ปริญญ์ : มองเศรษฐกิจเกมยาว ถ้า “ปชป.” ได้คุมคลัง ตอบโจทย์ลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์

ท่ามกลางวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจไทย ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีเป็น “นายท้ายเรือ” พ่วงด้วยคนแจวเรือกว่า 21 พรรค ยืนโต้คลื่น

“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” กุมบังเหียนพรรคเก่าแก่ สนทนากับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หลังซมพิษโควิด-19 มานานกว่าครึ่งปี และการใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ หนึ่ง ระบบภาษีไม่เป็นธรรม สอง การทุ่มตลาด การแข่งขันไม่เป็นธรรม ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ถูกบี้ ถูกกด คนตัวเล็ก SMEs สตาร์ตอัพ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน สาม เศรษฐกิจชุมชน (local economy) ถูกละเลย

การพัฒนาปล่อยสินเชื่อโดยไม่ต้องมีคนกลาง เช่น บล็อกเชน สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล (peer-to-peer lending :P2P) แต่ยังติดเรื่องการแข่งขัน สมาคมธนาคารไทยเป็นเสือตัวใหญ่ คณะกรรมการการแข่งขันไม่มีเขี้ยวเล็บ ไม่มีดาบ

“วิกฤตโควิด-19 รอบนี้ ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ตัวใหญ่ไม่เจ็บตัวเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่รอบนี้ตลาดหุ้นไม่เละ ลงไปแรงแต่กลับขึ้นมาเร็วมาก แต่ตัวเล็กตายเรียบ เศรษฐกิจชุมชนต้องกลับมา”

และ สี่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชิงสังคมไม่เพียงพอ ละเลยการลงทุนด้านประกันสุขภาพ การศึกษา การสร้างคน ขาดแรงงานฝีมือ ทำอย่างไรให้ยกระดับแรงงานฝีมือสูงขึ้น แรงงานไร้ฝีมือหมดไป เรื่องสุดท้าย คอร์รัปชั่น การตรวจสอบจากหน่วยงาน องค์กรที่เป็นกลาง เป็นธรรม มีอิสระที่แท้จริง ต้องมีดาบ

“ต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าและไปถึงประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่ไปโดนเก็บภาษีคอร์รัปชั่นระหว่างทาง ต้องลงมือทำจริง ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันที่เป็นกลาง เป็นอิสระ องค์กรตรวจสอบต้องมีเขี้ยวเล็บ มีดาบจริง”

“ปริญญ์” ตั้งคำถามว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ (GDP) ถูกต้องหรือยัง ที่บอกว่า คนจนจะหมดจากประเทศไทยภายใน 2 ปีกลายเป็นตรงข้ามทั้งประเทศกลายเป็นคนจนหมด รวยกระจุกจนกระจาย ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

“ตัวชี้วัดใหม่ คือ การพัฒนาที่มีส่วนร่วมของสังคมมากขึ้น กระจายผลตอบแทนให้รากหญ้าและฐานรากได้ด้วย เพราะโลกโลกาภิวัตน์ (globalize) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะตัวชี้วัดนายทุน คือ ตัวเลข ปริมาณ กำไร ปันผล”

ดังนั้น ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจใหม่ คือ ด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ สุขภาพ ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ไม่มองเพียงเชิงปริมาณหรือจีดีพี เขาชี้ทางการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทว่า หนึ่ง ต้องสร้างคน สร้างงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ เงินกู้ 4 แสนล้านบาทต้องลงไปกับการสร้างคนยุคใหม่ แรงงานฝีมือ สร้างนักรบธุรกิจรุ่นใหม่

“ทำอย่างไรที่จะทำให้เราออกจากวิกฤตโควิด-19 แล้วมองกลับไปได้ ใช้วิกฤตเป็นโอกาส เหมือนกับที่ Winston Churchill ผู้นำอังกฤษพูดไว้ว่า “Don”t waste of good crisis””

สอง การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เกษตรพรีเมี่ยม ท่องเที่ยว-ท่องเที่ยวชุมชนพรีเมี่ยม ใช้ big data ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยกระดับดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เทคโนโลยีทันสมัย

“ใช้ตรงนี้เป็นโอกาสให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเกิดขึ้นจริง ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล ไม่ใช่จากอารมณ์และพรรคพวก จะช่วยเรื่องการคอร์รัปชั่น โดยกรมบัญชีกลาง จัดซื้อจัดจ้าง เปิดเผยและตรวจสอบด้วยระบบเทคโนโลยี”

อย่างไรก็ตาม “พรรคอันดับสาม” หยิบชิ้นปลามัน-กระทรวงเกรดเอ คุมเศรษฐกิจจริง-เรียลเซ็กเตอร์ กระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1 ติดลบ และคาดว่าไตรมาส 2 ตัวเลข “ติดลบสองหลัก”

“ปริญญ์” ตอบว่า เราทำคู่กัน ระยะสั้นการประกันรายได้สินค้าเกษตร ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ลดต้นทุนเกษตรกร มีเรื่องแหล่งน้ำเป็นหัวใจ เพิ่มรายได้เกษตรกร ลดภาระหนี้ระยะกลาง มีโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ ธุรกิจเกษตรให้สูงขึ้น ใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ ออฟไลน์ รุกตลาดต่างประเทศเขาไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ-กอบกู้เศรษฐกิจให้กลับคืนมา ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสำคัญ-การส่งออกที่ติดลบจะตอบโจทย์หลังวิกฤตโควิด-19 ให้พลิกกลับมาในแดนบวก

“เรื่องส่งออกจะเชื่อมกับโครงการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด การตลาดนำการผลิต” ต้องหาตลาดใหม่ให้กับสินค้า ต้องรู้ความต้องการของตลาดใหม่ รู้เขา-รู้เรา รุกตลาดใหม่ เช่น FTA ไทย-ตุรกี FTA กับตลาดตะวันออกกลาง จีนรายมณฑล”

โจทย์ท้าทายหลังโควิด-19 เรื่องแรก มาตรฐานสินค้าและความปลอดภัยที่สูงขึ้นสินค้าส่งออกต้องยกระดับแบรนดิ้ง สอง geopolitics จะเกิดสงครามเย็นเล็ก ๆ ซึ่งเริ่มมาก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ และจะเริ่มตึงเครียดรุนแรง ดุดันมากขึ้น

“ไทยไม่อยากเลือกข้าง แต่เราอยู่ในโลกที่ถูกบีบให้เลือกข้าง ต้องทำการทูตในเชิงรุก เป็นมิตรทั้งสองฝ่าย การส่งออกเชิงรุก เป็นทูตพาณิชย์ ทูตต่างประเทศ ทำงานหนัก เพราะการทำงานร่วมกันกับสองมหาอำนาจอ่อนไหว ละเอียดอ่อน”

สาม ปรับบรรยากาศให้นักลงทุนจากต่างประเทศอยากมาลงทุนในไทย (FDI) ทำอย่างไรจะบาลานซ์ห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่ต้องเอาคนมาลงทุนในประเทศและเป็นการส่งออกในอนาคต อุตสาหกรรมใหม่ มูลค่าสูงขึ้น ไม่แค่กินแต่ต้นน้ำเหมือนเดิม

“เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก สินค้าจะเริ่มมีคลัสเตอร์ มี localization มากขึ้นถ้าจะดึงเทสลา (Tasla) ต้องตัดสูตรให้ fit กับที่ Tasla ต้องการ ตัดสูทให้ fit กับอีลอน มัสก์ (Elon Musk) หรือยัง fit ในสิ่งที่นักลงทุนต้องการ”

สินค้าส่งออกต้องมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ต้องการเพิ่มมูลค่า ดึงพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศเข้ามาทำ R&D และตั้งในประเทศ เราต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างแบรนด์ไทยแลนด์

วิกฤตโควิด-19 รอบนี้หนักหนานัก รัฐบาลกู้หนี้-ยืมสิน ทุบคลังเงินจนหมดหน้าตัก เขาไม่ได้มองเรื่องการหารายได้เพิ่มในระยะสั้นจะเป็นทางรอด แต่มองเป็น “เกมยาว”

เกมระยะยาว คือ การสร้างคน แรงงานมีทักษะฝีมือสูงขึ้น เพื่อให้จ่ายภาษีสูงขึ้น เป็นรายได้ในอนาคต รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร เศรษฐกิจชุมชนฟื้นตัว เลี้ยงตัวเองได้บนแข้งขาตัวเอง เอาเบ็ดตกปลากินเองได้

“ถ้าเกษตรพรีเมี่ยมทำได้ดี โครงการประกันรายได้เกษตรจะเลิกให้เร็วที่สุด เพราะประกันรายได้เราทำเพื่อช่วยพยุงและบรรเทาความเจ็บปวดระยะสั้น ผมเชื่อเรื่องตลาดเสรีนิยม แต่ตลาดอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะตัวใหญ่กินตัวเล็กตายหมด”

ทุกอย่างกลับมาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าไม่มีการจ้างงาน สร้างคนที่มีแรงงานฝีมือที่สูงขึ้น โจทย์ใหญ่ คือ งบประมาณการสร้างงาน สร้างงานที่มีมูลค่าสูง ยื่นหมูยื่นแมวกับอาลีบาบา สร้างอะคาเดมี สร้างขีดความสามารถให้กับแรงงานไทย แรงงานอิสระ เมืองไทยมีเศรษฐกิจสีเทา และกลุ่มเปราะบางเยอะมาก ทำอย่างไรให้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ต้องลงไปเพื่อเก็บข้อมูลคนเหล่านี้ และเอาเข้ามาสู่ระบบเพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายยามปกติและยามวิกฤต

“ถ้าประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสคุมกระทรวงการคลัง เราจะตอบโจทย์เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชิงสังคม
ระบบประกันสุขภาพ ประกันสังคม กลุ่มอิสระ อาชีพอิสระ ต้องดีกว่านี้”