ย้อนวิกฤตการเมือง ผบ.ทบ.ต่ออายุราชการ

ิพล.อ.อภิรัชต์-คงสมพงษ์
ภาพ : Jewel SAMAD / AFP

ข่าวต่ออายุผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นข่าวที่ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผบ.ทบ. ในฐานะบุคคลในข่าวก้มหน้า หัวเราะในลำคอ เมื่อถูกถามถึงกระแสข่าวดังกล่าว ก่อนตอบคำถามเมื่อ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า

“วันนี้เราคุยกันในการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ได้หารือกันว่าข่าวพวกนี้ไม่ใช่ข่าวเชิงสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ผมมองแล้วไม่มีสาระ ไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ ทั้งสิ้น และวันที่ 30 ก.ย.ผมก็ส่งธงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และถือว่าหมดภาระหน้าที่ ก็จบภารกิจในการเป็น ผบ.ทบ.”

อย่างไรก็ตาม ข่าวการต่ออายุราชการของนายทหารระดับสูงของกองทัพไทย ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมต่อคนในกองทัพที่รอจ่อคิวขึ้นเป็นใหญ่ในกองทัพ

“สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปบทเรียนการต่ออายุผู้นำกองทัพ 4 ครั้ง นำไปสู่วิกฤตทางการทหาร-การเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการต่ออายุทั้ง 4 ครั้ง เป็นการต่ออายุควบคุมทั้งกองทัพ และการเมืองให้ได้ ผลที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นวิกฤตกองทัพ และการเมือง เป็นอนุสติของผู้นำเหล่าทัพ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีข้ออ้างที่จะต่ออายุ

บทเรียนต่ออายุ 4 ครั้ง

บทเรียนที่ผ่านมามีให้เห็นแล้วในอดีต จากการต่ออายุผู้นำเหล่าทัพ 4 ครั้ง ครั้งแรก “จอมพลถนอม กิตติขจร” ต่ออายุตนเอง ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยที่ไม่ต่ออายุ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ ที่เกษียณอายุในคราวเดียวกัน แต่กลับแต่งตั้ง พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ไปดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิบดีตำรวจ อีกตำแหน่งหนึ่ง ผลก็คือเกิดความขัดแย้งระดับผู้มีอำนาจ

ครั้งที่สอง “จอมพลประภาส” ต่ออายุตนเองในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไปอีก 1 ปี จนนำไปล้อเลียนเสียดสีในหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” โดยนักศึกษา ม.รามคำแหง เกี่ยวกับ “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ” จนนักศึกษารามคำแหง 9 คนถูกคัดชื่อ เป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ครั้งที่สาม ในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่ออายุราชการตำแหน่ง ผบ.ทบ.ออกไปอีก 1 ปี เมื่อปี 2523 และอำลาตำแหน่งในปี 2524 ซึ่งการต่ออายุราชการ ได้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้นำทหาร และขยายตัวเป็นความขัดแย้งภายในกองทัพ โดยเฉพาะกับแกนนำทหารหนุ่ม “จปร.7” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “กบฏยังเติร์ก ครั้งที่ 1” ในเดือนเมษายน 2524 ที่เรียกว่า กบฏเมษาฮาวาย

ครั้งที่สี่ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการค้ำบัลลังก์อำนาจของ พล.อ.เปรม มือปราบกบฏเมษาฮาวายเมื่อปี 2524 กระทั่งได้เป็น ผบ.ทบ.ควบ ผบ.สส. และได้ต่ออายุราชการเช่นกัน กระทั่งเกิดเหตุรัฐบาลตัดสินใจ “ลดค่าเงินบาท” โดยพล.อ.อาทิตย์ ทำหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว สร้างรอยบาดหมางระหว่าง พล.อ.เปรม กับ พล.อ.อาทิตย์ และกลายเป็นช่องทางให้ผู้นำทหารรุ่น 7 กลับเข้ามามีบทบาทในการทำรัฐประหารอีกครั้ง และเหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นหนึ่งที่นำไปสู่ “กบฏยังเติร์ก ครั้งที่ 2” ในเดือนกันยายน 2528

การต่ออายุ “นายพล” กองทัพ มักจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤตการเมืองไทย” อย่างที่เคยเห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์