นาฬิกาบิ๊กป้อมเดินทวนเข็ม ป.ป.ช. แจง เรืองไกร ยืมใช้เป็นหนี้-ไม่ใช่หนี้สิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.63 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือ ด่วนที่สุด สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0015/07/07 ถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ แจ้งผลการพิจารณาการชี้มูลความผิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1  ฐานไม่แจ้งหนี้สินในมูลค่านาฬิกาหรูที่มาจากการยืม ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น ลงนามโดยนายสุกิจ บุญไชย ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง

หนังสือดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นเจ้าของนาฬิกา ตามที่ปรากฎเป็นข่าวและได้ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณยืมใช้ในโอกาสต่าง ๆ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณได้คืนนาฬิกให้กับนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เมื่อใช้สอยสร็จแล้ว 

“การยืมใช้ดังกล่าวเป็นการยืมใช้คงรูป และการยืมใช้คงรูปแม้เป็นหนี้ แต่มิใช่หนี้สินตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องแสดงในแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะตามคำอธิบายการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินท้ายแบบบัญชีรายการหนี้สินล้วนหมายถึง หนี้สินที่เป็นเงินตราเท่านั้น มิใช่เป็นการยืมใช้สอยได้เปล่าและมีการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม

ดังนั้นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงการยืมนาฬิกาดังกล่าวเป็นหนี้สินในบัญชีแสดรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

ทั้งนี้ กรณีการไต่สวน พล.อ.ประวิตรกรณีการยืมนาฬิกาเพื่อน 21 เรือน เป็นการรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท ตามกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ กรรมการ ป.ป.ช.มีมติยกคำร้อง 5 ต่อ 3 (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ถอนตัว) “ไม่มีมูลเพียงพอ” ว่า พล.อ.ประวิตร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561

พล.อ.ประวิตร เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการไต่สวน 4 ครั้ง ขยายระยะเวลาชี้แจงข้อกล่าวหา 1 ครั้ง (15 วัน รวมระยะเวลาต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 30 วันหลังจากป.ป.ช.มีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวน รวมทั้งสิ้น 45 วัน) 

พล.อ.ประวิตรให้การว่า ยืมจาก “ปัฐวาท ศรีสุขวงศ์” นักธุรกิจ อดีตประธานบริษัท คอมลิงค์ ที่เป็นเพื่อนสนิท-เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเซนต์คาเบรียล 

“สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร” กรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า กรณีการยืม “นาฬิกาเพื่อน” เป็นการยืม “เชิงนิติประเพณี” ไม่ใช่การยืม “เชิงพาณิชย์

“การยืมมี 2 ลักษณะ คือ ยืมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นหนี้สิน และยืมในเชิงนิติประเพณี โดยในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ไม่มีการกำหนดให้แสดงรายการทรัพย์สินที่ยืมในเชิงนิติประเพณี และเรื่องการยืมที่ถือเป็นนิติประเพณีนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดก่อน เคยวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด”

โดยยกแนวคำวินิจฉัย “เบนท์ลีย์สีชมพู” ของนักการเมืองบ้านใหญ่บางบอน “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” เป็นบรรทัดฐาน “ตีตก

ประกอบกับเทียบเคียงคดี “โฟล์กสวาเกน” ของ “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม

“ไทม์ไลน์” ของคดีแหวนแม่-นาฬิกาเพื่อนจากเชิงบันไดทำเนียบรัฐบาล ถึงสนามบินน้ำ-ป.ป.ช.

4 ธ.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล “พล.อ.ประวิตร” ยกมือขึ้นบังแดดระหว่างถ่ายถาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แขนเสื้อปกติขาวถกขึ้นทำให้เห็นข้อมือข้างขวาสวมใส่ “นาฬิกาหรู” ยี่ห้อ “ริชาร์ดมิลล์” สะดุดตา พร้อมกับแหวนเพชรแสงระยับแทงตา และถูกตั้งคำถามว่าพล.อ.ประวิตรแสดงรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ 

จนเป็นที่มาของการ “ขุดคุ้ย” ของสื่อโซเชียล-นักสืบคีย์บอร์ด จนภาพพล.อ.ประวิตรสวมใส่ “นาฬิกาหรู” ต่างกรรม-ต่างวาระ ออกมาตีแผ่ 25 เรือน มูลค่ารวมกันกว่า 40 ล้านบาท

7 ธ.ค.60 “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายกสมาคม ต่อต้านสภาวะโลกร้อน “นักร้องมืออาชีพ” ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ข้อหาจงใจแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ตามมาด้วยรับสิ่งของมูลค่าเกิน 3,000 บาท 

27 ธ.ค.61 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 3 ยกคำร้อง

แม้ “พล.อ.ประวิตร” จะ “พ้นมลทิน” ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. “ยกคำร้อง” คดีแหวนเพชร-นาฬิกาหรูไปแล้วกว่า 1 ปี 

ทว่า “นาฬิกาเพื่อน” ยังคงเดินทวนเข็มเวลาไม่รู้จบ