
สัมภาษณ์พิเศษ
“สิ่งแรกที่ผมคิดหลังจากตึกถล่มคือ มันมีการโกงหรือเปล่านะ” ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ACT พูดถึงภาพสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มพังทลาย ผลกระทบหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว รุนแรงขนาด 8.2 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มี.ค.
ไม่ใช่แค่ ดร.มานะ ที่คิดแบบนั้น แต่คนไทยทั้งประเทศก็กำลังคิดเช่นกัน ?
ร่วมทุนร่วมค้า
คลื่นเงินและอิทธิพลจากจีนหลั่งไหลเข้าไทยมหาศาล
รายงานและสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) พบมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากจีนที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท จากโครงการกว่า 1,600 โครงการ ยังไม่นับประเภทเลือกใช้โมเดลไปจดทะเบียนในประเทศอื่นก่อนมาลงทุนในไทย
ดร.มานะเล่าว่ามีบริษัทหลายแห่งเลือกลงทุน “หากิน” กับภาคเอกชน ขณะที่อีกส่วน “หากิน” กับภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ โดยที่ผ่านมามีเอกอัครราชทูตจากฝั่งยุโรปบางแห่งถึงกับตั้งคำถามถึง “หลายโอกาส” ที่จีนได้รับจากไทย โดยเฉพาะหลังโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา
ที่ผ่านมาไทยเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ตั้งแต่จดทะเบียนธุรกิจ, การถือหุ้น, กิจการค้าร่วม (Consortium), กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ที่นิยมใช้ในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากใช้เทคโนโลยี แรงงานและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้ประกอบการไม่สามารถผลักดันโครงการได้เพียงรายเดียว จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้สำเร็จลุล่วง
“รูปแบบ” ที่ว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่รายละเอียดการได้มาซึ่งบริษัทหรือโครงการคือสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องของ “นอมินี” และการจ้างเหมาช่วง
“ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดอะไร โครงการนั้นซับซ้อนหรือต้องการองค์ประกอบอะไรเป็นพิเศษ บริษัทที่มีคุณสมบัติไม่ครบ ก็ต้องจับมือกับคนที่สามารถเติมเต็มเราได้”
ช่องโหว่ใหญ่และข้อตกลงคุณธรรม
ทุกโครงการภาครัฐ “ผู้มีอำนาจ” มักพูดให้ได้ยินอยู่เสมอถึงความโปร่งใส แต่ ดร.มานะเห็นว่าในเชิงปฏิบัติแต่ละขั้นตอนมีโอกาสที่จะโกงกิน เกี้ยเซียะหรือเอื้อประโยชน์ให้กันได้อยู่ตลอดเวลา
ขั้นตอนหลัก ๆ ของการจัดทำโครงการภาครัฐ คือ
หนึ่ง – ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการลงทุน
สอง – การจัดทําร่างขอบเขตของงาน หรือ “ทีโออาร์”
สาม – จัดทำงบประมาณและอนุมัติการก่อสร้าง
สี่ – การจัดซื้อจัดจ้าง เปิดโอกาสให้ผู้ประมูลเข้าร่วมเสนอราคาหรือข้อเสนอ จนได้ผู้ควบคุมการก่อสร้างและผู้รับเหมา
“ช่วงเขียนทีโออาร์นี่แหละสำคัญมาก จะมีการล็อกสเป็ก ฮั้วประมูล กำหนดเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ กีดกันบางบริษัทออกไป” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ACT บอก
ที่ผ่านมามีความพยายามป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2558 ให้นำ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact) เข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นในทางปฏิบัติไม่ได้รับความร่วมมือมากเท่าที่ควร
ดร.มานะบอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ข้อตกลงคุณธรรมที่เปิดให้ตัวแทนจากภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ถูกนำมาใช้ใน 178 โครงการ มูลค่ารวม 2 ล้านล้านบาท ประหยัดเงินไปได้กว่า 7.7 หมื่นล้านบาท โดยงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า ข้อตกลงคุณธรรมไม่ได้ช่วยให้รัฐประหยัดเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้โครงการมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นไปตามวัตถุประสงค์มากขึ้นด้วย
“มันคือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของภาครัฐ ที่ต้องทำงานอย่างเปิดเผย มีส่วนร่วมจากประชาชน แต่ก็ยังมีหน่วยงานจำนวนมากที่เกเร ดื้อดึง เข้าข้อตกลงคุณธรรมแล้วไม่ได้ให้ความร่วมมือ เช่น ผู้สังเกตการณ์ขอดูเอกสารก็ไม่ให้ ให้ช้า ดึงเรื่อง สุดท้ายพอเหลือเวลานิดเดียวให้มาจำนวนมาก 3-4 ลัง หรือเอาเอกสารมาวาง 2 แฟ้มใหญ่ ๆ แล้วบอกว่า ต้องพิจารณาภายในวันนี้ให้จบซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตจริง”
“บางโครงการเข้าข้อตกลงคุณธรรมแล้ว พอถึงเวลาตีความกฎหมายใหม่แล้วถอนเรื่องออก ด้วยการตีความกฎหมายเฉพาะ”
เขาบอกต่อว่า ปัจจุบันโครงการที่รัฐเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม มีขนาดและความสำคัญลดน้อยลง จากมูลค่ารวมเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 4-5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า ในโครงการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการแยกออกไปใช้ข้อตกลงคุณธรรมในเวอร์ชั่นที่หน่วยงานกำหนดเอง ไม่ได้อยู่บนมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เช่น กำหนดให้ผู้สังเกตการณ์เข้าได้เฉพาะขั้นตอนคัดเลือกเท่านั้น หรือเลือกกำหนดผู้สังเกตการณ์เอง ซึ่งผิดหลักสากล
“ถ้าโครงการใหญ่ ๆ เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมนี้หมด เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เชื่อว่า 10 ปี ประหยัดเงินได้เป็นแสนล้าน แต่ประเทศไทยนั้นมีหลายมาตรฐานซะเหลือเกิน”
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ACT เสนอแนะให้รัฐบาลยกระดับความโปร่งใส 3 มาตรการ ดังนี้
หนึ่ง – รัฐและผู้รับเหมาต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ชัดเจน ครบถ้วน ตรวจสอบได้ รวดเร็วทันทีที่ร้องขอ จัดทำรูปแบบวิเคราะห์ที่เข้าใจง่าย สะดวกต่อการนำไปเผยแพร่ต่อ
สอง – รัฐต้องนำข้อตกลงคุณธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันไปใช้กับทุกโครงการ รวมทั้งโครงการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สาม – ต้องเพิ่มจำนวนโครงการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมอย่างน้อยเท่าตัว โดยเน้นคัดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ประชาชนสนใจ หรือมีผลกระทบต่อประชาชนมาก
ทุจริตยั่งยืน
ดร.มานะระบุว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นฝังรากลึกในไทย มาจากหลายปัจจัยที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระบบอุปถัมภ์ การให้ความสำคัญกับคนร่ำรวยหรือคนมีอำนาจ ระบบราชการไม่เคยมีการปฏิรูป ขาดความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ค่อยได้ ผู้นำประเทศไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการต่อต้านทุจริต ไม่ใส่ใจแก้ไขในเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว พูดเพียงปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย
“ระบบราชการมันไม่ถูกปฏิรูป ชินกับการทำงานแบบไม่โปร่งใส ใช้อำนาจเป็นหลัก ใช้ดุลพินิจกันมาก ตราบใดเป็นอย่างนี้ยิ่งแก้ไม่ได้” เขาบอกเมื่อรวมกับสภาพ “การเมือง” ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบ้านใหญ่และนายทุนพรรค ยิ่งทำให้คอร์รัปชั่นซับซ้อนและฝังลึก
“โกงเล็กโกงน้อย ทีใครทีมัน ปล่อยไปเรื่อย ๆ มันเลยกลายเป็นวัฒนธรรม”
นอกเหนือจากความเสียหายในเชิงโยธาฯ และโครงสร้างจากภาพตึกถล่มที่คนมองเห็น ยังมีแรงสั่นสะเทือนในเชิงความรู้สึกของคนไทย ภาพผู้คนหวาดหวั่นที่ตามมาสะท้อนให้เห็นว่าคนไม่มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อกันโดยเฉพาะหน่วยงานราชการ
เราจะเห็นอาการแพนิกของบรรดาข้าราชการในวันถัดมา ข้าราชการหลายคนแห่หนีออกมาจากตึก แต่ฝั่งเอกชนเฉย ๆ นั่นเพราะข้าราชการเขารู้ดีว่า ตึกที่อยู่เขามีร่องรอยของการร้าวทั้งที่มองเห็นและไม่เห็น
“คอร์รัปชั่นมันไปถึงขนาดตึกถล่ม มันทำคนตายแล้วนะ มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินเรื่องทองอย่างเดียว”
เรื่องเชิงบวกอย่างเดียวที่ ดร.มานะเห็น คือความตื่นตัวของภาคประชาชน ในการช่วยกันขุดคุ้ยและแสดงความคิดเห็น โดยเชิญชวนให้ทุกคนสะท้อนปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ติดแฮชแท็ก #เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการติดตามและเป็นแรงกระเพื่อมจากสาธารณะ
“เราอย่าไปกลัวครับ ถ้ากลัวแล้วผลร้ายจะเกิดกับประชาชน” เขาทิ้งท้าย