ปิยบุตร ลั่น ปีแห่งการต่อสู้ ถึงเวลาทวงคืนอำนาจ ส.ส.ต้องถอดสลัก ลุยแก้ รธน.ป้องกัน รปห.

ปิยบุตร ลั่น 2563 คือปีแห่งการต่อสู้ ถึงคราวประชาชน ผู้เป็นเจ้าของประเทศ ทวงคืนอำนาจกลับคืน ชี้ ผู้แทนราษฎร ต้องลุกขึ้นทำหน้าที่ถอดสลักระเบิดเวลา-แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผู้ครองอำนาจไม่หลงเหลือซึ่งความชอบธรรม ในขณะที่ประชาชนยังสะสมพลังไม่มากพอที่จะโค่นล้ม “อำนาจ” ดำรงอยู่ได้ด้วย “การเชื่อฟัง” เมื่อไรก็ตามที่ผู้อยู่ใต้อำนาจยอมเชื่อฟัง ปฏิบัติตามในสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ หรือไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการ เมื่อนั้น ความสัมพันธ์ทางอำนาจย่อมเกิดขึ้น หากปราศจากซึ่งการเชื่อฟัง ก็ถือได้ว่าอำนาจนั้นทำงานไม่ได้เสียแล้ว คนจะเชื่อฟังอำนาจได้ ก็ต้องอาศัย 2 องค์ประกอบ หนึ่ง การยอมรับนับถือแบบยินยอมพร้อมใจ หรือ consent คนผู้อยู่ใต้อำนาจยอมทำตามโดยไม่ปริปาก ไม่ตั้งคำถาม พร้อมใจทำตามโดยไม่ต้องบังคับ เพราะเขาเชื่อในอำนาจนั้น สอง การใช้กำลังบังคับให้เชื่อฟัง หรือ coercion คนผู้อยู่ใต้อำนาจไม่ยอมทำ ตั้งคำถาม สงสัย แต่ต้องยอมทำตาม เพราะถูกบังคับโดยกลไกรัฐ กฎหมาย ตำรวจ ทหาร ศาล คุก อำนาจดำรงอยู่อย่างมั่นคง ถ้าทำงานด้วย consent อำนาจดำรงอยู่อย่างเปราะบาง มีโอกาสล้มได้เสมอ ถ้าทำงานด้วย coercion

นายปิบุตรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาผู้ครองอำนาจประสบกับ “วิกฤตการณ์อำนาจนำ” เริ่มสูญเสียความชอบธรรม พวกเขาจึงต้องใช้ทุกวิธี ทุกวิถีทาง ใช้กำลังบังคับเพื่อรักษาอำนาจและครองอำนาจต่อไป ตั้งแต่… รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การใช้กำลังทางกายภาพ กำลังทางกฎหมาย เข้าปราบปรามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ล้มร่างหลายครั้ง ออกแบบรัฐธรรมนูญชนิดที่ “โกง” ที่สุด รัฐธรรมนูญที่โฆษณาว่า “ปราบโกง” แต่จริงๆ แล้ว มันคือ รัฐธรรมนูญที่ “โกงเวลา โกงโอกาส โกงอนาคต” ของประเทศไทย กระบวนการออกเสียงประชามติที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้เป็นเครื่องมือในการแต่งหน้าทาปากว่ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน การเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ จนกว่ามั่นใจว่าพวกตัวเองจะชนะ การตั้งพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือการสืบทอดอำนาจ การ “ดูด” นักการเมืองเข้าสังกัดโดยใช้กลวิธีและอิทธิพลต่างๆ กลไกรัฐที่สนับสนุนพวกตนเองในการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์แก่พวกตนเอง การออกแบบระบบเลือกตั้งที่มิให้พรรคการเมืองครองเสียงข้างมาก การจัดการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานจนไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรม การคำนวณคะแนนแบบพิสดาร นำคะแนนไปแบ่งทอนให้พรรคเล็ก ได้ 1 ที่นั่ง เพื่อกวาดต้อนเข้าร่วมรัฐบาล “สหพรรค” การใช้ “นิติสงคราม” กำจัดศัตรูทางการเมือง ระบบ “สองมาตรฐาน” ยอมเอาองค์กรตรวจสอบทั้งระบบเข้าแลกกับการกำจัดศัตรูทางการเมือง และรับรองการใช้อำนาจให้กับพวกตัวเอง ถ้าเป็นพวกเอ็ง ไม่รอด ถ้าเป็นพวกข้า รอดหมด “แจกกล้วย-งูเห่า” รัฐบาล “สหพรรค” ไร้เสถียรภาพ ส่งมอบนโยบายตามที่หาเสียงไม่ได้ และขัดแย้งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หักดิบมติสภา เพื่อไม่ให้มีคณะกรรมาธิการตรวจสอบประกาศ คำสั่ง คสช.และการใช้มาตรา 44 เป็นต้น

นายปิยบุตรกล่าวว่า เรายอมทำลายทุกอย่างเพียงเพื่อให้ผู้ครองอำนาจได้ครองอำนาจต่อไป ทำลายระบบรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบรัฐสภา ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล ใช้งบประมาณแผ่นดินไปจุนเจือพวกพ้อง ความเหลื่อมล้ำขยายตัว ประเทศไทยยอมเสียต้นทุนมหาศาลเพื่อแลกกับการที่พวกเขาได้ครองอำนาจ รัฐธรรมนูญ 2560 ฐานอำนาจของการปกครองปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ทั้งเปราะบางและแข็งกระด้าง “เปราะบาง” เพราะไม่มีฐานความชอบธรรม แต่ดำรงอยู่ได้ด้วยกำลัง “แข็งกระด้าง” เพราะมีผู้ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่ออกแบบมาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากมากจนแก้ไขไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ สภาพการณ์เช่นนี้ นำมาซึ่ง “ความตึงเครียด” ภายในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นระเบิดเวลาที่ตั้งเวลารอระเบิด พลังที่ต้องการแก้ไขมีมาก แต่แก้ไม่ได้ พยายามเท่าไรก็แก้ไม่ได้ ประสบการณ์จากหลากหลายประเทศ บอกเราว่า รัฐธรรมนูญลักษณะแบบนี้ ในท้ายที่สุด จะจบลงได้ถ้าไม่รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ประชาชนลุกฮือ ฉีกรัฐธรรมนูญ

“นี่คือระเบิดเวลาหน้าที่ของผู้แทนราษฎร คือ การถอดสลักระเบิดเวลานี้ก่อนที่มันจะระเบิด หน้าที่ของสถาบันการเมืองทั้งหลาย คือ แก้ไขสถานการณ์ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น แต่ถ้า ผู้แทนราษฎร และสถาบันการเมืองต่างๆ ที่กินภาษีประชาชน ยังคิดไม่ได้ คิดไม่ออก มองแต่เพียงประโยชน์เฉพาะหน้า คิดแต่เรื่องอำนาจวาสนา ประโยชน์ที่ได้รับ นั่นก็เท่ากับว่า ผลักภาระไปให้กับ “ประชาชน” ในการต่อสู้ตามลำพัง ผู้แทนราษฎรจะเป็น ผู้แทนของราษฎรได้ ต้องต่อสู้ร่วมกันกับประชาชน ผู้แทนราษฎรมิใช่ ผู้ใต้บังคับบัญชาคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวต่อว่า หากต้องสรุปปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดปีนี้ด้วยประโยคเดียว ตนคงสรุปว่า ปี 2562/2019 คือ ปีที่แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดว่า ผู้ครองอำนาจไม่หลงเหลือ ซึ่งความชอบธรรมใดอีกแล้ว ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะโค่นล้มผู้ครองอำนาจได้ สภาวการณ์เช่นนี้ คล้ายคลึงกับที่อันโตนิโอ กรัมชี่ บอกไว้ว่า เมื่อสิ่งเก่ากำลังจะตายแต่ยังไม่ตาย ในขณะที่สิ่งใหม่จะเกิดก็ยังเกิดไม่ได้ วิกฤตการย่อมปรากฏขึ้น ผู้ครองอำนาจ พยายามรักษาอำนาจ และสถาปนาอำนาจของพวกเขาฝังตัวไปในระบอบมากขึ้น แต่เรา… ประชาชน ก็ต้องต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ และสถาปนาอำนาจนำใหม่ของพวกเรา หากเรานิ่งดูดาย เฝ้าแต่คิดว่า เวลาอยู่ข้างเรา เวลาที่ว่าอาจไม่มาถึง และพวกเขาจะใช้เวลานี้ในการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ และสถาปนาระบอบที่พวกเขาปรารถนาได้สำเร็จ นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พวกเราต้องพร้อมใจกันต่อต้านอำนาจอันเปราะบางของพวกเขา อย่าปล่อยให้พวกเขาติดตั้งระบอบของเขาได้สำเร็จ แม้เริ่มต้นจะยาก แม้ระหว่างทางจะมองไม่เห็นทางชนะ แต่ก็ต้องพยายาม ปี 2562/2019 เป็นปีแห่งความเปราะบางของผู้ครองอำนาจ ผู้ครองอำนาจไม่หลงเหลือความชอบธรรมที่ค้ำจุนอำนาจอีกต่อไป แต่พวกเขาก็ใช้พละกำลังเฮือกสุดท้าย ใช้ทุกวิธีเพื่อรักษาอำนาจต่อ ปี 2563/2020 จะต้องเป็นปีแห่งการต่อสู้ของ “ประชาชน” คนส่วนใหญ่-คนธรรมดา ผู้เป็นเจ้าของประเทศนี้ นี่คือ ห้วงเวลาประชาชนเป็นใหญ่ นี่คือโอกาสสำคัญในการเข้าช่วงชิง

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์