“อนุทิน” ตรวจ “สุรินทร์” แล้งหนักจริง วิกฤตสุดรอบ 41 ปี สั่ง เลิกพูดระเบียบ เร่งช่วยคนด่วน

สุรินทร์-แล้งวิกฤตทั้งเมือง นายกรัฐมนตรี สั่งการด่วนให้ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงสาธารณสุขพร้อม รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง หลัง รพ.สุรินทร์ ขาดแคลนน้ำ 

สุรินทร์-วันนี้ (11 ส.ค.62) เวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์กิตติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 9 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ขาดแคลนน้ำของโรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งทางโรงพยาบาลสุรินทร์ ได้ประกาศเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

ซึ่งนายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร นายแพทย์สาธารณสุข จ.สุรินทร์ และนายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการ รพ.สุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการใน จ.สุรินทร์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุข จ.สุรินทร์ ได้สรุปการจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำของ รพ.สุรินทร์ โดยการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ มีมาตรการการใช้น้ำอย่างประหยัด ลดการใช้น้ำของหน่วยงานให้ได้ ร้อยละ 50 โดยคงมาตรฐานการให้บริการทางแพทย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดส่งน้ำมาให้ รพ.สุรินทร์ ซึ่งปัจจุบันนับว่าเพียงพอต่อการให้บริการ และสำรองสำหรับฉุกเฉิน ในการแก้ไขปัญหาระยะกลาง คือได้ขุดบ่อบาดาล โดยมีเป้าหมาย 8 จุด ซึ่งดำเนินการขุดแล้ว 2 จุด และยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังประเมินสถานการณ์น้ำประปา เป็นรายวัน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุฉุกเฉินต่อไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวออกมาก็ได้มีการประสานกันมาโดยตลอด โรงพยาบาลสุรินทร์ สามารถที่จะรักษาดูแลผู้ป่วยด้วยมาตรฐานที่ไม่ลดลง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะขาดแคลนน้ำและภัยแล้งในจังหวัด และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจากประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำน้ำมาบริจาคเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และมีฝนตกลงมาในช่วง 2-3 วันนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่ขั้นวิกฤต ในขณะที่เรื่องโรคระบาดกับโรคที่มากับภัยแล้งก็ได้ทำความเข้าใจกับทางด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแล้วยื่นยันไม่มีสิ่งที่น่ากังวลแต่อย่างใด

จากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รมช.มหาดไทย และคณะได้เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ห้วย-สะ-เหนง) ต.เฉนียง (ฉะ-เหนียง) อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่แห้งขอดหนักที่สุดในรอบ 41 ปี ตั้งแต่มีการสร้างและเปิดใช้มา ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมานานหลายเดือน ส่งผลให้ไม่มีน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้คนชุมชนในเมืองและชุมชนรอบนอกอย่างเพียงพอมานานนับเดือน แม้ เจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังสุรนารี ทหารจากมลฑลทหารบกที่ 25 พร้อมด้วยการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์และภาคเอกชน จะร่วมกันต่อท่อ PE ขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 60 ซ.ม.เพื่อผันน้ำมาจากบ่อระเบิดหินเก่า ในพื้นที่วนอุทยานพนมสวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ ลงมายังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ระยะทางรวมกว่า 12 ก.ม.เพื่อมาใช้เป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปา อยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่ปริมาณน้ำก็ยังไหลเข้ามาไม่มากพอ ที่จะผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ แต่พบว่าสามารถผลิตน้ำประปาได้มากกว่าเดิม โดยน้ำประปาจะไหลเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมือง ที่อยู่ใกล้กับ เมนหลักของท่อ ขณะที่ชุมชนที่ไกลออกไปและอยู่รอบนอก พบว่าน้ำประปาไม่ไหลเลย ประชาชนต้องช่วยตัวเองด้วยการออกหาตักน้ำบรรทุกมาเก็บไว้ใช้ บางชุมชนนำถังน้ำมารอรับน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรทุกนำเข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่หลายรายต้องซื้อน้ำจากพ่อค้าเร่ และหลายรายต้องว่าจ้างการขุดเจาะบ่อบาดาลไว้ใช้ที่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ในขณะนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังตรวจสอบและพบสภาพของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงด้วยตัวเอง ว่า สภาพที่เห็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องบูรณาการจากทุกภาพส่วน ซึ่งเป็นไปได้ที่จะต้องใช้วิธีการแลกต่างตอบแทน เพื่อที่จะขุดลอกให้ลึก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการเสนอไปยังว่าราชการจังหวัดแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นวิกฤตการแล้ว ต้องมีช่องทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะมาพูดเรื่องระเบียบไม่ได้ ประชาชนกำลังเดือดร้อน ภาพห้วยเสนงที่เห็นขณะนี้ถือเป็นทะเลสาบหรือแผ่นดินไปแล้ว ต้องรีบแก้ไขปัญหาในทุกรูปแบบ แม้ว่าจะมีการผันน้ำจากบ่อระเบิดหินเก่าที่มีอยู่ 3 ล้านคิว แต่ก็คงไม่พอ การมีเนื้อกักเก็บน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ในขณะเดียวกันสัปดาห์หน้านายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อเห็นสภาพเช่นนี้ท่านต้องตัดสินใจ มั่นใจว่าท่านจะต้องแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน จากการที่ได้ลงพื้นที่ในวันนี้จะทำรายงานถึงนายกรัฐมนตรีให้ทราบถึงปัญหา และมาตรการแก้ไขในระยะเร่งด่วนก่อน ระยะกลางและระยะยาวต้องเป็นส่วนของกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทยต่อไป นอกจากนี้ยังได้รับการประสานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมให้การสนับสนุนทีมเครื่องมือที่จะเจาะน้ำบาล ไปยังชุมชนต่างๆที่มีความต้องการอีกด้วย

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์