เพื่อไทย : เจ๊หน่อย-ทีมแคร์ ชิงซีนม็อบราษฎร-ตัดหน้าหาเสียง อบจ.

หญิงหน่อย

พรรคเพื่อไทย (พท.) ยังวนเวียนทำศึกภายในพรรค ระหว่างกรรมการบริหารชุดใหม่ กับทีมคุณหญิงสุดารัตน์

หลังเกิดแผ่นดินไหวทางการเมือง-การยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)  เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก ในพรรคเพื่อไทย ที่นายทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ยังคงยืนหนึ่ง มีบารมีเหนือการเมืองในเพื่อไทย

อย่างน้อยการทำงานหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562  ก็มีขั้วอำนาจนำที่อยู่ในทีมของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ทั้งกิจการในสภาผู้แทนราษฎร และงานการเมืองภาคสนาม

หลังผ่านการคุมเกมโดยทีมคุณหญิงสุดารัตน์ มากว่า 1 ปี เกิดปรากฏการณ์ “กลุ่มแคร์” ภายใต้ความแตกร้าว-ไม่ลงรอยของทีมหลัก ในพรรค “เพื่อไทย” ยากที่จะไปต่อ ทั้งในระดับเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ

ภายใต้ “ทีมเจ๊หน่อย” ที่ยังคงเดินสายเปิดอีเวนต์ โชว์ภาพขยันลงพื้นที่ทำคะแนน กับลูกน้องคู่ใจไม่กี่คน

ขณะที่ “ทีมหัวหน้าพรรค” ไร้เงาขาใหญ่-ไร้ทิศทางและเป้าหมายทางการเมือง ทั้งในเกมในสภาผู้แทนและเกมเข้าถึงมวลชนในท้องถนน

ADVERTISMENT

สถานการณ์จึงสุกงอมเพียงพอ ที่จะตั้ง “กลุ่มการเมือง” ที่แข็งแรงทั้งบุคคลระดับอดีตขุนพลพรรคไทยรักไทย และแข็งแกร่งในแง่การนำเสนอประเด็น-ญัตติสาธารณะ ในภาวะบ้านเมืองคับขัน-วิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาดร้าย

ด้วยนวัตกรรมการเมืองใหม่ ภายใต้ประสบการณ์-บทเรียนและสิ่งแวดล้อมใหม่ของ “นักตั้งพรรค” ตั้งแต่ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทยและไทยรักษาชาติ จึงเกิดการจับตัวกันของ “กลุ่มแคร์”

ADVERTISMENT

ที่มีสมาชิกก่อตั้งจากอดีตขุนพล “ทักษิณ” 4 คน ต่อขยายเชื่อมสายกลับไปในเพื่อไทย ก่อเกิดกรรมการบริหารใหม่ 24 คน และกรรมการย่อยอีกไม่น้อยกว่า 2 ชุด

ทีม “พี่ใหญ่ไทยรักไทย” ในฐานะโซ่ข้อกลาง ที่เชื่อมผ่านความคิด-นโยบาย ระหว่างทีมทักษิณ กับทีมเพื่อไทย และขยายไปที่ “กลุ่มแคร์” ถ่ายทอดความคิดผลักดันสู่สาธารณะ อาทิ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ,นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายภูมิธรรม เวชยชัย โดยมีรุ่นเก๋าเกมให้กำลังใจ อยู่เบื้องหลัง อาทิ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และอดีตนักการเมืองไทยรักไทยอีกหลายราย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในพรรคเพื่อไทย เมื่อ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ภายใต้กรรมการบริหารใหม่ หลังจาก ทีมคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ยกทีมลาออก

มีวาระการเมือง 2 เรื่อง 2 ขั้วในพรรคเคลื่อนไปข้างหน้า แบบคู่ขนาน-เบียดชิงซีน

ทางหนึ่ง คือการร่วมขบวนการกับเยาวชนฝ่ายประชาธิปไตย ในนามกลุ่มราษฎร 2563 ลงพื้นที่ในท้องถนน-ประกันตัว ช่วยเหลือด้านคดีและการรักษาพยาบาล พระรามเก้า ที่มีคุณหญิงพจมานเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมเปิดจุดเชื่อมกับเครือข่ายคนเสื้อแดง

อีกทางหนึ่ง คือการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น เฉพาะหน้าคือ ชิงชัยเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ทั่วประเทศ ที่พรรคมีมติปักธง จุดที่คิดว่าจะได้เปรียบ เพียง 25 จังหวัด เน้นภาคอีสาน 10 จังหวัด เหนือ 6 จังหวัด และภาคกลาง 9 จังหวัด ในขณะที่กลุ่มก้าวหน้าขวัญใจเยาวชนของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ส่งลงชิงถึง 41 จังหวัด ทั่วประเทศ

การเคลื่อนการเมือง 2 ขา ­­ถูกขัดขากันเองภายในพรรคเพื่อไทย ทั้งทีมคนรุ่นใหม่ ที่รวบรวมมาได้จากอดีตไทยรักษาชาติ และทีมทายาทนักการเมืองในเพื่อไทย จากเดิมมี “กลุ่มเพื่อไทยพลัส” ถูกเขย่ายใหม่ เป็น “คณะทำงานเยาวชนและคนรุ่นใหม่” หลังการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.00 -17.00 น. ที่ชั้น 4  ในที่ทำการพรรคเพื่อไทย

ขณะที่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น มีคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่น ขึ้นมาขับเคลื่อน การเลือกตั้งนายกฯ อบจ. แต่ชัดเจนว่า ยังไม่โฟกัสการเลือกตั้งอื่นๆ รวมทั้งการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

“การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ปัจจุบันไม่มีการเลือกตั้ง และถูกคำสั่ง คสช.ให้รักษาการต่อไป ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเมื่อไรก็ไม่ทราบ” นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค แถลงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้น 1 วัน เกิดปรากฏการณ์ ที่นำมาสู่การถกแถลงในห้องประชุมพรรค เมื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ จ.นครพนม และร่วมขบวนหาเสียงกับ ดร.สมชอบ นิติพจน์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม และผู้สมัคร ส.อบจ.ทั้ง 12 อำเภอ จำนวน 30 เขตเลือกตั้ง

ข้อครหาเก่าที่ถูกนำมาอภิปรายคือ การลงพื้นที่ดื้อแพ่ง-บุกไปหาเสียง โดยไม่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่น ของพรรค

ก่อนหน้านี้ 1 เดือน คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญ ในการกระจายอำนาจให้สำเร็จ

“สำหรับพรรคเพื่อไทย การสรรหาผู้สมัครของแต่ละพื้นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วไป องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะมีผู้รับผิดชอบต่างหาก ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในฐานะที่ดิฉันเป็นประธานสรรหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาผู้ร่วมอุดมการณ์ ที่จะเปลี่ยนกทม. ทั้งในระดับ สภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งขณะนี้มีรายชื่ออยู่ในมือบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะเลือกใคร”

การเคลื่อนขบวนของพรรคเพื่อไทย อยู่ในเส้นขนาน ระหว่างทีมเจ้าแม่ กทม. กับทีมขุนพลทักษิณ ทั้ง 2 ขั้วนี้ ผลัดกันขับเคี่ยว ทั้งทิศทางในการร่วมขบวนราษฎร 2563 และทิศทางในการเลือกตั้งท้องถิ่น