“อภิสิทธิ์” ชี้ถกพรรคการเมืองอาจถูกเลื่อน ดักคอ คสช.อย่าใช้อำนาจพิเศษล้มกรอบเลือกตั้ง

“อภิสิทธิ์” มองการเมืองหลังสงกรานต์ยังไม่นิ่ง ชี้ถกพรรคการเมือง มิ.ย.อาจถูกเลื่อน เหตุร่าง กม.ส.ส.อาจประกาศราชกิจจาฯไม่ทัน ดักคอ คสช.ใช้อำนาจพิเศษลบล้างกรอบเลือกตั้งที่ รธน.กำหนดไม่ได้ เตือนหากคิดทำเกิดปัญหาแน่

เมื่อวันที่ 13 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองหลังเทศกาลสงกรานต์ว่า คสช.ต้องดำเนินการเรื่องกฎหมายให้เรียบร้อย เพราะขั้นตอนโรดแมปเชื่อมโยงกับกฎหมาย จึงต้องสะสางปัญหาที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งเนื้อหาในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 รวมถึงการส่งร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จากนั้นจะเห็นภาพชัดว่าจะมีส่วนใดที่กระทบการเลือกตั้งหรือ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสร้างความมั่นใจในเรื่องกรอบเวลาได้ โดยให้ร่นเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ให้เร็วกว่า 90 วัน จึงอยากให้ คสช.ทำให้เกิดความชัดเจนกับประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 เดือน ต่อจากนี้คงจะเห็นพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ส่วนพรรคเก่าต้องดูสิ้นเดือนเมษายนว่า จำนวนสมาชิกจะเป็นอย่างไร แต่หลังจากนี้ทุกคนก็ต้องรอ เพราะยังประชุมใหญ่ตามกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ หาสมาชิกและตั้งสาขาพรรคไม่ได้ และการที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าให้ไปขออนุญาต คสช.นั้น เป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากอนุญาตช้าหรือ ขอแล้วเขาไม่อนุญาต บางพรรคก็จะเกิดปัญหาไม่เป็นธรรม ดังนั้น คสช.จึงควรให้ระบบเดินหน้าด้วยความเรียบร้อยเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และอยากให้เข้าใจว่าพรรคการเมืองไม่ได้มีเพื่อแย่งชิงอำนาจและเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นสถาบันที่ต้องดูแลปัญหาประชาชนทั้งในช่วงที่มีและไม่มีการเลือกตั้ง

“การให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ก็จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง จึงอยากให้ คสช.ทบทวนเพื่อให้ครึ่งปีจากนี้ไปเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีความขัดแย้ง เพราะไม่ว่ากรอบเวลาเลือกตั้งจะขยายออกไปอย่างไร สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นต้องมีการเลือกตั้ง เพราะประชาชนยอมรับสถานการณ์พิเศษเพราะเรื่องความมั่นคงเท่านั้น แต่จะทำอย่างนี้ไปไม่จบ ไม่สิ้นคงไม่ได้ ในส่วนของพรรคการเมืองก็ต้องฟื้นศรัทธาประชาชนให้กลับมายอมรับการทำงานของพรรคการเมือง ซึ่งผมรู้สึกเสียดายว่าการถกเถียงทางการเมืองยังวนเวียนอยู่ว่าใครจะจับมือกับใคร ใครจะมีปัญหากับใครแต่ไม่ค่อยพูดว่า ปัญหาที่มีแต่ละพรรคคิดอย่างไร เราอยู่กับการเมืองแบบนี้มา 4 ปีเศรษฐกิจชะงักไปเท่าไหร่ อย่างไร จะแก้ไขแบบไหนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึง ปชป.ยุคใหม่ว่า จะเป็นการแข่งขันกับตัวเอง เพื่อเสนอทางเลือกให้แก่ประเทศ ซึ่งต้องทำคือ การบริหารภายในของพรรคและกำหนดจุดยืนเรื่องเศรษฐกิจ สังคมการเมือง ซึ่ง ปชป.จะเดินหน้าเป็นพรรคของประชาชนมากขึ้น เดิมมีสมาชิกมากและมีระบบเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่จะเปิดทางให้สมาชิกมีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคได้ และจะใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมเพื่อติดต่อสองทางกับสมาชิก รวมถึงสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรมมากกว่าที่กฎหมายกำหนดเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง โดยพรรคก็เปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานร่วมกับพรรคตลอดเวลา แต่ยังไม่สามารถเปิดรับสมาชิกพรรคใหม่ได้ เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ไม่ได้เปิดช่องให้ทำเช่นนั้น แต่ก็มีหลายคนที่ติดต่อไว้แล้ว เมื่อเต็มรูปแบบก็จะดำเนินการได้ง่ายขึ้น เพราะพรรคมีหน้าที่สร้างนักการเมืองทุกรุ่น อย่างไรก็ตามภายใต้กติกาใหม่ที่มีการทำไพรมารีโหวตคนรุ่นใหม่อาจเสียเปรียบคนเก่า ซึ่งพรรคจะส่งสัญญาณให้สมาชิกพิจารณาคนรุ่นใหม่ด้วยอย่าพิจารณาแต่คนเดิม

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าจะมีอดีต ส.ส.ของพรรคย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การออกไปก็เป็นสิทธิ ถ้าคิดว่าเหมาะสมที่จะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งก็มีทั้งคนออกและคนเข้า พรรคจะเสีย ส.ส.ไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน แต่ตอนนี้อดีต ส.ส.เกือบทุกคนก็มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคแล้วยกเว้นนายธานี เทือกสุบรรณ ส่วนนายเชน เทือกสุบรรณ เคยบวชจึงพ้นสมาชิกภาพไปแล้วและยังสมัครใหม่ไม่ได้ แต่ก็ยังคุยการเมืองกับคนในพรรคอยู่

หัวหน้าพรรคปชป. ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า คสช.อาจจะไม่มีการหารือกับพรรคการเมืองในเดือนมิถุนายนตามที่เคยมีการระบุไว้ว่า อาจเป็นเพราะว่าไม่มั่นใจว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศราชกิจจาฯได้ในเดือนมิถุนายนหรือไม่ เพราะมีการส่งกฎหมายไปตีความ อย่างไรก็ตาม หากมีการหารือเกิดขึ้นพรรคก็พร้อมให้ความร่วมมือ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับการผ่อนปรนคำสั่งที่เป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไร จึงไม่อยากให้คสช.ขัดแย้งในตัวเอง เพราะถ้าไม่ผ่อนปรนแล้วทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ ก็เลือกตั้งไม่ได้จะทำให้คสช.มีปัญหามากขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็จะเป็นเรื่องที่คสช.ตัดสินใจเองว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ยังเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาว่าใช้พรรคเล็กมาออกเสียงเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อว่าทุกคนเคารพรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดกรอบเวลาเลือกตั้งไว้ชัดเจนว่าให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงหวังว่าจะไม่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 มาลบล้างกรอบเวลาเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะรัฐธรรมนูญต้องใหญ่ที่สุด คสช.ออกคำสั่งลบล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าทำจะเกิดคำถาม ความสงสัยและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ควรให้บ้านเมืองเดินไปอย่างนั้น เพราะสุดท้ายก็ต้องเลือกตั้ง

ส่วนที่มองกันว่านักการเมืองต้องการเพียงแค่แสวงอำนาจเพื่อเป็นรัฐบาลเท่านั้นนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปชป. เคยปฏิเสธการเป็นรัฐบาลหรือถอนตัวจากรัฐบาลมาแล้ว โดยแสดงให้เห็นว่าพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เป็นบทพิสูจน์ชัดเจนว่าไม่ได้แสวงหาอำนาจรัฐโดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ ความสอดคล้องของนโยบายในการร่วมงานกับใคร

 

ที่มา : มติชนออนไลน์