4 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 5 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 5 ตัวอย่าง (ข้อมูลสะสม วันที่ 1-30 พ.ค. 66)

พร้อมกันนี้ รองปลัดลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเรียนรู้ระบบน้ำอัจฉริยะในสวนทุเรียน ของนายจีระศักดิ์ เยาวเลิศ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ต.บ้านนา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร จากนั้นติดตามการดําเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด จ.ชุมพร ณ จุดบริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน สํานักงานเกษตรอําเภอทุ่งตะโก ต.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมการดําเนินงานรับซื้อทุเรียนของโรงคัดบรรจุทุเรียน ณ บริษัท หมิงหยาง อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จํากัด ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร ก่อนเดินทางตรวจเยี่ยมตลาดสดเทศบาลเมืองชุมพร ต.ท่าตะเภา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร