ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 เศรษฐาพ้นนายกฯ ผิดจริยธรรมร้ายแรง

ศาลรัฐธรรมนูญ เศรษฐา

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน” ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ชี้ผิดจริยธรรมร้ายแรง และรัฐมนตรีต้องพ้นทั้งคณะ เศรษฐาน้อมรับเคารพคำตัดสิน ยันเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต

วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย  กรณีที่ 40 สว. ยื่นผ่านประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง มี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกฯ มาฟังคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ  ตุลาการเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5)

เมื่อความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับการกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญ

เศรษฐาเปิดใจ ยันเป็นคนซื่อสัตย์

ทางด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงเปิดใจหลังมีคำพิพากษาออกมาว่า ผมต้องขอขอบคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้โอกาสทุกฝ่ายได้ชี้แจงมีการหยิบยกนำมาพูดกันในวงกว้าง และเป็นธรรม ผมเคารพในคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ดำรงตำแหน่งมาพยายามทำทุกอย่างถูกต้องมีความตั้งใจจริง ยึดมั่นอุดมการณ์ในการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ยืนยันไม่ได้ทำตัวขัดแย้งกับทุกคน เคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า มีการคาดคิดไว้ล่วงหน้าหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ยังทำงานตามปกติ และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า “เปล่าครับ อย่างที่ผมยืนยันที่ผมทำคำแถลงปิดคดี เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผลออกได้ทั้งซ้ายและขวาออกได้ทั้ง 2 ทาง เรามีหน้าที่เราก็ทำต่อไป ผมมีหน้าที่ต้องวางแผนระยะยาว และระยะสั้นจะต้องเดินทางไปไหน ไม่ได้บ่งบอกว่าก้าวล่วงหรือคาดเดาว่าผลตัดสินจะออกมาอย่างไร”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในคำวินิจฉัยบอกว่านายกฯ ผิดจริยธรรมร้ายแรงเท่ากับเป็นการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ผมไม่ได้ดูตรงคำว่าตัดสิทธิ์หรือไม่ตัดสิทธิ์ แต่ผมเสียใจตรงที่ว่าจะถูก บอกว่าเป็นนายกฯ ที่ไม่มีจริยธรรม ซึ่งผมก็ยืนยันตัวตนของผมไม่ใช่คนแบบนั้น แต่ก็อย่างที่บอกเมื่อตัดสินมาแล้ว ท่านเป็นตุลาการมีความรู้ความสามารถตัดสินมาอย่างไรผมก็น้อมรับ”

ADVERTISMENT

เมื่อถามว่า การแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี เป็นการตัดสินใจคนเดียวหรือไม่ นายเศรษฐา ปฏิเสธตอบ พร้อมบอกว่าเราไม่อยากกลับไปอีกแล้ว แล้วผมได้แถลงชี้แจงไปเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างอยู่ในคำแถลงปิดคดีแล้ว ในสิ่งที่ตนอยากจะพูด ท่านตุลาการทุกท่านมีข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว อย่างที่ผมยืนยันผมน้อมรับคำตัดสิน

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

ไทม์ไลน์คดีถอดถอนนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

23 พฤษภาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับพิจารณาคำร้องของกลุ่ม 40 สว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ส่วนกรณีของนายพิชิต เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจึงไม่มีเหตุให้วินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีมติ 8 ต่อ 1 ไม่รับคำร้องในส่วนของนายพิชิต

นายพิชิต ชื่นบาน
พิชิต ชื่นบาน

ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว มีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567

ทั้งนี้ ผลการประชุมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ศาลพิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567

10 กรกฎาคม 2567 ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา ให้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมและรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้ กำหนดนัดพิจารณาคดีต่อไปในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567

และผลการประชุมวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 67

ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ภายในวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ส่วนคำร้องที่ผู้เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้รวมไว้ในสำนวนคดี ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา นัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 นาฬิกา