วิษณุ แจงไทม์ไลน์ ประยุทธ์ ยุบสภา-ลาออก ประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ

“วิษณุ” แจงยิบ ยุบสภา-ลาออก ชง พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภาสัปดาห์หน้า เล็งถามประชาชนออก-ไม่ออก

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2563 เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563

แก้รัฐธรรมนูญ 3 วาระรวด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลได้หารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันอังคารที่ 6 ต.ค. 2563 ว่า เราจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไรในสภา และได้แจ้งให้ ครม.ทราบแล้วว่า ในเดือน พ.ย. ก็จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในเดือน ธ.ค. 2563 แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ต้องรอทำประชามติก่อน โดยสัปดาห์หน้ารัฐบาลจะเสนอ พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภา ถ้า พ.ร.บ.ประชามติเสร็จเมื่อไหร่ก็ต้องไปทำประชามติเมื่อนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนให้การสนับสนุนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด ซึ่งผมได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายและศึกษาจากรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีนายกฯ ลาออกจากตำแหน่งจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้านายกฯ ลาออก ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 (1) นายกฯ และ ครม.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ใหม่เข้ารับหน้าที่ จะต้องเลือกนายกฯใหม่จากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต้องมีมติเสียงกึ่งหนึ่ง ซึ่งรวมทั้ง ส.ส. ส.ว.ด้วย ซึ่งไม่ว่าพรรคใดก็ตามรวมกันแล้วยังไงก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งนะครับ เพราะฉะนั้นต้องมี ส.ว.มาร่วมในการเลือกนายกฯ ด้วย กรณียุบสภา ครม.พ้นทั้งคณะเหมือนกัน ความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง ผมไม่แน่ใจว่าท่านต้องการหรือไม่ให้ยุบสภา”

ชง พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภาสัปดาห์หน้า

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามที่นายกฯ กราบเรียนว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 ได้พูดกันเมื่อ 20 วันที่แล้ว ก่อนการประชุม ครม.นายกฯ ได้เชิญพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคและรัฐมนตรีกว่า 10 คนได้หารือก่อนประชุม ครม. ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในสภาควรจะเดินหน้าต่อไปได้โดยเร็ว มีผู้เสนอเหมือนกันว่า ทำอย่างไรถึงส่งสัญญาณไปยัง ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ นายกฯ ได้กล่าวว่าสัญญาไปอยู่ดี แต่จะไปเรียก ไปเชิญมาคงไม่เหมาะสม และข่าวก็ได้ออกไปแล้วว่านายกฯ ส่งสัญญาณไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไร

“ท่านนายกฯได้ขอให้ทำไทม์ไลน์ สมมุติว่าเมื่อเปิดสภาสมัยสามัญในวันที่ 1 พ.ย. 2563 การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะเดินไปได้อย่างไร ผมได้เชิญฝ่ายกฎหมาย เชิญฝ่ายกฤษฎีกามาช่วยทำไทม์ไลน์ตามกฎหมาย ส่วนเหตุแทรกซ้อนหรืออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นเราไม่อาจคาดคิด”

นายวิษณุกล่าวว่า ไทม์ไลน์ หรือ ตารางเวลา คือ เมื่อสภาเปิดมาต้น พ.ย. 2563 ร่างรัฐธรรมนูญต้องเข้าสภาวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณาไม่เกิน 45 คน ซึ่ง กมธ.จะต้องมาจาก ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น ส่วน รมต.และคนนอกจะเข้ามาเป็น กมธ.ไม่ได้ ส่วนสภาจะตั้ง กมธ.เต็มสภาหรือไม่เป็นอำนาจของสภาและสามารถทำได้ และเป็นทางออกหนึ่งที่จะเร่งให้เร็วขึ้นได้ แต่ถ้าใช้ขั้นตอนปกติ คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ได้ในเดือน ธ.ค. 2563

“ในที่สุดต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปออกเสียงประชามติ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ซึ่งเพิ่งได้รับทราบเมื่อเช้าว่า กฤษฎีกาได้ตรวจเสร็จสิ้นทุกมาตราแล้ว และนายกฯ แจ้งต่อประธานสภาว่า จะส่งร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติเข้าสู่การพิจาณาของสภาได้ในสัปดาห์หน้า โดยรัฐบาลจะขอให้พิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของสองสภาโดยถือว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปเพื่อเร่งรัดตัดขั้นตอนไปได้ คู่ขนานไปกับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในเดือน ธ.ค. 2563 หรือต้น ม.ค. 2564 โดยนำร่าง พ.ร.บ.ประชามติทูลเกล้าฯ มีพระราชอำนาจ 90 วัน เมื่อกลับลงมาแล้ว ก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จวาระสาม ไปออกเสียงประชามติภายใน 90 วันหลัง พ.ร.บ.ประชามติประกาศบังคับใช้”

นายกฯ คนใหม่ต้องได้ 366 เสียง

นายวิษณุกล่าวว่า ข้อเสนออีก 3 ข้อ คือ นายกฯ ลาออก ยุบสภา และปฏิรูปสถาบัน การปฏิรูปสถาบัน คือ อะไร หมายความว่าอย่างไรรัฐบาลไม่ทราบ และไม่ขึ้นใจจริง ๆ ซึ่งอยากจะฟังจากการอภิปรายจากรัฐสภา

“การยุบสภารัฐบาลก็พิจารณาเหมือนกัน แต่ใคร่ครวญว่า สภามีความผิดอะไร ถึงจะต้องไปยุบสภา ปกติต้องมีความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นความประสงค์ เป็นเจตนารมณ์ ท่านนายกฯ คงจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและพิจารณาต่อไป”

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้นายกฯ ลาออก ฝ่ายกฎหมายได้ทำข้อเสนอไปยังนายกฯ ว่า ถ้านายกฯ ลาออก ต้องคิดต่อไปเหมือนกันว่า แล้วจะหานายกฯ คนใหม่มาจากขั้นตอนใด อย่างไร ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อันยังไม่ได้แก้ไขอยู่ขณะนี้

“เงื่อนไขประการหนึ่งที่ผูกไว้ในมาตรา 272 วรรคหนึ่ง คือ นายกฯต้องเป็นผู้มาจากรายชื่อที่เสนอและเสนอเอาไว้ก่อนเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มี 5 คน สมมุติตัด พล.อ.ประยุทธ์ และคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกไป ซึ่งมาตรา 272 วรรคหนึ่งก็ผูกไว้อีกว่า คนที่จะเป็นนายกฯ นั้น ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ขณะนี้”

นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อช่วยเปิดประชุมประธานรัฐสภาแจ้งว่า มีสมาชิกรัฐสภาที่สามารถออกเสียงได้ขณะนี้ คิอ 732 คน กึ่งคือ 366 เสียง แปลว่า ผู้ที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไป โดยตัดชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ออกไปแล้ว ต้องเป็นคนที่ได้คะแนนเสียง 366 เสียง ซึ่งต่อให้ ส.ว. งดออกเสียงทั้งหมด ตามที่หลายคนเรียกร้อง ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องระดมหาให้ได้ 366 เสียง ถ้าไม่ได้ก็จะเป็นข้อกฎหมายถ้าถึงทางตันจะทำอย่างไร ถ้า ส.ว.ไม่ออกเสียงเลยแม้แต่เสียงเดียว

“มีผู้เสนอแนะท่านนายกฯ ว่า อย่างนั้นก็ต้องไปขอให้พรรคพลังประชารัฐช่วยกรุณาเทเสียงร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน แล้วก็ยกใครสักคนหนึ่งมาเป็นนายกฯ ถ้าเป็นไปได้ก็เดินไปอย่างไร แต่ทั้งหมดเป็นเรี่องที่คิด แต่ตัวนายกฯ เอง ท่านเองก็ได้รับเสียงสนับสนุนเหมือนกันว่า อย่าลาออก ทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งลาออกหรือไม่ลาออกเป็นดุลพินิจของนายกฯ ซึ่งเป็นทางเลือกหรือทางออกที่มีการหยิบยกขึ้นพูดมาทั้งสิ้น”

ประชามติถามประชาชน

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนข้อเสนอตั้งแต่ช่วงเช้า นายกฯ ได้ปรารภกับรองนายกฯ บางท่านว่า เป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญ คือ การถามประชาชน แต่จะถามอย่างไร เพราะถ้าถามโดยการออกเสียงประชามติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ห้ามออกเสียงประชามติในเรื่องตัวบุคคล แต่ถ้ากรรมวิธีในการตั้งคำถามที่แยบคายและแนบเนียน ก็เป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณา หากเป็นข้อเสนอของรัฐสภา ซึ่งท่านนายกฯ จะนำเรียนประธานรัฐสภาในตอนท้ายของที่ประชุมว่า ข้อเสนอนี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ประการใด