ยิ่งชีพ : เล่าละครหน้าบัลลังก์รัฐสภา รัฐธรรมนูญ เรา-เขา ทุกคนก็โดนหลอก

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ
ภัทรดา มณี 

“ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” เป็นสมาชิกหมายเลข 1 ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่มี “จอน อึ๊งภากรณ์” เป็นผู้ก่อตั้ง และเขาทำหน้าที่เป็น “ผู้จัดการ”

เป็น 1 ใน 3 คนแรก ในประวัติศาสตร์การแก้ไขรัฐธรรมนูญไทย ที่ได้นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา คือตัวแทนของ 98,071 คน เฉียด 1 แสนชื่อที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า ร่างไอลอว์ หรือร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน

เขาพาคนเกือบ 1 แสนชื่อไปสุดทางที่อาคารรัฐสภา เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ถูกตีตก ไม่ผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการ เขากลั้นน้ำตาเกือบร้องไห้

แต่ไม่ใช่ความเสียใจ หากตื้นใจที่ “ไอลอว์” กลายเป็น “ตัวกลาง” ที่นำความต้องการของประชาชนมาบอกยังรัฐสภาผู้ทรงเกียรติทั้ง 732 คน

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ยิ่งชีพ” NGO หนุ่มวัย 34 ปี ถามความรู้สึกในภารกิจประวัติศาสตร์ ครั้งนี้

สภาโรงละครฉากใหญ่

“ยิ่งชีพ” เปิดฉากการสนทนาด้วยประเด็นที่เตรียมนำมาเสนอ คือ บรรยากาศการถูก ส.ส.-ส.ว.อภิปรายไม่ไว้วางใจกลางสภา ทั้งที่เป็นการนำเสนอรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน

วันนั้นตื่นเต้น ไม่ได้มีสมาธิเตรียมตัวมาก เพราะมีการชุมนุมต่าง ๆ ข้างนอก
แม้มีประสบการณ์พูดตามเวทีต่าง ๆ มาเยอะ แต่ความยากคือ อันดับแรกไม่รู้ว่าจะได้ขึ้นพูดกี่โมง เขาให้ไป 9 โมง ก็ไปตั้งแต่ 9 โมง สุดท้ายได้ขึ้นพูดประมาณบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 ไปนั่งรอหลังบัลลังก์ประธานสภา 3 ชั่วโมง ในห้องวิปรัฐบาล ส.ส.เดินเข้าเดินออก นั่งด่าม็อบกัน โดยไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์นอกสภาเกิดอะไรขึ้น พอขึ้นไปถึงก็พูดเลย

“ส่วนบรรยากาศอภิปรายในสภา เราดูทีวีคนเต็มห้องด่ากันดุเดือด แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครฟังใคร ทุกคนก็แค่รู้ว่าคิวตัวเองพูดเมื่อไหร่ แล้วเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ตอนอื่นก็ไม่อยู่ และมาพูดทีก็มาเป็นกลุ่ม นั่งล้อมให้ภาพออกมาครบ พอพูดจบปุ๊บก็หันไปจับมือแสดงความยินดีกันแล้วออกไปทั้งกลุ่ม เหมือนเล่นปาหี่”

“ขณะที่ฝ่ายค้าน เนื่องจากมีการชุมนุมก็ทำสองอย่างคือจับกลุ่มกันว่าจะทำอย่างไรดี แล้วเดินออกไปนอกห้อง ก็ไม่ฟัง ให้ ส.ว.กับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด่าเราไปเรื่อย ๆ แล้วออกไปดูม็อบ”

“เราก็โดนเขาหลอก เหมือนกับทุกคนมาเล่นบทของตัวเองแล้วก็กลับไป มาเฉพาะเวลาที่ฉันพูด ที่เหลือไม่มีใครสนใจ เหมือนที่อภิปรายกันไม่มีความหมายอะไร เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก รู้ว่าเป็นโรงละครระดับหนึ่ง แต่ไม่คิดว่าเล่นละครใหญ่ขนาดนี้ พอหันไปถามอาจารย์จอนว่าเป็นแบบนี้ไหม อาจารย์ก็บอกว่า ใช่ ๆ เป็นแบบนี้แหละ”

ผิดหวัง ฝ่ายค้าน-ส.ว.

แม้ว่าจะเตรียมการรับมือบรรดานักการเมืองเขี้ยวลากดิน เรื่องที่ไอลอว์ถูกโจมตีว่า “รับเงินต่างชาติ” แม้กระทั่ง “ปมสถาบัน” สิ่งที่ “ยิ่งชีพ” รู้สึกตลอด 2 วันในสภา ถือถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“คิดว่าน่าเกลียดไปหน่อย เพราะเป็นวันอภิปรายรัฐธรรมนูญ น่าจะต้องอภิปรายรัฐธรรมนูญไหม.. ถ้าอภิปรายเรื่องรับเงินต่างชาติ เรามองโลกในแง่ดีก็คิดว่าเขาจะเสียหายเอง เพราะอภิปรายนอกเรื่อง วันแรกมี ส.ส. ส.ว.พูดประมาณ 2-3 คน เราก็ชี้แจง คิดว่าจะจบแล้ววันรุ่งขึ้นก็เอาอีก (เน้นเสียง) เราก็มองหน้ากันว่าเสียเวลาชี้แจง จึงข้ามไป”

“เหมือนเราถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วเราก็ไปนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี ข้าง ๆ ประธาน ถูก ส.ส. ส.ว.ชี้หน้า พวกคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตอนท้าย ๆ มีคนพูดว่าอาจารย์จอน มีน้องเป็นอาจารย์ใจ (อึ๊งภากรณ์) ผมไม่ไว้ใจอาจารย์ใจ…โคตรออกนอกเรื่องเลย” (หัวเราะ)

“ต่อให้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แล้วไปด่าน้องนายกฯในสภา ยังออกนอก
เรื่องเกินไปเลย ทั้งที่เราไม่มีอำนาจรัฐ จะต้องถูกไม่ไว้วางใจตัวเรา จึงรู้สึกแปลก ๆ ดี”

“ไอลอว์” ถูก ส.ว.และ ส.ส.ซีกรัฐบาลรุมอภิปราย จนน่วม เมื่อให้ “ยิ่งชีพ” ประเมินความเอาจริงเอาจังของนักการเมืองในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการอภิปราย เขาตอบทันควันว่า…

“ไร้สาระมากทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เพราะเขาไม่ฟังด้วยซ้ำ ถ้าฝ่ายค้านมานั่งฟังเต็มพรึ่บก็คิดว่าฝ่ายค้านใช้ได้ รัฐบาลห่วย แต่พวกเขาก็ทำอย่างอื่นกันอยู่ ไม่ได้ฟัง นั่งกันหร็อมแหร็ม ๆ ฝ่ายค้านพูดเรารู้ว่าเขาจะรับร่างไอลอว์อยู่แล้ว แต่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรที่มากกว่าที่เราคิดได้ แต่ไม่ได้เห็น ทุกอย่างที่พูดก็รู้อยู่แล้ว ขอบคุณที่ช่วยสนับสนุน แต่ไม่มีไอเดียใหม่อะไรจากฝ่ายค้าน แม้พูดได้ดีหลายคน เพียงแต่ไม่มีอะไรใหม่”

3 ส.ว.โหวตรับ โลกยังไม่เลวร้าย

แม้ว่าร่างไอลอว์ถูกตีตก มี ส.ส.ฝ่ายค้านรับหลักการ 212 เสียง ที่เหลือไม่รับ 139 เสียง และงดออกเสียง 369 เสียง แต่ที่เซอร์ไพรส์ “ยิ่งชีพ” คือการลงมติรับหลักการของ ส.ว. 3 คน คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์ และพีระศักดิ์ พอจิต อดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“ผมไม่รู้จักเขา และไม่รู้เลยว่าเขาจะโหวตอะไร คิดอยู่ว่าอาจมี ส.ว.เสียงแตกบ้าง ถ้าเท่ ๆ ส่วนใหญ่ไม่รับหลักการ และงดออกเสียง 5-10 คนก็เท่ดี ปรากฏว่ามี ส.ว.รับ 3 คน อย่างคุณพีระศักดิ์ พอจิต เคยเป็นรองประธาน สนช.ด้วย เราก็เคยด่าการทำงานของ สนช.มาตลอด แม้เขาจะรู้อยู่แล้วว่า ข้อเสนอเราคือเอาพวกเขาออกจากตำแหน่ง เขายังกล้ารับ ก็โอเคแล้ว แสดงว่าโลกนี้ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป”

จุดเริ่มต้น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

“ยิ่งชีพ” เล่าจุดเริ่มต้นในการล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ว่า เริ่มจากโต๊ะเล็ก ๆ กลางออฟฟิศ “ไอลอว์ ” ที่ตั้งในบ้านเช่าหลังเล็ก ๆ ราคา 25,000 บาทต่อเดือน ใจกลางย่านลาดพร้าว ที่มีสมาชิกจำนวน 12 คน มีรายใช้จ่าย 4 แสนบาท/เดือน หรือปีละเกือบ 5 ล้านบาท และมี “จอน อึ้งภากรณ์” เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนเขาเป็นผู้รับหน้าที่ดูแลในส่วนของเนื้อหา

ไอลอว์ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือน ในการรวบรวมรายชื่อผู้ที่ลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 60% เป็นผู้หญิง!

บนฝาผนังที่สำนักงานไอลอว์ มีบอร์ดไว้แปะรูปภาพการทำงานของไอลอว์ในโมเมนต์ต่าง ๆ ล้อมรอบไปด้วยโพสต์อิทหลากสี มีข้อความให้กำลังใจปรากฏอยู่บนกระดาษ ทุกลายมือที่ส่งถึงไอลอว์เป็นลายมือของสุภาพสตรีทั้งสิ้น

“ข้อความให้กำลังใจทั้งหมดถูกส่งทางไปรษณีย์ มาพร้อมกับเอกสารลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเป็นไปได้ว่า ผู้หญิงมักชอบเขียนกระดาษโน๊ตที่เป็นสี ๆ ต่างกับผู้ชายที่ไม่ค่อยใช้ของพวกนี้เท่าไหร่”

ความตื่นตัวของผู้คนต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเป็นปรากฏการณ์ 1 แสนรายชื่อ “ยิ่งชีพ” เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นจนสัมผัสได้

“สมัยก่อนเวลาไปเข้าชื่อร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา รวมทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทีมงานไอลอว์จะมีกระเป๋าเดินทางสีเขียวใบเล็กๆ ใส่เอกสารให้คนมาลงชื่อ เพราะคนมาลงชื่อไม่มากนัก”

“แต่พอเป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากกระเป๋าเดินทางใบเล็กเปลี่ยนเป็น รถบิ๊กอัพ 6 คัน ที่ใช้ขนลังเอกสารใบใหญ่ พรินท์เตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร โต๊ะที่ใช้ลงชื่อ”

เดินหน้าให้ข้อมูลแก้รัฐธรรมนูญต่อ

หลังจากนำคนเกือบ 1 แสนชื่อมาสุดทางที่รัฐสภา แล้วก้าวต่อไปของ “ไอลอว์” จะนำพาคนที่ร่วมหัวจมท้ายไปทางไหนต่อ “ยิ่งชีพ” กล่าวว่า เราคงเอาเขาไปทำอะไรไม่ได้ วันนั้นเรานำเสนอว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ เขาก็มา เราพาเสียงเขาไปสุดทางแล้ว จากนี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรกัน จะสั่งให้ 1 แสนคนไปทำอีกกิจกรรมหนึ่งคงทำไม่ได้ ขึ้นอยู่กับพวกเขาว่าอยากทำอะไรต่อ

“แต่อยากบอกให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจ และไม่ต้องเสียใจ การที่เราได้ใช้สิทธิตามช่องทางที่มีอยู่ นำข้อเรียกร้องมาถึงวันนี้ได้ ก็เป็นเรื่องน่าดีใจมาก เพราะคนอีกจำนวนมากที่พยายามใช้ช่องทางเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่ถูกเพิกเฉยไม่บรรจุวาระยังมีอีกเยอะมาก การที่ของเราไปขนาดนี้ก็น่าดีใจแล้ว”

อย่างไรก็ตาม “ไอลอว์” มิอาจหยุด จบภารกิจตรงที่เข้าไปอภิปรายรัฐธรรมนูญในสภา ยิ่งชีพกล่าวว่า ยังทำหน้าที่ในการทำข้อมูล เผยแพร่ ให้ความรู้ ถ้ามีการตั้ง ส.ส.ร.แล้ว และ ส.ส.ร.ไม่มีความชอบธรรม หรือไม่น่าไว้ใจบางอย่างอาจจะทำเวทีคู่ขนานก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น ประเด็นยังไม่น่าสนใจ

รัฐบาลลักไก่ร่างรัฐธรรมนูญ

ให้ “ยิ่งชีพ” ทำนายอนาคตการร่างรัฐธรรมนูญ หาก ส.ส.ร.ใช้โมเดลรัฐบาลซึ่งกำหนดสัดส่วน เลือกตั้งจากประชาชน 150 คน รัฐสภาเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 20 คน นักเรียนนิสิต นักศึกษาเลือกมา 10 คน รวม 200 คน เขาตอบได้ทันที ไม่ต้องคิดเยอะ

“แย่มาก..เป็นช่องทางที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจอิทธิพลเหนือกระบวนการเลือกตั้ง และ ส.ส.ร.ใหม่ได้ ถ้ามีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 150 คนจาก 200 คน จะมีการเลือกตั้งโดย กกต.ชุดปัจจุบันที่มาจาก คสช. และตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มาจาก คสช. จะเป็นการเลือกตั้งแปลก ๆ เหมือนเลือกตั้งใหญ่ อาจมีการตัดสิทธิผู้สมัครบางคนที่ค้านสายตา อาจมีกระบวนการนับคะแนน การปิดหีบบัตรเลือกตั้ง รายละเอียดที่ยังค้างคาใจก็คงยังมีอีก”

“นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.ร. 50 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจจะมี 45 คนเป็นอย่างน้อย ที่อยู่ในมือรัฐบาล และคงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ต่างจากเดิม อาจจะไม่โจ่งแจ้งว่า ส.ว. 250 คนมาจากการแต่งตั้งเลย แต่ก็จะมีหน้าตาแปลก ๆ ใหม่ ๆ โผล่มาอีกเรื่อย ๆ ร่างรัฐบาลเหมือนร่างลักไก่ ถ้าแก้ตามนี้ก็ไม่ได้แก้อะไร”

ไม่เสียใจ ไม่หลั่งน้ำตา แต่สะอื้น

ถามยิ่งชีพ ถึงวันที่เขาสะอื้น กลั้นใจไม่ให้ร้องให้ ในวันที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถูกตีตก เขาตอบติดตลกว่า “ไม่เสียใจ แต่ก็สะอื้นจริง ๆ (หัวเราะ) คือถ้าบิ๊กแดง กับอนุทิน ไม่ได้หลั่งน้ำตามาก่อนหน้านี้ ผมก็คิดว่าวันนั้นจะร้องโชว์ อยากจะพูดกับคนที่ช่วยเราทำมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา มันเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก คือแบบมันต้องเป็นผมคนเดียวด้วยนะ ทีมก็นะก็จะเห็นอยู่ตลอดว่า เกิดอะไรขึ้น ไม่รู้สึกเท่า เดินไปที่ไหน ไปประชุม คนนี้ คนั้น ยื่นซองรายชื่อมา ไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนก็ยื่นซองรายชื่อลงลายมือมา ปรากฏการณ์แบบนี้ ตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราสัมผัสตลอดและเรารู้สึก เป็นปรากฏการณ์ที่ทุกคนใส่แรงมาอย่างเต็มที่ แล้วเรากลายเป็นเซ็นเตอร์ ก็ไม่อยากเป็น แต่ก็เป็นก็ได้”

เสียงประชาชนยังมีความหมาย

“ยิ่งชีพ” ยังมีความหวังว่า การแก้รัฐธรรมนูญในอนาคตจะไม่เป็นอย่างที่เขาทำนาย หากประชาชนนอกสภาร่วมกันส่งเสียง

“เสียงของประชาชนยังมีความหมาย ถ้ารวมพลังกัน ทำความเข้าใจปัญหาของร่างที่เข้าไป มีไอเดียใหม่ ๆ โมเดลใหม่ ๆ นำเสนอและรณรงค์นอกสภา ผมคิดว่าในสภาได้ยิน”

“เพียงแต่บรรยากาศปัจจุบันเลยจุดนั้นไปแล้ว ข้อเรียกร้องไปไกลกว่าแล้ว ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งข้อที่ 2 ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ถูกตีตกแล้ว มันจบแล้ว ทำให้เหลือข้อ 1 กับข้อ 3 ถ้ากลับมาเรียกร้องเรื่อง ส.ส.ร.จะต้องเป็นอย่างไร คิดว่าเป็นการถอยหลังของข้อเรียกร้อง และกระแสที่ออกมา เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้แล้ว…”

“แม้ไอลอว์จะจัดชุมนุมเอง คงไม่มีคนมาเยอะ กลายเป็นกระแสรอง คนส่วนใหญ่คงไปชุมนุมใหญ่ ๆ ที่มีอยู่”

ไม่อยากมีชื่อในประวัติศาสตร์

จุดหักเลี้ยวที่ทำให้ประชาชนหันกลับมาสนใจประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ในมุม “ยิ่งชีพ” จะต้องทำให้ประชาชนต้องมีความหวัง ครั้งหนึ่งเขาเคยมีความหวังจากการเอาร่างของไอลอว์เป็นข้อเสนอที่ 2 และดูมีความหวัง คนก็สนใจ

“เพราะแก้รัฐธรรมนูญประตูเปิดมาสักพักแล้ว คนมาสนใจ กระแสสังคมมันมี ใครจะคิดว่าสำเร็จในปี 2563 เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำเร็จ แม้จะไม่รู้ออกมาเป็นรูปแบบไหนก็ตาม”

ถามว่า จะใช้ต้นทุน “ไอลอว์” ดึงให้ประชาชนหันมาสนใจรัฐธรรมนูญไหม เขาตอบว่า “อยากจะทำ คงจะทำ สิ่งที่จะดึงมวลชนกลับมาสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ มันเป็นงานถนัดที่ทำมาหลายปี การติดตามสภา การประชุมสภา ติดตามเผยแพร่ แต่คนคงติดตามน้อยลง”

“ยิ่งชีพ” ไม่เชื่อว่า การที่ผู้ชุมนุมมองข้ามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นการปิดประตูของมวลชน “ไม่หรอก… การที่ผู้ชุมนุมมองเรื่องอื่นเลยไปจากรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ทำให้รัฐธรรมนูญเดินช้าลงบ้าง แต่มันยังเดินต่อ แม้บางเวทีไม่พูดเรื่องรัฐธรรมนูญเลยก็ตาม”

เขาปิดท้ายว่า “ผมไม่อยากอยู่ในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ ดูเหมือนคนโดนยิงตายยังไงไม่รู้ ถ้ามีชื่ออยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์”

“แต่ถ้าบันทึกประวัติศาสตร์ว่า ครั้งหนึ่งระหว่างการต่อสู้ของประชาชน มีกิจกรรมเสนอชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยก็แฮบปี้ แต่ไม่ต้องใส่ชื่อยิ่งชีพลงไปก็ได้…อาย”

หลังจากตอบคำถาม-ถ่ายภาพใบสุดท้ายเสร็จสิ้น “ยิ่งชีพ” หันไปจับสายยางรดน้ำต้นไม้ หน้าสำนักงานไอลอว์ เป็นกิจวัตรประจำวัน เหมือนที่เคยทำทุกวัน