โพลมติชน-เดลินิวส์แนะแก้ปากท้อง เอกชนเชียร์แจกเงินหมื่น-ขึ้นค่าแรง

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

นักธุรกิจ-แบงก์ประสานเสียงผลโพลมติชน x เดลินิวส์ สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง แนะกระตุ้นต่อ-ขึ้นค่าจ้าง เปิดผลสรุปโพล เสียงประชาชนทั่วประเทศกว่า 42,848 โหวต ชี้รัฐบาลเศรษฐาต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องก่อนร้อยละ 60.2 และเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคมอยู่ที่ร้อยละ 39.8 คนกรุงเทพฯร่วมโหวตนำโด่งร้อยละ 29.3 นับเป็นโพลประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความต้องการของประชาชนถึงรัฐบาลเศรษฐา

ผลจากความสำเร็จของเครือมติชนและเดลินิวส์ สื่อมวลชนชั้นนำระดับประเทศ ร่วมกันจัดทำ “มติชน x เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง’66” ที่สะท้อนข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างแม่นยำมาแล้ว ล่าสุดสื่อ 2 ค่าย ร่วมมือจัดทำโพล “รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร” ซึ่งมีผู้ร่วมโหวตถึง 42,848 โหวต ได้ผลออกมาว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง มากกว่าปัญหาการเมืองและการปฏิรูปโครงสร้างสังคม

โหวตแก้ปากท้อง แซงการเมือง

โดยทำการสำรวจ หรือโหวตระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือมติชน และเดลินิวส์ จากการสำรวจดังกล่าวมีการแยกคำถามออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือ ข้อที่ 1.เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม และข้อที่ 2 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ร้อยละ 60.2 ส่วนเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคมอยู่ที่ร้อยละ 39.8 นอกจากนี้ มีรายละเอียดของการโหวตในแต่ละหัวข้อดังนี้ ข้อที่ 1.เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม

จากการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญร้อยละ 21.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมร้อยละ 20.4 ปฏิรูปกองทัพ ร้อยละ 18.8 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร้อยละ 17.2 รัฐสวัสดิการ ร้อยละ 16.5 และปัญหาอื่น ๆ ร้อยละ 5.6

ข้อที่ 2.เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง จากการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ร้อยละ 25.4 แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ ร้อยละ 20.6 แก้ปัญหาการเกษตร ร้อยละ 16.9 แจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ร้อยละ 15.6 เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี ร้อยละ 15.1 และปัญหาอื่น ๆ ร้อยละ 6.3

รัฐบาลไม่ควรละเลยเสียงสะท้อน

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องแรกที่ต้องคำนึงถึงและผู้ทำโพลเองต้องยอมรับ ก็คือจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้มีจำนวนน้อยกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในการทำโพลเลือกตั้ง 2566

ขณะที่ในการทำโพลสองครั้งก่อนหน้าการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม มีผู้มาตอบแบบสอบถามประมาณ 7-8 หมื่นรายต่อครั้ง โพลรัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ? จะมีผู้ตอบแบบสอบถามราว 4 หมื่นกว่าคน หรือลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า คนอีกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ที่หายไป คือ คนที่ไม่ได้เลือกพรรคการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ หรือไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้

ดังนั้น ผลสะท้อนแรกที่ปรากฏชัดเจนในโพลครั้งนี้ คือ รัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงาน เร่งกอบกู้ความหวังและความศรัทธาของผู้คน เพื่อดึงให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากมีส่วนร่วมกับรัฐบาล ได้รู้สึกว่าตนเองก็เป็นเจ้าของรัฐบาลเศรษฐาเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อผลโพลระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ตลอดจนประเด็นการแก้ปัญหาหนี้สิน รัฐบาลก็จำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลโพลในส่วนการแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม จะพบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน นี่จึงเป็นเสียงสะท้อนอีกฟากที่รัฐบาลไม่ควรละเลย

Voter ไม่มั่นใจทิศทาง เงินดิจิทัล

“แม้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4 หมื่นรายในโพลนี้จะสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง เป็นหลัก ซึ่งดูจะตรงกับโจทย์ใหญ่ในการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา อย่างไรก็ดี จะพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ไม่ได้คาดหวังหรือให้ความสำคัญกับเรื่องการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทมากนัก

ทั้ง ๆ ที่นี่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล อาจเป็นเพราะว่าประชาชนมีความไม่มั่นใจกับทิศทางของนโยบายดังกล่าวที่ยังมีความสับสน หรือผู้ตอบแบบสอบถามอาจไม่เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบนี้ จะเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้จริง”

นายปราบต์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับโพลในครั้งนี้ยังจะมีเวทีวิเคราะห์โพลเชิงลึกในวันที่ 13 พฤศจิกายน ซึ่งจะมีรายละเอียดและความน่าสนใจอีกมาก เพราะจะมีนักวิชาการและสื่อมวลชนมาร่วมวิเคราะห์โพลจากหลากหลายแง่มุม

ไม่ว่าจะเป็น ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ ที่จะมาวิเคราะห์สถิติตัวเลขต่าง ๆ ในภาพรวม ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จะวิเคราะห์นัยของโพลผ่านมิติทางสังคมและทรรศนะของประชาชนนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ มองผลโพลผ่านมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ร่วมวิเคราะห์ผลโพลด้วยแง่มุมทางรัฐศาสตร์ และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่จะมาร่วมมองผลโพลที่เกิดขึ้นด้วยสายตานักวิเคราะห์ข่าวการเมือง

หวังจัดลำดับความสำคัญแก้ปัญหา

ด้าน นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า มั่นใจผลโพลจะเป็นเสียงสะท้อนดังก้องไปถึงรัฐบาล เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดลำดับการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน

“ทุกเสียงของท่านมีความหมาย และจะสะท้อนไปถึงรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ว่าประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหรือเดินหน้านโยบายอะไรเร่งด่วนที่สุด หวังว่ารัฐบาลจะนำเสียงสะท้อนเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์และเป็นแนวทางเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาให้ประชาชน” นายปารเมศกล่าว

ด้านนายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร ผู้อำนวยการกลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลโพลในหลาย ๆ ประเด็นน่าจะสะท้อนความคิด ความรู้สึกของประชาชนที่ตั้งใจเข้ามาทำโพลกับมติชน-เดลินิวส์ ถือเป็นปรอทวัดอุณหภูมิของประเด็นต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และจะเป็นประโยชน์รัฐบาลที่จะนำโจทย์ปัญหาและความต้องการของประชาชนไปแก้ไขได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

CIMBT ชี้ผลโพลสะท้อนกำลังซื้อไม่ดี

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ผลโพลที่ออกมาก็เป็นการสะท้อนความรู้สึกของประชาชน สอดคล้องกับที่ได้มีการสำรวจตามย่านการค้าต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งพบว่ากำลังซื้อค่อนข้างซบเซา หนักกว่าช่วงโควิด-19 ด้วยซ้ำ เนื่องจากช่วงแรกที่มีการเปิดเมือง คนนำเงินออกมาใช้กันค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้รายจ่ายสูงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น

“หรือเมืองที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเยอะ ๆ ก็สะท้อนว่า เศรษฐกิจไม่ได้ดี ดังนั้น เราถึงเป็นห่วงเรื่องการกระจายตัวของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ซึ่งเรื่องปากท้อง เรื่องค่าครองชีพ สำคัญมาก อยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะยาว ไม่ใช่กระตุ้นแล้วจบ เพราะตอนนี้ทั้งภาคค้าปลีก บริการ ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ มีหลายส่วนรอการกระจายของเม็ดเงินอยู่” ดร.อมรเทพกล่าว

เอกชนหนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลโพลมติชนจะเห็นว่า สิ่งที่ทำได้โดนใจประชาชน คือ การลดค่าครองชีพ การเพิ่มรายได้ หรือการนำเม็ดเงินมาเติมกำลังซื้อให้ประชาชน เช่น การลดค่าไฟต่อหน่วย ที่ทำได้เร็วและลดได้มากถึง 3.99 บาท แต่จะต้องทำคู่ขนานไปด้วยกัน คือ เรื่องของโครงสร้างค่าไฟทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืน

การเติมเม็ดเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็น ขณะนี้งบประมาณล่าช้าอาจจะถึง 8 เดือน เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องออกเครื่องยนต์สำคัญที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องทำก็คือจะต้องให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น การขึ้นค่าจ้าง จะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจ้าง ควรทำให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งมีไตรภาคีจะพิจารณาให้เหมาะสมสำหรับสภาพเศรษฐกิจ