“ประจักษ์ ก้องกีรติ” นับถอยหลังจุดจบรัฐบาลทหาร อ่านม็อบนักศึกษา 19 กันยา

ประจักษ์มองม๊อบ

ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่เกาะติดขบวนการนักศึกษา ผ่านงานวิจัย และมีข้อค้นพบเชิง “ประจักษ์” ที่ถูกอ้างอิงระดับนานาชาติ

เจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์ “ก่อนจะถึง 14 ตุลา: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร” (พ.ศ.2506-2516) ต่อมาปรากฏตัวเชิงวรรณกรรม เป็นหนังสือชื่อ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา” ต่อยอดด้วยงานวิจัยระดับปริญญาเอก “เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง”

วาระ 19 กันยายน 2563 กำลังจะอุบัติขึ้นของขบวนการนักศึกษา “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ตั้งเป้าปลดแอกภาระและพันธการการเมืองแบบดั้งเดิม ที่อยู่คู่ “ระบอบประยุทธ์” มานานกว่าครึ่งทศวรรษ

ตั้งเงื่อนไขไต่ระดับตั้งแต่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน และยุบสภา ต่อด้วย 2 จุดยืน ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และรัฐประหาร จนถึง 1 ความฝันสูงสุด

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” ทั้งประเมินสถานการณ์ร้อน 19 กันยายน และการลงจากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขาประเมินว่า “ยากจะประเมิน ฉากจบ”

ประเมินสถานการณ์ 19 กันยายนนี้ ขบวนการนักศึกษาจะนำไปสู่อะไร

ไม่เชื่อว่ารุนแรงอย่างที่หลายคนโหมกระพือว่าจะมีการปะทะรุนแรง เพราะปกติความรุนแรงในการชุมนุมตามประวัติศาสตร์เกิดจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายนักศึกษาเขาอยากยกระดับมากกว่า 16 สิงหาคม แต่ไม่ใช่ยกระดับจากสันติวิธีไปเป็นรุนแรง แต่จะยกระดับในเชิงปริมาณหรือเชิงแท็กติกบางอย่างเพราะเขารู้ว่าต้องสันติวิธี ถ้าไม่สันติวิธีเมื่อไหร่ความชอบธรรมจะลดแน่นอน คนไม่อยากเห็นความวุ่นวาย นองเลือด การยกระดับจะเป็นการยกระดับเชิงความคิด อุดมการณ์

ในเชิงปริมาณเท่าๆ กับ 16 สิงหาคม และอาจมากกว่าที่ราชดำเนิน มีแนวโน้มที่ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์จะล้น ไปที่สนามหลวง เพราะพื้นที่มีนิดเดียว ซึ่งอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ที่จะรื้อฟื้นสนามหลวงมาเป็นที่สาธารณะ เพราะสนามหลวงเคยเป็นสถานที่สาธารณะที่คนทั่วไปใช้ได้ แต่ตอนหลังถูกปิด

และยังไม่เห็นว่าฝ่ายรัฐจะมาทำอะไรรุนแรงตอนนี้ เพราะเป็นช่วงขาลงของรัฐบาล ประชาชนเสื่อมศรัทธา บริหารเศรษฐกิจลำบาก ถ้าเกิดนองเลือดตอนนี้ยิ่งวิกฤต

ท่าทีของรัฐบาลจะมีแท็คติกรับแบบไหน

เป็นโจทย์หนักของรัฐบาล เพราะรัฐบาลอยู่มา 6 ปี นับจาก คสช.ไม่เคยเผชิญม็อบใหญ่มาก่อน 16 สิงหาคม ที่ราชดำเนิน เป็นม็อบใหญ่ที่สุด รัฐบาลเป็นช่วงที่ขาดประสบการณ์และขาดทักษะในการรับมือ  และม็อบนักศึกษาต่างจากม็อบเสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. เพราะมีการ์ดรักษาความปลอดภัย บางคนมีความเชี่ยวชาญใช้อาวุธ รัฐมีแนวโน้มม็อบเหล่านี้เป็นม็อบผู้ใหญ่แบบฮาร์ดคอร์ แล้วม็อบเน้นการไปบุก ยึดสถานที่ต่างๆ นำไปสู่การปะทะ ฝ่ายรัฐจึงเตรียมติดอาวุธไปรับมือ

แต่ม็อบนักศึกษาเป็นม็อบที่สันติวิธีมากๆ ต่อให้ไปยึดสนามหลวง ยึดโดยมวลชนเด็กๆ จะทำอย่างไร ใช้แก๊สน้ำตา สลายการชุมนุมเหรอ ในเมื่อยังอยู่ในกรอบแบบสันติที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ไม่ได้มุ่งปะทะ

โจทย์ของรัฐบาลยากกว่านักศึกษาจะรับมืออย่างไรในภาวะที่ความชอบธรรมต่ำ ซึ่งทำอะไรผิดนิดหนึ่งเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้คนต่อต้านรัฐมากขึ้น เพราะพล.อ.ประยุทธ์วันนี้ไม่เหมือนพล.อ.ประยุทธ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

รัฐบาลไม่สามารถออกอาวุธทางการเมืองได้

ออกได้น้อย ใช้ยุทธวิธีเดิม เป็นยุทธวิธีตามกฎหมาย ไล่จับ หรือ จับบางคนก่อนวันที่ 19 กันยายน ก็ได้เพื่อตัดกำลังของฝ่ายชุมนุม

รัฐบาลจะมีแท็กติกไหนที่ทำให้ม็อบนักศึกษาเสียขบวน

ตอนนี้ยังมองไม่เห็น รัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่รัฐบาลยอมบ้างถอยบ้าง แต่ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลค่อนข้างขี้เหร่ นักศึกษาไม่พอใจแน่ ถ้าจะแก้แบบนี้ เพราะที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของรัฐบาล คุมเกมในการร่างได้หมด และให้ตัวแทนนักศึกษา 10 คน จาก 200 คน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปออกแบบการเลือกอีก จะไม่ได้แกนนำนักศึกษาเยาวชนปลดแอกหรอก แต่จะได้แกนนำนักศึกษาจัดตั้ง สนับสนุนฝ่ายรัฐ ดังนั้น วันที่ 19 กันยายน นักศึกษาต้องรุกกลับแน่นอน

และยังมีตัวเทียบของร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายค้านที่ ส.ส.ร.มีความหลากหลายกว่า รวมถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน อย่างไอลอว์ ซึ่งนักศึกษาเห็นแล้วว่าดูดีกว่า

และมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว. แม้ญัตติของก้าวไกลจะตก แต่ในการชุมนุมของนักศึกษาประเด็น ตัดอำนาจ ส.ว.แทบจะเป็นฉันทามติ เขาไม่เอาแล้ว ส.ว. ไม่ใช่แค่ตัดอำนาจนายกฯ แต่เรียกร้องไปถึงสภาเดี่ยว ส.ว.ไม่มีประโยชน์ เป็นส่วนเกินของประชาธิปไตย ไม่เห็นความจำเป็น

แรงกดดันของม็อบวันที่ 19 กันยายน ต่อ ส.ว.จะหนักขึ้น เพราะเขาต้องการให้ ส.ว.ออกไปเลยด้วยซ้ำ จะขีดเส้นตายมากขึ้น เพราะ ส.ว.เป็นปราการด่านสำคัญของการรักษาระบอบการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น จะกลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 หมายเลข 2 ของการชุมนุม และนักศึกษาฉลาดแล้วไม่ได้โง่ ที่จะไปสอดไส้ปมต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องการหยุดคุกคามยังไม่ได้ผล ยังคุกคามรายวัน แค่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อก็หนักแล้ว

และ 2 เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ และการรัฐประหาร จุดยืนจะถูกตอกย้ำในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ตอนนี้เริ่มมีเค้าบางอย่างที่พยายามจะผลักการมีรัฐบาลแห่งชาติ นายกฯ คนนอก ขึ้นมาจริง ยิ่งไปตอกย้ำสิ่งที่นักศึกษาเคยเชื่อว่าจะเกิดขึ้น นักศึกษาจะยิ่งต่อต้านหนักในเรื่องไม่เอารัฐประหารกับรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลยิ่งขยับอะไรไม่ได้เลย หรือ พวกชนชั้นนำที่จะผลัก 2 เรื่องนี้ ไม่ได้เลยจะยิ่งโดนต้านหนัก และเข้ามาก็บริหารไม่ได้หรอก

“ขนาด 3 ป.ยังคุมพรรคร่วมรัฐบาล คุม ส.ส.ไม่อยู่ แล้วนายกฯ คนนอกเป็นใคร ลอยมา ไม่มีฐานอะไรเลย ไม่ใช่แบบตอนพฤษภาทมิฬ 2535 จบไปแล้ว แล้วการเมืองไทยยังมีเหรอ…คนกลาง ที่คนรับได้ แค่เสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุนมา คนก็มองว่าอาวุโสมากแล้ว แล้วคนก็ไปขุดรูปมาว่าเคยถ่ายรูปกับคุณณัฏฐพล (ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ) กับภรรยา ก็ไม่เหลือแล้วคนกลาง เพราะชนชั้นนำไทยเทหมดหน้าตักแล้วตอนชุมนุม กปปส.ไม่มีใครมาแล้วคนยอมรับว่าคนนี้จะมาแบบสมานฉันท์ ไม่อยู่ในความขัดแย้ง สร้างสามัคคีให้คนในชาติ…ไม่มี”

นักศึกษาควรมีเส้นตาย 3 ข้อ ทั้งแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ให้ชัดเจนกว่านี้หรือไม่

มันควรจะมี ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับ เริ่มมีไทม์ไลน์ ขีดเส้นตายให้รัฐบาล เพิ่มแรงกดดันรัฐบาล เหมือน 14 ตุลา ก็มีการขอรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี ไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ

19 กันยายนนี้ คิดว่าจะเห็นไทม์ไลน์ที่เกี่ยวกับ ส.ว. แก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงไทม์ไลน์ยุบสภา แต่ตอนนี้อย่างน้อยนักศึกษาตระหนักแล้วว่ายุบสภาตอนนี้ไม่มีประโยชน์ ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะยุบสภาตอนนี้กลับไปเหมือนเดิม ระบบเลือกตั้งเดิมนายกฯคนนอก ส.ว.อยู่ทั้งหมด ลำดับความสำคัญคือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภา เพียงแต่ไม่รู้ว่าเงื่อนเวลาที่นักศึกษาจะขีดให้รัฐบาลจะเร็วขนาดไหน

สภาผู้แทนราษฎร แห่ยื่นร่างปิดสวิตช์ ส.ว.จะเป็นเกมเดียวกับม็อบที่จี้ให้ ส.ว.ยุติบทบาทหรือไม่

ทำได้ทั้งสองทาง แต่ตอนนี้ต้องคิดว่าจะเอาอย่างไร ขึ้นกับเงื่อนเวลา เราไม่รู้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไรหรือไม่ที่นำไปสู่การยุบสภาค่อนข้างเร็ว การเมืองไทยมาถึงจุดที่ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ everything possible เราอยู่ในยุคที่สิ่งที่ไม่ได้เห็นก็ได้เห็นแล้ว เช่น ม็อบนักเรียนมัธยม ไล่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา 14 ตุลา 2516 ไปไม่ถึงมัธยม

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกระยะ ขบวนการนักศึกษาก็ต้องคิดเหมือนกัน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เร็วที่สุดอาจจะ 3-4 เดือน ถ้าเวลานั้นไม่ได้ปิดสวิตช์ ส.ว. ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้รัฐธรรมนูญใหม่

อาจจะแก้ 2-3 เรื่องก่อน ที่เป็นปมปัญหา แล้วต่อให้เกิดการยุบสภา 2-3 เรื่องนี้ปลดล็อกได้ คือ เอาอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ตัดนายกฯ คนนอก นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. การเข้ามาของนายกฯ ลุงตู่ก็ทำไม่ได้แล้ว ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เอาแค่ 3 เรื่องนี้ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมา อย่างน้อยเลือกตั้งใหม่ก็เป็นการแข่งที่แฟร์มากขึ้น

ปลายทางของขบวนการนักศึกษาจะไปสุดที่ข้อเรียกร้องไหน

ก็สุดที่ 1 ความฝัน เป็นตัวร้อยทุกอย่างเอาไว้ หมายความว่าเขาปักหลักตรงนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ แต่จะจบอย่างไรมันตอบยาก การเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่มีการนำแบบรวมศูนย์ ใช้เทคโนโลยีใหม่ มีพันธมิตรข้ามพรมแดน อย่างพันธมิตรชานมไข่มุก นักศึกษาศตวรรษที่ 21 แต่วิธีคิดรัฐบาลยังอยู่ในยุคสงครามเย็น ไม่ต่างกับยุคจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม รวมถึงกองทัพด้วย ดังนั้น การสู้กันคนละ level แล้วรัฐบาลยังตามไม่ทันนักศึกษา

ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา 6 ตุลา มีข้อจำกัดมาก โดนสกัดง่าย รัฐบาลเซนเซอร์สื่อ หรือ ปลุกระดมผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์หาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันสมรภูมิสื่อก็เปลี่ยนไป จะไปกล่าวหานักศึกษาแล้วป้ายสีเขาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบก็ไม่ได้ เพราะมีข่าวอื่นๆ เยอะแยะที่ทำให้เห็นว่านักศึกษาไม่เป็นแบบนั้น

และที่ต่างไปมากคือ network monarchy เลยคาดเดาฉากจบไม่ได้ แต่โมเดล 14 ตุลา และ พฤษภา 35 มันจบแล้ว จะไม่เกิดขึ้นแล้ว คือเกิดปะทะรุนแรงแล้วความขัดแย้งยุติด้วย 2 ฝ่ายมาคุยกันภายใต้พระบารมี และนักศึกษาก็เปลี่ยน มี 1 ความฝันขึ้นมา ซึ่งพฤษภาทมิฬ ไม่มี 1 ความฝัน และ 14 ตุลา เป็นราชประชาสมาสัย  ตอนนั้นนักศึกษาอยู่ภายใต้เพดานอุดมการณ์คือราชาชาตินิยม มาสู้กับเผด็จการทหาร ตอนนี้ไปพ้นแล้วและเขามองเห็นว่าต้องปฏิรูป

จึงคิดว่าไม่จบรูปแบบเก่า ซึ่งพอมองแบบนี้ก็น่ากลัวเหมือนกัน ความรุนแรงไม่เกิดง่าย แต่ถ้าเกิดก็จะจบยากเหมือนกัน ไม่มีเสียงสุดท้ายที่มาทำให้ยุติได้ง่ายๆ โดยทุกฝ่ายยอมรับ

จะมีจุดเปลี่ยนที่สร้างสรรค์ที่ทุกฝ่ายบรรลุข้อเสนอของตนเอง โดยสังคมมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ยังมี.. ยังมีประตูบานเล็กๆ ที่ต้องเปิดไปคือการแก้รัฐธรรมนูญในสภา โดยยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด มีเนื้อหาประชาธิปไตยมากที่สุด อย่างน้อยถ้าปลดล็อกข้อนี้ได้ ก็จะไปตอบโจทย์ 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องที่สำคัญของนักศึกษา หมายความว่ารัฐบาลต้องไปไกลกว่านี้ ในแง่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส.ส.ร.ต้องยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ โมเดลที่รัฐบาลเสนอมายังใช้ไม่ได้ เพราะสมัยสภาสนามม้าปี 2517 องค์ประกอบยังหลากหลายกว่านี้ ดังนั้น ทั้งที่มา ส.ส.ร. และเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลต้องยอมถอยมากกว่านี้

ส่วนตัว ส.ว.ต้องเอาตัวเองออกจากสมการการเมือง ส.ว.ชุดปัจจุบันไม่มีที่ทำในการเมืองตอนนี้ ถ้าแข็งขืนต่อไป ส.ว.จะเป็นโจทก์ เป็นตัวปัญหา ส.ว.ดังนั้น ส.ว.มีโอกาสที่จะถอดสลักตัวเองได้ และยังช่วยปลดล็อกระเบิดเวลาได้อีกลูกหนึ่ง

และอย่าลืมว่าพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค อย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย  ก็ไม่พอใจบทบาท ส.ว.หรอก แม้ประชาธิปัตย์จะมาเสียขบวนถอนชื่อญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลในนาทีสุดท้าย แต่ลึกๆ ก็ไม่พอใจหรอก นักการเมืองไม่มีใครพอใจที่อยู่ดีๆ มี ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ เท่ากับตัวเองและยังมีอำนาจทำอะไรหลายอย่าง

ถ้า ส.ว.ไม่ถอย จะโดนคลื่นประชาชนกดดันให้ออกไปจากเวทีในท้ายที่สุด มองไม่เห็นว่า ส.ว.จะอยู่ได้ ถ้ามีหัวขบวนสัก 5-10 คน ประกาศลาออก ยุติบทบาทตัวเอง จะมีคนอื่นตามมาอีก ช่วยปลดชนวน และไม่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ด้วยว่าเป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง จะเบาไปเยอะถ้าปลดตรงนี้ได้

อีกทางหนึ่ง เป็นการมองโลกในแง่ดีมากๆ แต่ถ้าประตูนี้เปิดจะช่วยเลี่ยงการเผชิญหน้า การปราบปราม และการนองเลือด คือ การออกมามีบทบาทของกลุ่มคนที่เรียกว่า royalist ที่มีสติ และปัญญา ถ้าไม่อยากให้เกิดการรัฐประหารต้องเลี่ยงการเผชิญหน้าแบบม็อบชนม็อบ ถ้าเราเรียนรู้จาก 6 ตุลา 19 ตอนนั้นมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงบนท้องถนน มีกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ลอบสังหาร ปาระเบิด จนบ้านเมืองเป็นอนาธิปไตย กฎหมายไม่ทำงาน ม็อบชนม็อบจะเกิด

การรัฐประหาร ทั้งปี 49 และปี 57 ก็เกิดความไม่สงบบนท้องถนนก่อน อยู่ดีๆ มายึดอำนาจเลยไม่ได้ ครั้งนี้ถ้าทำให้เกิดการสุกงอมจนถึงการรัฐประหารต้องมีภาวะแบบนั้นก่อน ดังนั้น ถ้าจะหยุดม็อบชนม็อบต้องหยุดเสียงของอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ไม่ให้ส่งเสียงดัง ดังนั้น ต้องหยุดยั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ขวาจัด เพราะถ้าดูข้อเสนอของกลุ่มนี้สุดโต่งกว่ารัฐบาลอีก royalist ที่มีสติ และปัญญา ต้องส่งเสียงให้ดังกว่านี้

ยังมีอยู่หรือไม่ ปัญญาชน สาย royalist ที่จะออกมาส่งเสียง

มี…..แต่เขาไม่กล้าออกมาพูด ยิ่งสูงยิ่งหนาว ยิ่งมีสถานะทางสังคมสูงยิ่งมีอะไรจะเสียเยอะ ต้องคำนวณให้ดี แต่คนกลุ่มนี้จะออกมาทำให้ประเด็น 1 ความฝันไม่ร้อนแรงจนเกินไป หากเขามาชี้แจงให้เห็นว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษาเป็นการเรียกร้องในกรอบรัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกลุ่ม royalist อย่างแท้จริงไม่ต้องเห็นด้วยกับ 10 ข้อเรียกร้องก็ได้ แต่อย่างน้อยเห็น 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ ทำให้กระแสการปฏิรูปพอเกิดขึ้นได้ สุดท้ายมาต่อรองอภิปรายกัน

โครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร ในระบบเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบปกติไหม

มันไม่ปกติเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทำให้ไม่ปกติ รัฐบาลอ่อนแอเสียจนไม่มีการนำ ตอนจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม เป็นเผด็จการอำนาจรวมศูนย์จริงๆ แล้วนายกฯ ตัดสินใจได้ ตอนนี้รัฐบาลผสมพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันยังอ่อนแอด้วย สั่ง ส.ส.ซีกรัฐบาลยังไม่ได้เลย รัฐมนตรีคลังยังหาไม่ได้เลย ตอนสมัยจอมพลถนอม ยังมีเทคโนแครตเก่งๆ อยากมาทำงานด้วย ยุคพล.อ.เปรม เป็นทหารก็จริง แต่บริหารคนเป็น ฟังเสียงเขาจริงๆ ก็อยากมีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ มาทำงานด้วย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ พาตัวเองมาอยู่ในจุดที่เป็นจุดศูนย์รวมปัญหาของทุกอย่าง เพราะนอกจากเป็นนายกฯ 6 ปี ยาวนานรองจาก พล.อ.เปรม จอมพลถนอม จอมพล ป. แล้ว 6 ปีบริหารประเทศไม่สำเร็จ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเองด้วย ผูกเงื่อนปมให้ตัวเองเยอะแยะไปหมด ทำให้ตัวเองลำบาก และข้อต่างอันหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ คุมกองทัพไม่ได้ทั้งหมด ทำให้ไร้การนำ

“ปัญหาเรื่องระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ เป็นปัญหาสำคัญ เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นจะเห็นได้อย่างชัดเจน คำถามคือ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งกองทัพได้ 100% หรือเปล่า สั่งให้ปราบสั่งได้ไหม หรือถ้าการปราบปรามเกิดขึ้น สั่งให้ยุติสั่งได้ไหม…อาจจะไม่นะ แล้วกองทัพฟังใครในยามวิกฤต ตรงนี้คิดว่าน่าเป็นห่วง”

3 ป.มีอำนาจ แต่บริหารไม่ได้แล้วใช่ไหม

ใช่.. มีตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจนำ อำนาจที่เป็นจริง ที่ทุกฝ่ายเคารพและสยบยอมอยู่ภายใต้เขา ไม่มีอำนาจนำตัวนี้แล้ว

ไร้อำนาจนำในฝ่ายรัฐด้วยกันเอง ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากภาคธุรกิจ และต่างประเทศ จะดำรงสถานะการเป็นรัฐบาลไปได้มากแค่ไหน จะอยู่นิ่งๆ ต่อไปเรื่อยๆ ประคองสถานการณ์ไปได้หรือไม่

เป็นวิธีคิดของรัฐบาล วิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นความเชื่อที่มองโลกในแง่ดีมากๆ และจะมากจนเกินไป เชื่อว่ายุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลคือการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ คิดว่าตัวเองอึดกว่า ยอมนิดๆ หน่อยๆ  นักศึกษา คณะเยาวชนปลดแอกจะฝ่อ เหนื่อยไปเอง ความเชื่อนี้อาจมาจาก 5 ปีนี้ทำมาได้ในยุค คสช. เพียงแต่คิดว่าไม่เหมือนเดิมแล้ว ยุคนี้ไม่ใช่ยุคอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือน คสช. ไม่มีมาตรา 44 กระทั่ง การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามมาหลอกหลอนหลายเรื่องแล้ว เช่น เหมืองทองอัครา ตอนนี้ปัญหารุมเร้ามาก รัฐบาลคิดว่าซื้อเวลาได้ แต่ผมคิดว่าซื้อเวลาไม่ได้แล้ว

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง แต่ตอนนี้วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง และธนาคารโลกบอกว่าจนถึงสิ้นปีหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจมีคนตกงาน 14 ล้านคน เป็นเรื่องใหญ่ จะมีรัฐบาลไหนอยู่ได้เรื่อยๆ ไปชิลๆ ในประเทศที่คนตกงาน 14 ล้านคน

ตอนนี้คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศเหมือนประเทศยังไม่วิกฤต บริหารแบบรูทีน จนกระทั่งไม่มีรัฐมนตรีคลังก็ไม่เป็นอะไร แสดงว่า out of touch จากความเป็นจริง ถ้าไปเดินตลาดตอนนี้อาจจะเดินไม่อยู่รอดปลอดภัยนะ เพราะไม่รู้อุณหภูมิความเดือดร้อนของประชาชน หรือ ความโกรธของนักเรียน นักศึกษา คนเดียวที่สัมผัสความโกรธคือ รมว.ศึกษาธิการที่ไปที่ม็อบ ยิ่งซื้อเวลามากเท่าไหร่ช่องว่างจะยิ่งห่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

พลเอกประยุทธ์-นายกรัฐมนตรี

เมื่อรัฐบาลซื้อเวลา อะไรจะเป็นจุดแตกหักให้รัฐบาลต้องไป

ม็อบตอนนี้เป็นม็อบ 2 หมื่นคน เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นม็อบ 2 แสนคนเมื่อไหร่ ยากที่รัฐบาลจะอยู่ได้ ยิ่งนานวันเข้า การชุมนุมของประชาชนจะขยายตัวมากกว่าหดตัว แต่รัฐบาลกลับเชื่อว่าหดตัว แล้วก็เห็นจากประเทศอื่น คนก็ออกมาจากปัญหาปากท้องที่ไม่มีจะกินแล้ว ไม่ใช่แค่ปัญหาการเมือง ต่อจากนี้ข้างหน้าจะไม่ใช่แค่ม็อบเยาวชน แต่จะมีเกษตรกร แรงงาน ธุรกิจรายย่อยที่จะมาสมทบ คราวนี้รวมเป็น 1 ความฝันอีกแบบหนึ่ง ถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลหมดเวลา

อะไรคือสิ่งที่ support ให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ต่อได้

คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีกลไกค้ำจุลอำนาจของรัฐบาลมากกว่าตัว ส.ส. ปกติถ้าเป็นรัฐบาลผสม 20 พรรค มีเสียงเกินครึ่งสภาไปนิดหน่อย จริงๆ อายุไขต้องหมดไปแล้ว อยู่ได้ประมาณ 1 ปี ต้องยุบสภา ลาออก แต่มีกลไกค้ำจุลคือ ส.ว. กองทัพ และองค์กรอิสระ ที่เราพอมองเห็นแพทเทิลในการตัดสิน ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่ใช่ขั้วอำนาจนี้ต้องโดนคดีเยอะแยะไปหมดแล้ว

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังทำให้เกิดความผิดปกติอย่างไม่ที่เคยเป็นมาก่อน คือผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง เอาทหารไปคุม ส.ว.อีกที เป็นกลไกที่สำคัญ การปลดล็อก ส.ว.คนที่ควรแสดงสปีริตลาออกก่อนคือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ควรทำให้เป็นตัวอย่าง แต่ถามว่าทำไมยังอยู่ได้..ก็เพราะกลไกพิเศษเหล่านี้

กลัวขบวนการนักศึกษาแพ้ฟาล์วหรือไม่ หากรัฐบาลชิงยุบสภาเลือกตั้งใหม่

คงมีคนฝั่งรัฐบาลคิดมุมนี้อยู่ ง่ายที่สุดในการปลดชนวน ล้มกระดานตรงนี้ก่อน เพราะคุมกติกาได้ แต่ผมเชื่อว่าไม่ได้เป็นการแพ้ฟาวล์ของขบวนการนักศึกษาและประชาชน เพราะหากรัฐบาลชิงยุบสภา จะเป็นการเลือกตั้งที่ดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเดิมพันจะสูงมาก และจะเป็นการเลือกตั้งที่ยิ่งกว่าปี 2562 เพราะนักศึกษา หรือประชาชนที่ไม่พอใจผลงานรัฐบาลจะชวนออกไปคว่ำรัฐบาลให้ได้จากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดสึนามิทางการเมือง

เลือกตั้งมาเลเซียก็เป็นแบบนี้ กติกาไม่แฟร์ ไม่ถูกปฏิรูป กกต.ก็เป็นของรัฐบาล แต่ชนะจนถล่มทลาย เป็นสึนามิ ยังไงก็ขวางไม่ได้ถ้าคลื่นประชาชนถล่มทลาย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกล้าจะเดิมพันหรือเปล่า

มาถึงจุดที่รัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว หมดเวลาสำหรับรัฐบาลแล้ว

เป็น the beginning of the end แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบบางอย่าง ตอนนี้รัฐบาลประยุทธ์ เริ่มต้นนับถอยหลังด้วยปัจจัยหลายอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มา 6 ปี เป็นคนหน้าเก่า ไม่มี honeymoon period ตั้งแต่ต้น เจอโควิด-19 เจอวิกฤตเศรษฐกิจขนาดนี้ ถ้าใครเชื่อว่าจะอยู่ได้ครบเทอม แล้วอยู่ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ต้องเป็นคนที่มองโลกแบบในทุ่งลาเวนเดอร์มากๆ รวมถึงถ้ามีใครไปเป่าหูแบบนี้ เชื่อว่านั่นไม่ไหวดีแน่ๆ ดูแล้วปัจจัยขนาดนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าการนับถอยหลังนี้จะยาวขนาดไหน แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะหาทางลงให้ตัวเองอย่างไร ต้องคิดหาทางที่ไม่บอบช้ำจนเกินไป

ไม่อย่างนั้นมีความเสี่ยงหลายทางรออยู่ข้างหน้า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่รัฐประหารเพื่ออุ้มพล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ ส.ว.จะอุ้มแกไปตลอดเหรอ ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตั้งคนเหล่านี้มาก็อยู่ได้แค่สมัยเดียว

ทางลงของ พล.อ.ประยุทธ์ มีกี่ทาง

มีไม่กี่ทางหรอก มีไม่เยอะ นายกฯ ที่เป็นทหารจบไม่สวยสักราย เพราะอยู่เกินอายุไขทางการเมืองของตัวเอง สุดท้ายกีมีคนมาเชิญให้ลง หรือ เชิญมาไล่ให้ลง จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยปฏิวัติ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.สุจินดา คราประยูร มีคนมาขับไล่ ถ้าอยู่ไปเรื่อยๆ อาจจบแบบจอมพลถนอม พล.อ.สุจินดา

อีกแบบหนึ่งต้องชิงลาออก ง่ายที่สุด ไม่บอบช้ำมาก และกว่าจะลาออกคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ มีเครือข่ายขนาดนี้ต้องเจรจาทั้งหลายไว้แล้วแหละ หาทางลงที่สวยงาม ไม่บอบช้ำ…ยังมีทาง

ไม่เช่นนั้นจะเป็นอีกแบบหนึ่ง แบบเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ โดนบีบให้ออก คือรัฐประหารเงียบ ถ้าอยู่ไปทำอะไรต่อไม่ได้ อาจจะโดนบีบโดยพวกชนชั้นนำกันเองนี่แหละ องคาพยพของชนชั้นนำที่ไม่เห็นแล้วว่าไม่อยากจมไปพร้อมกับเรือแป๊ะนี้ก็สละ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้เรือนี้แล่นต่อไป เพราะยังมีคนที่อยากเกาะเกี่ยวผลประโยชน์แบบนี้อยู่

ส่วน ส.ว.ไว้ใจไม่ได้ ประชาชนก็ไว้ใจ ส.ว.ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตรเองก็ไว้ใจ ส.ว.ไม่ได้ เหมือนม้าไม้เมืองทรอยด์เลย เป็นไส้สึกของฝ่ายไหนในยามวิกฤต และไม่เชื่อว่าเป็นเอกภาพ 250 เสียงเริ่มจับกลุ่มเป็นก๊กเป็นเหล่า

เราจะเห็นว่า ส.ว.มีกี่กลุ่ม มีวิธีคิดอย่างไร และ ส.ว.ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นชนชั้นนำมีเครือข่ายทางสังคมเยอะ ไม่มีใครอยากจบประวัติศาสตร์ไม่สวยหรอก ต้องคิดเยอะ ดูกระแสหลายอย่าง

ถ้าจะบีบให้พล.อ.ประยุทธ์ออก หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเอง ยังมีช่องของนายกฯ คนนอกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถ้าไม่เอาจากบัญชีนายกฯ  ชื่อจากบัญชีพรรคการเมืองคนที่มีภาษีดีที่สุดคือคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ของภูมิใจไทย จะกลายเป็นคนที่มีภาษีที่สุด แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่โหวตให้ ก็จะไปสู่ช่องนายกฯ คนนอก ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง ซึ่งพรรครัฐบาล รวมกับ ส.ว. เกิน 500 สามารถโหวตเอาใครก็ได้จากนายกฯ คนนอก

ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครไว้ใจกันได้ เพราะเรือใกล้จะล่ม จะมีคนกระโดดออกจากเรือ ถ้าสัญชาติญาณของนักการเมืองต้องมองถึงเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้ว ถ้าเกิดการเลือกตั้ง 5-6 เดือน ตัวอย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ถ้าไม่ขยับอะไรบ้าง ไม่รักษาระยะห่าง แสดงจุดยืนอะไรบางอย่าง จะเอาอะไรไปขาย บางพวกในพรรคประชาธิปัตย์เขารู้ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็พร้อมแตกได้ทุกเมื่อ เหมือนกรณีพรรคสามัคคีธรรม ที่ พล.อ.สุจินดา ไม่อยู่ พรรคก็แตก