ปัญญา-ฝ่าวิกฤต เบื้องหลังวิกฤตสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ประชาธิปไตย

หนังสือชุด ปัญญา-ฝ่าวิกฤต เบื้องหลังแห่งวิกฤต ราชสำนัก จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย

มหาวิกฤต ที่เป็นจุดตัดแห่งการเปลี่ยนแปลง 2475 ถูกสั่งสมล่วงหน้ามาก่อนกาล ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย รัชกาลที่ 5 สู่แผ่นดินรัตนโกสินทร์ ที่ 6 และก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติ

แต่ละห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ก่อนขึ้นสู่รัชสมัยใหม่ ในประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจริยภาพ แห่งการตัดสินพระราชฤทัย ในการแต่ละเสี้ยวนาทีแห่งการผลัดแผ่นดิน ล้วนใช้ปัญญา ฝ่าวิกฤต ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์

ก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 5 จะรับพระราชบัลลังก์สืบต่อมาจากรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำรัสก่อนสวรรคต กับ 3 พระญาติ และเป็นทั้งมหาอำมาตย์เอก ว่า…

“บัดนี้ กาละ จะมาถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรส ธิดา อย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งไรที่เป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอท่านทั้ง 3 จึงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด”

แม้รัชสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จะเป็นยุคแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยที่ยิ่งใหญ่ แต่ตลอดรัชสมัย ต้องฝ่าทั้งภัยคุกคามจากมหาอำนาจ และวิกฤตราชสำนัก ทั้งวังใน-วังหน้า

ADVERTISMENT

ในแผ่นดินพระปิยมหาราช พระราชวงศ์ระดับสูงและอำมาตย์จำนวน 11 คน กราบบังคมทูลความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน ร.ศ.130 “เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ”

แต่รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “ต้องการปฏิรูปอำนาจของรัฐบาลเสียก่อน จึงนำมาสู่การปฏิรูปการปกครองเพื่อรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจ”

ADVERTISMENT

กระทั่งถึงปลายรัชสมัย ทรงมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า “จะให้ลูกวชิราวุธ มอบของขวัญแก่พลเมืองในทันที ที่ได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ในฐานะสืบตำแหน่งกษัตริย์”

ถัดจากนั้นเพียง 1 ปี “รัฐสภาและรัฐธรรมนูญ” อันเป็นความใฝ่ฝันของนายทหารหนุ่มและอำมาตย์ ระดับแกนนำ 60 คน ก็ชิงลงมือมือ ผ่านการปฏิวัติ 2454 (ร.ศ.130) ทว่าเวลาไม่ได้อยู่ข้างฝ่ายก่อการ การณ์จึงกลับกลายลงท้ายด้วย “กบฏหมอเหล็ง”

แผ่นดินที่ 6 ของพระมงกุฏเกล้าฯ ตามพระราชบันทึกของพระองค์เอง ที่ใช้นามปากกา “ราม วชิราวุธ”  ระบุไว้ว่า “ยุ่งเหยิง มีอยู่ทุกวัน” ตั้งแต่วาระแรกแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ “แม้ในระหว่างงานบรมราชาภิเษก ซึ่งเปนงานที่ฉันควรได้รับความบรรเทิงใจ ไหนจะเหน็จเหนื่อยกายที่ตรากตรำในการทำพิธีการต่างๆ ไหนจะต้องเหนื่อยใจในการที่ต้องวินิจฉัยในข้อทุ่มเถียงต่างๆ อีก”

ไหนจะปัญหามรสุมเศรษฐกิจ การคลัง ขาดงบประมาณ ถึงขนาดต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ

15 ปีของรัชสมัย ตามทัศนะ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ หลายประการ อาทิ  โรงเรียนวชิราวุธ ,มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ,สะพานพระรามหก ,พระที่นั่งอนันตสมาคม ,พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ,เมืองดุสิตธานี และพระราชนิพนธ์หนังสือ ไม่น้อยกว่า 160 เล่ม

ครั้นถึงรัชกาล ที่ 7 พายุใหญ่ที่สะสมกำลังมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยที่ 5 พัดโหมเข้าใจกลางราชสำนัก

แต่การตัดสินพระทัยในช่วงมหาวิกฤตใหญ่ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง พลิกผันสถานการณ์จากเผชิญหน้าสู่การอภิวัฒน์สยาม

เมื่อมือแห่งเทพเทวาคลี่ม่านคลุมฟ้า ย่ำรุ่งวันแรม 6 ค่ำเดือน 7 ปีวอก สมาชิกคณะราษฎร 2475 เคลื่อนกำลังประชิดลานพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้พระบรมวงศ์ เป็นตัวประกัน

ข้อโต้แย้งเรื่อง ชิงสุกก่อนห่าม ถูกตอบคำถามว่าเป็นการสุกงอมเต็มที่ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถูกแทนที่ ด้วยการปักหมุดหมายแห่งความจริงใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

การสืบสันตติวงศ์ เปลี่ยนสายสู่ราชสกุลมหิดล ในแผ่นดินรัชกาลที่ 8 เพียงไม่นานก็เปลี่ยนผ่านสู่มหาราชา รัชสมัยที่ 9 ทรงครองราชย์ ครองใจประชา ยาวนานกว่า 70 ปี

ต้นแผ่นดิน รัชกาลที่ 9 นี้เอง ที่ฝ่ายการเมืองยาตราเข้าสู่การ “โหนเจ้า” เป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม กระทั่งตั้งข้อหาอันเป็นเคล็ดวิชาต้นตำรับ มารดาแห่งข่าวลวง หรือ  fake news ด้วยการตะโกน 5 คำ ในโรงหนังโจมตี “ปรีดี…”

เมื่อเสียงพระแสงปืนเงียบลง ความรู้สึกของพลอย แห่งสี่แผ่นดิน ตามคำประพันธ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายไว้ว่า “ท้องฟ้ามืดครึ้ม เสียงลมพัด เสียงนกร้อง เสียงน้ำไหลหน้าบ้าน ฟังดูเหมือนเสียงร้องให้”

“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” เลือกให้พลอย จบชีวิตในแผ่นดินที่รัชกาลที่ 8 ปล่อยให้ ตัวละครแห่งชีวิตจริงโลดแล่นสู่ยุคประชาธิปไตย ที่ยังคงต่อสู้อยู่ต่อไปใน 2 ขั้วเดิม คู่ขนาน-ก้าวหน้าและอนุรักษนิยม

คณะราษฎร กลับมาจุติใหม่ ในปี 2563 และยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น แหลมคม เร่าร้อน

ใจความเกือบทั้งหมดนี้ เรียบเรียงจากหนังสือ “ปัญญา (ฝ่า) วิกฤต” เขียนโดย ภิญโญ ไตรสุรยธรรมา ผู้สร้างสรรค์หนังสือชุด “ปัญญา” มาแล้ว 4 เล่ม

อัดแน่นไปด้วยเกร็ดข้อมูลใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาแห่งการฝ่ามหาวิกฤต ในแต่ละยุคสมัย ยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดพลิกผันในการตัดสินใจ เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ จนถึงปัจจุบัน

ชี้ให้เห็นจุดตัด-เชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ใหญ่ นาทีแห่งประวัติศาสตร์ ของมวลชน-ทหาร ผู้ก่อการ และผู้นำที่เปลี่ยนแปลงโลก

งานเขียนที่สกัดภาวะแห่งสงครามโลกตะวันตก ตัดกับการปฏิวัติสยาม สลับกับเสียงปืน-ความโกลาหล และปัญญาชนชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” สนธิปัญญากับทหารหนุ่ม สู่ความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ในยุค 2020

เห็นภาพประวัติศาสตร์-การเมือง ป่าทั้งป่า ในภาวะวิกฤต ทางเลือก การตัดสินใจ คำพยากรณ์ที่เป็นลิขิตฟ้า สุดท้ายชี้ให้เห็น “ปัญญา” แผ่นดิน

ในวิกฤต ยุค “ราษฎร 2563” ไม่มี “ปรีดี” ยากที่จะหานายทหารหนุ่มที่ครบเครื่องทั้งสติ-ปัญญาและเข้าใจปัญหาประชาธิปไตยใหม่ แม้ไม่มีเสียงปืนปริศนา แต่การสางความโกลาหล ยังไร้ซึ่งทางออกแห่งปัญญา

คนโบราณว่า “หนังสือ เป็นสื่อทางปัญญา” หนังสือชุด “ปัญญา (ฝ่า) วิกฤต” คือความประจักษ์ถึงคำโบราณนั้น