ต่ออายุ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ซ่อนเร้นวาระการเมือง ทรรศนะ 2 อดีต “สมช.”

ต่ออายุ
สัมภาษณ์พิเศษ
โดย ปิยะ สารสุวรรณ

ในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 งานความมั่นคงถูกขยายขอบเขตอำนาจ ไปถึงงานสาธารณสุข-งานเศรษฐกิจ “ชี้ขาดการคลายล็อก “เปิดเมือง” ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี “พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา” กุมบังเหียน จึงมีบทบาทเด่นในศูนย์โควิด-19 ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผอ.ศูนย์ฟังมากพอเท่ากับ “แพทย์อาวุโส”

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนา 2 อดีตเลขาฯ สมช. เสือ 2 ขั้ว 2 คม ปมการต่อ-ไม่ต่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซ่อนเร้น

“เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาฯ สมช. ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย แม้ “ไม่ฟันธง”ว่า “ควรยกเลิก” พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ตั้ง “ปุจฉา” ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์วิสัชนา-ตอบยาก

เครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถูกออกแบบเพื่อแก้ไข ป้องกัน ยับยั้งโรคระบาด มีอำนาจเพียงพอ แม้กระทั่งห้ามผ่านช่องทางระหว่างประเทศ

ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ สถานการณ์รุนแรงและการก่อการร้าย ความปลอดภัยของประชาชน เช่น แก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ควรประกาศตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ แต่เมื่อประกาศแล้วต้องเป็นเครื่องมือรองและสนับสนุน พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลายเป็นเครื่องมือนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นเครื่องมือรอง”

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อบูรณาการอำนาจ โดยมี ศบค.เป็นศูนย์กลาง แต่การปฏิบัติยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งที่กฎหมายปกติ เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีสามารถตั้ง ศบค.ขึ้นมาได้

“ผมจึงให้น้ำหนักในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล เพราะวาระซ่อนเร้นประกอบกับปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรวบอำนาจเอามาไว้ที่ตัวเอง”

การตีขลุมต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึง 31 พฤษภาคม 63 อาจเป็นเพราะเดือนพฤษภาคมมีวาระการเมืองที่ก่อให้เกิดประเด็นร้อน เช่น พฤษภา 35 พฤษภา 53 ครบ 6 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค. 57

“เสธ.แมว” เทียบเคียงการแก้ “วิกฤตโรคระบาด” และการบริหารจัดการของรัฐบาลในอดีต เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก และมหาภัยพิบัติสึนามิ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.โรคติดต่อที่เข้มข้นด้วยซ้ำ

จึงตั้งคำถามว่า เหตุที่รัฐบาลกอด พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เพราะมีวาระซ่อนเร้นและรัฐบาลไม่มีเอกภาพ-สภาวะผู้นำหรือไม่

คุมกฎหมายเงินกู้ ม็อบการเมือง

ในช่วงที่รัฐบาลขะมักเขม้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักระหว่างกฎหมายพิเศษกับกฎหมายปกติ ก่อนตัดสินใจต่อ-ไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 31 พ.ค.

“เสธ.แมว” อ่าน trick ของรัฐบาลว่าจะยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว แต่ยังคงอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปเพื่อขึงอำนาจของ ศบค.-ผู้อำนวยการ ศบค.ไว้

ในเดือน พ.ค.จะมีวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของสภา-นอกสภา เช่น พ.ร.ก. 3 ฉบับที่ใช้เงิน 1.9 ล้านล้าน พ.ร.บ.โอนงบฯปี”63 และงบประมาณปี”64 คนเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาโควิด-19 จะมาบรรจบกันโดยไม่ได้นัดหมาย

“แฟลชม็อบจะหวนกลับมาไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา แต่คนเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากเงิน 5,000 บาท แรงงาน ประกันสังคมที่ตกงานจะออกมาถ้าไม่มีเครื่องมือนี้ไว้ก็เย็นหลัง”

การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อบริหารความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรครัฐบาล และความเสี่ยงทางการเมืองที่แหลมคมมากกว่าการบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคระบาด “ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐกำลังสะท้อนว่าจะย่ำรอยประวัติศาสตร์และนำไปสู่การปรับ ครม. ภายใต้เงื่อนไขต่อรอง”

“พ.ร.ก.เงินกู้อาจจะถูกไม่คว่ำ แต่ พ.ร.บ.โอนงบฯ 63 และ พ.ร.บ.งบประมาณปี”64 จะเป็นเงื่อนไขต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีแลกกับตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์”

“เสธ.แมว” ฟันธงว่า กฎหมายการเงิน-พ.ร.บ.โอนงบฯปี”63 และ พ.ร.บ.งบประมาณปี”64 จะเป็น “จุดชี้เป็นชี้ตาย” ของรัฐบาล ในช่วงเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลไม่มั่นคง

“โดยเฉพาะงบฯฟื้นฟู 400,000 ล้านบาทปริศนา เปรียบเหมือนนโยบายเงินผันของรัฐบาลคึกฤทธิ์ เป็นงบประมาณตามน้ำใช้โปรยลงพื้นที่เป้าหมาย เตรียมรับอุบัติเหตุทางการเมือง”

“นายพล สีแดง” อ่านเกมการเมืองข้ามชอต หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ไม่มีเคอร์ฟิวจะเกิดการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง จะมีการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคหลายพรรค แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย ใครจะเป็นตัวนำ-ตัวรอง

“ต้องจับตาดูพรรคใหม่ เช่น พรรคกล้า พรรคก้าวไกล แม้กระทั่งพรรคกินกล้วยของรัฐบาลก็จะมาผนึกกำลังกันใหม่ เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี”

โยนประชาชนตอบต่อ-ไม่ต่อ

“อนุสิษฐ คุณากร” เลขาธิการ สมช. ในยุครัฐบาลประยุทธ์-คสช. ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สำรอง โน้มเอียงไปทางให้ความสำคัญด้านสูญเสียชีวิต

“ต้องประเมินสถานการณ์อย่างละเอียด around the world วันต่อวันหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเราพร้อมที่จะเผชิญกับการระบาดระลอกที่สองหรือไม่”

การใช้กฎหมายพิเศษ หนึ่ง ต้องเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในไทยและทั่วโลกเป็นเรื่องร้ายแรง สอง สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ด้วยกฎหมายปกติ

การบริหารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของผู้บังคับบัญชา เป็น single command ความรับผิดชอบอยู่ที่ผู้บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องดีนักที่ผู้บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินถ้าไม่ทำอะไรเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติยาก

“การดูแลเรื่องการเคลื่อนย้ายของคน การลงทุน การค้าขายสามารถกลับไปอยู่ในมือของการเมืองกลุ่มต่าง ๆ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงได้ดีเป็นเอกภาพกว่าการกำกับของศบค.หรือไม่”

“กฎหมายจะกลับไปอยู่ที่กระทรวง ต่างคนต่างทำ ภายใต้กฎหมายของหน่วยงานตัวเอง ถูกกำกับโดย ครม.เท่านั้น ซึ่ง ครม.ไม่มีอำนาจทางกฎหมายเหนือกว่ากระทรวง ก็ต้องใช้ในเรื่องการประสานงานกัน ผลสุดท้ายกำกับไม่ได้”

รัฐบาลขณะนี้แก้ปัญหาได้ดีพอสมควร เพียงแต่ว่าการปลดล็อกต้องเร่งรัดมากขึ้น ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมคลายตัวจากภาวะ ปิดจากกฎหมายพิเศษ

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินผ่อนคลายได้ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ single command ยังคงจำเป็นต้องใช้หรือไม่ เช่น การเข้าเมือง การเดินทางขนส่ง การเปิดสายการบิน กระทรวงสาธารณสุขทำงานเพียงหน่วยเดียว ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อเพียงพอหรือไม่”

“อดีตเลขาฯ สมช.” ไม่ฟันธงการต่อ-ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โยนให้ประชาชนเป็นคนตอบ

“เพราะเป็นเรื่องความอยู่รอดปลอดภัยของประชาชน แต่ถ้าในแง่ความมั่นคงในจังหวะและโอกาสนี้มีทั้งผลดีและผลเสีย”

ผลเสียเราอาจจะถูกจำกัดในเรื่องสิทธิและเสรีภาพอยู่บ้าง แต่ผลดีในเรื่องความเชื่อมั่น การรักษาความปลอดภัยระยะยาวไม่มีใครตอบได้ สมช.เองในมุมมองของ พล.อ.สมศักดิ์คงมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

“ผลประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจแน่นอนมีผลกระทบ แต่เปิดไปแล้วจะไปค้าขายกับใคร กล้าที่ไปเผชิญหรือเปิดประเทศเหมือนในอดีตหรือไม่ ประเทศอื่นพร้อมรองรับการเปิดประเทศของเราหรือไม่”

การค้าการขายที่จะส่งออก-นำเข้าไปทั่วโลกสามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อม ผลสุดท้ายจะกระทบการลงทุนในแง่เศรษฐกิจ หรือให้เปิดไปก่อนแล้วในแง่สาธารณสุขจะทำอย่างไร

“ท่าน (แพทย์-พยาบาล) ทุ่มเทมามากมายแล้ว บ้านเมืองก็เปิด ปลดล็อก และเกิดปัญหาสาธารณสุขขึ้นมาอีก ต้องชั่งน้ำหนัก ต้องถามประชาชนทั้งประเทศต้องการอะไร”

ไม่มีใครอยากใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เข้าใจว่าภาคเศรษฐกิจต้องการเปลี่ยนแปลง ภาคการลงทุนอึดอัด แต่ในความอึดอัดนั้นอย่าลืม ถ้าจะปลดล็อกแล้ว ยังมีการระบาด ท่านจะล้มแล้วล้มอีก ต้องช่วยกันคิดให้ดี อย่ารีบ

“คนที่จะต้องบริหารความสำเร็จ บริหารความเสี่ยงต้องใช้ข้อมูลเยอะ รอบด้าน ไม่มีใครอยากใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีใครอยากรับผิดชอบบ้านเมืองจนถึงขั้นเกิดภาวะความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ และการสูญเสียชีวิตของประชาชน”

ส่วนการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในระยะสั้นหรือยาว-ต่อไปถึงจนสิ้นสุดระยะที่ 4 หรือต่อหลังจากระยะที่ 4 ออกไปอีกนั้น เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องระยะเวลา แต่ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาด

“การต่อครั้งละระยะสั้น ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์ต้องกระชับ รวดเร็ว ไม่ทิ้งเวลานาน ถ้าศักยภาพทางการแพทย์เราไม่เพียงพอและเกิดการระบาดเหมือนกับประเทศอื่น ผมว่าน่ากลัวมากกว่าสงคราม”

ด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมาก การค้าขาย คนตกงาน รัฐบาลต้องบริหารให้ดี คนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกประเทศ คอยประคับประคอง ช่วยเหลือให้ประชาชนอยู่ได้ ต่อไปการประกาศเคอร์ฟิวคงร่นระยะเวลา-ยกเลิก

“ผมก็ไม่ค่อยอยากใช้ชีวิตภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (หัวเราะ) แต่เพราะยังมีการระบาด เป้าหมายที่สำคัญคือ การเข้า-ออกประเทศโดยเฉพาะช่องทางทางธรรมชาติ ช่องทางทางกฎหมาย และการระบาดภายในประเทศ”