ทุ่ม 51,904 ล้านบาท อัพเกรด โรงเรียนดิจิทัลประจำตำบล 8,224 แห่ง

ครม. เห็นชอบโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล วงเงิน 51,904.73 ล้านบาท ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบาย 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อ 4 ธันวาคม 2561

โดยในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นพัฒนาใน 3 ด้าน คือ 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยการพัฒนาให้โรงเรียนมีวัสดุอุปกรณ์ สื่อ สถานที่ที่เหมาะสมและส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องปฏิบัติแหล่งเรียนรู้ Coding STEM ห้องปฏิบัติการด้านภาษา (Sound Lab) แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม รวมถึงสระว่ายน้ำและสนามกีฬา เป็นต้น 2) ด้านการส่งเสริมการศึกษา โดยการพัฒนาหลักสูตร เช่น เพิ่มทักษะด้านต่างๆให้กับผู้เรียน เน้นวิธีการ Active Learning มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น รวมถึงการจัดบุคลากรครูเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพัฒนาครูด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ให้มีความชำนาญในการสอน 3)ด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนทั้งเอกชน บ้าน วัดและศาสนสถานอื่นๆ รัฐ โรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในบริหารจัดการการศึกษา เช่น แหล่งเรียนรู้อาชีพในชุมชน การสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด มหาวิทยาลัย เป็นต้น

เป้าหมายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 8,224 โรง แบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 7,079 โรง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1,145 โรง กระจายอยู่ในภาคเหนือ จำนวน 1,789 โรง ภาคใต้ จำนวน 1,238 โรง ภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก จำนวน 2,162 โรง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3,035 โรง งบประมาณโครงการรวมทั้งสิ้น 51,904.73 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) งบลงทุน เช่น สร้างห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ จำนวน 19,766.02 ล้านบาท 2)งบดำเนินการ เช่น การเสริมสร้างความสามารถด้านภาษาอังกฤษ/ภาษาจีน และพัฒนาบุคลากร จำนวน 30,477.49 ล้านบาท 3)งบรายจ่ายอื่น 1,661.22 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 -2565 จัดสรรในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 10,120.34 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 20,619.93 และปีงบประมาณ 2565 จำนวน 21,164.46 ล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการ 1)บูรณาการการดำเนินโครงการร่วมกับโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2)พิจารณาจัดกลุ่มโรงเรียนที่มีประเด็นปัญหาในด้านต่างๆ ที่มีลักษณะเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างเป็นรูปธรรม 3)กำหนดกลไกการติดตามประเมินผลในการดำเนินโครงการของโรงเรียน ก่อนที่จะนำโครงการอื่นให้โรงเรียนดำเนินการ เพื่อเป็นการลดภาระแก่นักเรียน ครู และโรงเรียน 4)ให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาโรงเรียน และ 5)เน้นการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์และรองรับการเรียนการสอนด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19