จับตา นายกรัฐมนตรี ประกาศ พ.ร.ก. ประชามติ พ่วงเลือกตั้งนายกฯ อบจ.

การประชุมสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 2 จับตา นายกรัฐมนตรี ประกาศ พ.ร.ก. ประชามติ พ่วงวันเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 2 (27 ตุลาคม 63 ) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะแจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภา เรื่องการเตรียมจัดทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม ในนาม “ราษฎร” และฝ่ายค้าน

โดยการทำประชามติขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 166 กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามนัยแห่งมาตรา 172 กรณีคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉิน

โดยการทำประชามติ กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอทางเลือกไว้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 63 ระบุว่า

“ข้อเสนอที่น่าใคร่ครวญคือการสอบถามประชาชนผ่านกระบวนการประชามติ ตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ทว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าห้ามลงประชามติในเรื่องตัวบุคคล แต่ถ้ามีกระบวนการตั้งคำถามที่แนบเนียนและแยบคายก็อาจพอไปได้ ซึ่งนายกฯ จะแจ้งต่อรัฐสภาว่าข้อเสนอนี้เป็นไปได้หรือไม่ต่อไป”

การอภิปรายของนายวิษณุ เป็นการ ต่อยอดการชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้อภิปรายตอบโต้ฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมว่า “รัฐบาลได้มีการพูดคุยหารือ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 63 ได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล หารือว่าเราจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอย่างไรในสภา และได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนนี้ สภาจะพิจารณารัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1-3 จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม”

“แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอการทำประชามติก่อน ในสัปดาห์หน้ารัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติเข้าสู่การพิจารณาสภา เมื่อ พ.ร.บ.เสร็จเมื่อใดก็จะทำประชามติเมื่อนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็สนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ขณะที่ในช่วงค่ำของวานนี้ (26 ตุลาคม) มีการอภิปรายสนับสนุนเรื่องการทำประชามติ หลายรายอย่างเป็นระบบ อาทิ พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม วุฒิสมาชิก ที่เสนอให้ทำประชามติพ่วงไปในวันที่ 20 ธันวาคม 63 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ

พล.อ.ต.เฉลิมชัย อธิบายขั้นตอนเพื่อสนับสนุนการทำประชามติพ่วงการเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม ไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ประธานรัฐสภาใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 5 เพื่อตั้งคณะกรรมการแสวงหาคำถามที่จะนำไปทำประชามติ ประกอบด้วยตัวแทน ครม., ส.ส. รัฐบาล, ส.ส. ฝ่ายค้าน, ส.ว., ผู้แทนนักเรียน/นักศึกษา, ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน, อดีตประธานศาลฎีกา, อดีตประธานศาลปกครอง และตัวแทนองค์กรอิสระ
  2. คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่แสวงหาคำถามที่จะนำไปทำประชามติอย่างน้อย 3 ข้อเพื่อส่งให้รัฐบาลรับไปเป็นคำถามประชามติ แล้วลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป
  3. คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่จัดทำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีความขัดแย้งนี้เป็นกรณีเฉพาะ โดยเชื่อว่าคงไม่มีผู้ใดไปส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

วุฒิสมาชิก ผู้เป็นน้องชายนายวิษณุ ระบุด้วยว่า ถ้าเป็นไปได้ ให้ทำประชามติวันที่ 20 ธันวาคม 63 เพราะจะมีเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ ดังนั้นกฎหมายพิเศษนี้ “จะใช้เพื่อการเลือก อบจ. และการทำประชามติ”

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  อภิปรายสนับสนุนว่า “จึงขอเสนอแนะ ต่อท่านนายกรัฐมนตรี หากจะคืนอำนาจให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสิน อาจจะใช้การออกเสียงประชามติ ให้ประชาชนทั้งประเทศ ออกเสียงว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดชุมนุมเรียกร้อง 3 ข้อในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหากระทบต่อเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย”

“การออกเสียงประชามติรับฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศ อาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรี จะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

แต่ปัจจุบันพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังต้องรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

“จึงเสนอให้ คณะรัฐมนตรี ตราพระราชกําหนด ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้นำมาใช้ให้ทันกับสถานการณ์โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 บัญญัติว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

“กระผมจึงขอเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศ ขอให้คณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาจัดให้มีการออกเสียงประชามติของคนทั้งประเทศ มาตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดชุมนุมเรียกร้อง 3 ข้อในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหากระทบต่อเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย จะได้มีข้อยุติว่าเสียงข้างมากของประชาชน 66.5 ล้านคน ทั้งประเทศจะเอาอย่างไร”

“เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตยโดยตรง ไม่ใช่ให้จำนวนคนเพียงหลักหมื่นมาแอบอ้างว่าเป็นเสียงของประชาชน 66.5 ล้านคน ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าประชาชนเสียงข้างมากจำนวนมากกว่า 80% – 90% ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่เกิดขึ้น”