สส. 143 คนจากอดีตพรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ยุบพรรค” และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 11 คน จำนวน 10 ปี ย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคใหม่ ชื่อ พรรคประชาชน ตั้งเป้าสมัครสมาชิกให้ได้ 1 แสนคน รับบริจาคเงินสนับสนุนพรรคให้ได้ 10 ล้านบาทโดยเร็ว
เป้าหมายสำคัญอีกด้านคือ สร้างพรรคเพื่อเป็นรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยหวังว่าจะชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน สส.มากกว่า 250 คน เป็นรัฐบาลพรรคเดียวในปี 2570
ทั้งแกนนำ สส.และกรรมการบริหารจากอดีตพรรคก้าวไกล พูดเป้าหมายเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่ผ่านมาพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ด้วยเสียงประชาชน 14 ล้านเสียง แต่ยังไม่มากพอสำหรับการเปลี่ยนแปลง
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า พรรคใหม่ ต้องทำให้ดีกว่าก้าวไกล “พรรคมวลชนที่เข้มแข็งคืออาวุธเดียวที่ประชาชนมีในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เส้นขอบฟ้าทางการเมืองของเรา คือการเลือกตั้ง 2570 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 หลังจากการตั้งพรรคอนาคตใหม่ มีเวลาอีก 3 ปีจะถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า…พรรคที่กุมข้อเสนอทางการเมืองที่แหลมคม แต่ไม่มุทะลุจนเสียงาน พรรคที่ทำงานอย่างหนัก เสียสละเพื่อประชาชน นี่คือพรรคใหม่ที่จะนำพวกเราสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า”
สอดคล้องกับความเห็นของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่วิเคราะห์ไว้ว่า พรรคใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องได้ สส.เกิน 250 คน
การประกาศเจตนารมณ์ของหัวหน้าพรรคประชาชน และเลขาธิการพรรค เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คือเป็นรัฐบาลพรรคเดียวปี 2570 และยังคงยืนยันเสนอแนวทางแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เปลี่ยนก้าวไกลเป็นพรรคประชาชน
ที่อาคารไทยซัมมิท ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ประชุมวิสามัญพรรคถิ่นพรรคกาขาวชาววิไล ที่มีวาระการประชุมเปลี่ยนชื่อพรรค เปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคใหม่ เป็นพรรคประชาชน ทั้งนี้ นอกจากที่ประชุมมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็นพรรคประชาชนแล้ว ที่ประชุมได้ข้อสรุปในส่วนรายชื่อกรรมการบริหารพรรคประชาชนทั้ง 5 คน มีดังนี้
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค นายศรายุทธ ใจหลัก เป็นเลขาธิการพรรค นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ เป็นนายทะเบียนพรรค นางสาวชุติมา คชพันธ์ เป็นเหรัญญิกพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ เป็นกรรมการบริหารพรรค
โลโก้พรรค เป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิดหัวกลับ แสดงถึงการยกประชาชนผู้เป็นรากฐานของประเทศไว้เหนือผู้ปกครอง เส้นประกบสามเส้น สื่อถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ลักษณะตัวอักษรชื่อพรรค เป็นงานสไตล์ Rectilinear ซึ่งเป็นเส้นตัด สะท้อนความเสมอภาคเท่าเทียมและทันสมัย พรรคประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน สร้างประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
นายพริษฐ์กล่าวว่า วันนี้อดีต สส.พรรคก้าวไกลทั้งหมด 143 คน ที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และ สก. 11 คนจากพรรคก้าวไกล รวมถึงแนวร่วมเครือข่ายทั่วประเทศ มาประชุมกันเพื่อตกลงร่วมกัน จะเดินหน้าต่อ ขับเคลื่อนและผลักดันการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ในนามของพรรคประชาชน
นายพริษฐ์กล่าวว่า เหตุผลใช้เลือกชื่อพรรคประชาชนนั้นเรียบง่าย เพราะเราต้องการเป็นพรรคการเมืองโดยประชาชน เพื่อประชาชน และเดินหน้าสู่การสร้างประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เราเชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตย คุณค่าสูงสุดอยู่ที่ประชาชน สถาบันการเมืองทุกสถาบันควรยึดโยงกับประชาชน ถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน และดำรงอยู่อย่างมั่นคงและชอบธรรม ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชนทุกคน
สัญลักษณ์ของพรรคที่มีชื่อภาษาอังกฤษ “PEOPLE’S PARTY” จะเป็นสัญลักษณ์สามเหลี่ยมมุมกลับ ต่อยอดมาจากแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล
ทั้งนี้ พรรคมีภารกิจมุ่งมั่นเชิญชวนประชาชน และอดีตสมาชิกก้าวไกล 100,000 กว่าคน ส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย บทถัดไปสามารถสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ ที่ตั้งเป้าหมายให้ทะลุ 100,000 คน และการร่วมบริจาคให้กับพรรคอีก ตั้งเป้าหมายให้ทะลุ 10 ล้านบาทโดยเร็วที่สุด
ตั้งเป้าเป็นรัฐบาลพรรคเดียว
นายณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า “กระบวนการทำให้พรรคประชาชนเป็นสถาบันทางการเมืองสืบต่ออุดมการณ์พรรคตั้งแต่อนาคตใหม่และก้าวไกล ตนได้รับการเลือกเป็นหัวหน้าพรรค พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าภารกิจจากนี้ สร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 2570 ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า และต้องตั้งเป้าหมายให้สูงยิ่งขึ้น เราอยากจะชนะการเลือกตั้งโดยสามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของพวกเรา”
นายณัฐพงษ์กล่าวถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่า “ตามหลักการแล้วก็ควรเป็นหัวหน้าพรรค ผมรู้ตัวว่าตัวเองยังไม่ดีพร้อม แต่พร้อมจะพัฒนาตนเองให้ดีที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง และหากในท้ายที่สุดในตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนที่จะลงมาเป็นแคนดิเดตนายกฯในการเลือกตั้งปี 2570 ก็พร้อมจะหลีกทางให้กับคนที่เหมาะสมกว่า”
“ผมคิดว่าในตอนนี้ตัวผมยังไม่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับอดีตแกนนำพรรคทุก ๆ คน แต่ผมคิดว่ามีไม่แพ้คนอื่นคือการที่นำพาพวกเรามาอยู่ตรงนี้ เพื่อทำการเมืองใหม่ที่ดีกว่าเดิม และผมก็ทำงานหนักเหมือนพวกเราทุกคน ซึ่งจะนำพาพรรคชนะการเลือกตั้งได้” นายณัฐพงษ์กล่าว
นายณัฐพงษ์ตอบคำถามถึงกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากนี้จะลดเพดานลงหรือไม่ว่า“
เราไม่เคยสื่อสารว่าลดเพดานอะไร เรายืนยันว่าเราเสนอร่างแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งพรรคฝั่งตรงข้าม และคำวินิจฉัยศาลไม่ได้สั่งห้ามแก้ไข แน่นอนว่าเราไม่ประมาท เราทำทุกอย่างรอบคอบ คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา จนยุบพรรคก้าวไกล เราต้องศึกษาอย่างดี แต่คิดว่าพวกเราต้องผลักดันเดินหน้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนนี้ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่”
ขณะที่นายศรายุทธ เลขาธิการพรรค ยืนยันว่า “การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ซึ่งเราตระหนักเรื่องนี้ดี ตั้งแต่สร้างพรรคอนาคตใหม่ เราจำเป็นต้องมีคนจำนวนมาก นี่คือที่ที่ต้องสร้างพรรคให้เป็นสถาบัน เราคาดหวังว่า ในอนาคตอันใกล้เราจะเพิ่มโครงสร้างการเมืองท้องถิ่น และคาดหวังที่สมาชิกพรรคจะไปเป็นรัฐบาล ทำหน้าที่บริหารประเทศ และถ้าเราทำสำเร็จ จะมีพรรคที่ต้องการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้วก็ตาม”
“ภราดร” ตัวเต็งรองประธานสภา
อีกด้านหนึ่งหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค ปรากฏความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แทน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม ที่ต้องพ้นตำแหน่ง สส.เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
ทั้งนี้ ตำแหน่งดังกล่าวมีการแบ่งกันตามสัดส่วน สส.ในพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้พรรคภูมิใจไทย ที่มีอยู่ 70 เสียง เป็นอันดับ 2 ในรัฐบาล จึงเตรียมเสนอบุคคลเข้าไปนั่งเก้าอี้รองประธานสภาคนที่ 1 โดยมีรายงานว่าพรรคภูมิใจไทยจะมีการเสนอชื่อนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง เขต 1 พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในกติกาข้อบังคับการประชุมสภา และเป็น สส.อ่างทองมาหลายสมัย
ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 มี สส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ 493 คน จากเดิม 499 พรรคประชาชน มีจำนวน สส. 143 คน มากกว่าพรรคเพื่อไทย 2 เสียง คือ 141 คน
จากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งของนายปดิพัทธ์ รองประธานสภา
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร และส่งผลต่อ สส. 44 คนของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เมื่อ 25 มี.ค. 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้น ป.ป.ช. ว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่