
เศรษฐา หารือ ชัชชาติ ชื่นมื่น ไฟเขียวตั้งคณะทำงานร่วมแก้ปัญหา กทม.หวาน รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุน “น้องชาย” เผยความลับ รู้จักกันมานาน ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ-เศรษฐาเป็นนายกฯ
วันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงข่าวร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถึงผลการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานครว่า อาทิตย์ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสได้รับประทานอาหารกลางวันอย่างเป็นกันเองกับนายชัชชาติ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ซึ่งมีดำริกันว่าอยากจะตั้งคณะกรรมการชุดเล็กขึ้นมา 6-7 คน เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ โดยการใช้นโยบายเป็นหลัก
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- เปิด “ผังน้ำ” ประกบผังเมือง เขย่าราคาที่ดินทั่วประเทศ
ส่วนการใช้งบประมาณจะมีน้อยมาก หน้าที่ของรัฐบาลคือสนับสนุนผู้ว่าฯให้แก้ไขปัญหา อะไรทำได้ทำก่อน อาจจะใช้งบประมาณน้อย หรือไม่ใช่งบประมาณเลย เพราะเป็นเรื่องของการประสานงานของหน่วยงานราชการเพื่อสนับสนุนผู้ว่าฯ เช่น การจราจร ปัญหาอาชญากรรม เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่
นายชัชชาติกล่าวว่า วันนี้บรรยากาศสบาย ๆ อยากจะเปลี่ยนอริยาบถบ้าง การพูดคุยกันจะได้เป็นกันเอง ตนเชื่อว่าเป็นวิธีการทำให้เราพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ และไม่ต้องใช้องคาพยพใหญ่ กทม.เป็นจังหวัดที่ใหญ่ 1 ใน 3 ของจีดีพีของประเทศ พี่น้องของประเทศมีความคาดหวังทั้งเรื่องรายได้และการท่องเที่ยว เรื่องฝุ่น ปัญหารถติด การใช้ทรัพยากร กทม.จึงเป็นที่หมายตาของทุกคน
“ผมกับ ดร.ชัชชาติรู้จักกันมานาน มีการคุยกันตั้งแต่ก่อนโควิด จำได้ว่าท่านไปหาผมที่ทำงาน ผมบอกว่าท่านน่าจะเป็นสมัครนายกฯไปเลย ไม่ต้องไปเป็นผู้ว่าฯหรอก ท่านก็บอกว่า ท่านขอเป็นผู้ว่าฯดีกว่า แล้วให้ผมมาลงเป็นนายกฯแทน ซึ่งวันนี้ก็ไม่คาดฝันว่าจะมีบรรยากาศเหมือนอย่างนี้ที่เรามานั่งคุยกันอย่างพี่ ๆ น้อง ๆ ได้ พอผมรับตำแหน่งอาทิตย์ที่ผ่านมา หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ผมคิดถึงเป็นคนแรก ๆ คือผู้ว่าฯชัชชาติ ที่ท่านมาด้วยฉันทามติท่วมท้น 1 ล้าน 4 แสนคะแนน สูงมากเป็นประวัติศาสตร์ จึงเป็นภารกิจแรก ๆ ที่ผมอยากจะสนับสนุนผู้ว่าฯชัชชาติให้ทำงานลุล่วงไปด้วยดี” นายเศรษฐากล่าว และว่า
“เรื่องของการที่รัฐจะสนับสนุน หน้าที่ของผมก็คือ สนับสนุนน้องชายที่ดูแลภาคส่วนที่ใหญ่คือกทม. สั่งการหน่วยงานที่ท่านผู้ว่าฯไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรงก็จะสั่งการให้ คณะทำงานเล็ก ๆ ของเรา เช่น คมนาคมเรื่องรถเมล์ รถไฟฟ้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องของการจราจร ความปลอดภัย การท่องเที่ยว” นายเศรษฐากล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นที่ได้พูดคุยกันก่อนหน้านี้คือ คณะทำงานไม่กี่คน อาจจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงมหาดไทย คมนาคม ตำรวจ ไม่เน้นเมกะโปรเจ็กต์ ไม่เน้นการลงทุน แต่เน้นการผลักดันสิ่งที่เป็นปัญหาติดขัด เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน เรื่องการประสานงาน ส่วนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องเดินไปอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว
นายชัชชาติยังกล่าวถึงเรื่องรถไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับ กทม. คือบีทีเอส ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือมาสอบถามทาง กทม. และ กทม.จะตอบกลับไปยังกระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยรายงานให้กับนายกรัฐมนตรี
“เรากราบเรียนท่านนายกฯแล้วว่า เรื่องนี้ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชนและเอกชนผู้ลงทุน เพราะยังมีรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่ต้องเชิญเอกชนมาลงทุน ซึ่งนอกจากความโปร่งใสแล้ว ยังต้องมั่นใจด้วยว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้กระบวนการอยู่ในสภา กทม. คาดว่าภายใน 1-2 อาทิตย์จะตอบกลับไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเรียนนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง” นายชัชชาติกล่าว