นักวิชาการเผย รธน.ทำเลือกตั้งได้รัฐบาลผสม-ขาดเสถียรภาพ ชี้โอกาสกลุ่มหนุน คสช.ถึงครึ่งสภา

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองภาพการเลือกตั้งครั้งหน้าจากปัจจัยสถานการณ์ปัจจุบันว่า ด้วยกติกาใหญ่ที่เปลี่ยนไป คือรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยระบบเลือกตั้งแบ่งสันปันส่วนผสม และวิธีการเลือกนายกฯที่ให้ ส.ว.มามีส่วนร่วม 2 ทำให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีบทบาทมากขึ้น สุดท้ายเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งไม่มีความหมายเท่าการรวบรวมเสียงในสภา ปรากฏการณ์หลังการเลือกตั้งจะเห็นว่าพรรคขนาดใหญ่หรือได้เสียงมากที่สุดจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก และพรรคใหม่ บวกกับส.ว. อาจรวมเสียงได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา

“โฉมหน้าการเมืองมีโอกาสสูงมากในการเป็นรัฐบาลผสม แต่ภาวะรัฐบาลผสมทำให้การเมืองไทยย้อนยุคกลับไปปี 2521 เวลานั้นจะเห็นว่าภาวะรัฐบาลผสมทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ เกิดการต่อรองภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง รัฐบาลควบคุมการทำงานยาก กระทั่งกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ สุดท้ายเวลาทำงานจริงหลายๆ เรื่อง ส.ว. ไม่ได้เข้ามาร่วมทำงาน ถ้ารัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดปัญหาเรื่องความไม่มีเอกภาพและเสถียรภาพในการพิจารณากฎหมายสำคัญหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“เชื่อว่าในสนามเลือกตั้ง 2 พรรคใหญ่คงจะแข่งกันแบบเดิม แต่พอเสร็จสิ้นการเลือกตั้งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชน ไม่ว่าจะเลือกพรรคใหญ่ 2 พรรคเข้ามาอย่างไร แต่การเมืองที่เกิดขึ้นจะเป็นการเมืองในสภา และเป็นการเมืองระหว่างชนชั้นนำที่จะเจรจาต่อรองผลประโยชน์และตั้งรัฐบาล ถึง 2 พรรคใหญ่จะแข่งกันในสนามเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างจะไปตกลงกันที่สภา ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยต้องมีหนึ่งพรรคใหญ่ไปร่วมรัฐบาลเพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพให้รัฐบาลผสม ส่วนพรรคที่สนับสนุน คสช.เชื่อว่าแต่ละพรรคเต็มที่คงได้ 20-30 ที่นั่งรวมกันหลายพรรค มีโอกาสทำให้เกิดกึ่งหนึ่งในสภาได้ แต่โอกาสที่พรรคตั้งใหม่เหล่านี้จะได้คะแนนหลักร้อยเชื่อว่าเป็นไปได้ยาก” รศ.ยุทธพรกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์