ม็อบนักธุรกิจ ปีหน้ามาแน่ ‘เศรษฐา-สารัชถ์’ ชงแก้รัฐธรรมนูญ

นักธุรกิจไทย หลายรายประเมินสถานการณ์ การเมือง ว่าอาจจะเกิด “ม็อบนักธุรกิจ” ในปีหน้า

นักธุรกิจขาใหญ่ บุคคลสำคัญ ถ้าต้องตอบคำถามเรื่องการเมือง ในอดีตทุกคนจะโบกมือ ส่ายหน้า ไม่มีใครอยากตอบ

เหตุผลหนึ่งคือกลัวผลกระทบทระเทือนกับกิจการที่เครือข่ายตนเองได้สัมปทาน หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่อง หรือเกรงว่า “ทัวร์จะลง”

แต่ในปัจจุบัน มีนักธุรกิจใหญ่ หลายรายกล้าคอมเมนต์ปัญหาแศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์

ทั้งผ่านการสัมภาษณ์ ผ่านการโพสต์ในโชเชียลเน็ตเวิร์ก ต่าง ๆ

ในการสนทนาสัมภาษณ์แบบ “ออฟ เดอะเรคคอร์ด” กับนักธุรกิจใหญ่ ยอดขายแต่ละไตรมาสแตะหมื่นล้าน เขาเปิดปากทันทีว่า “ปีหน้าม็อบนักธุรกิจมาแน่ เพราะปัญหาจะสะสมหนัก และไม่มีการแก้ไขผ่อนคลาย โดยเฉพาะภาคธุรกิจโรงแรม สายการบิน การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะมีคนตกงาน เดือดร้อน และไม่มีทางออก ต้องไปม็อบ”

ในขณะที่วงสนทนาระดับนักธุรกิจเจ้าของกิจการและครอบครองหุ้นหลักแสนล้าน และนักบริหารมืออาชีพ ตำแหน่งระดับประเทศ ขึ้นเวที ชุมนุมศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 หลายคนสนทนา เปิดหน้าแนะทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้ ดังนี้…

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดบนเวทีนี้ว่า  ประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยง 3 ด้าน คือปัญหาแรงงาน ที่มีการการลดเวลาทำงานของแรงงาน การจ้างงานน้อยลง หนี้ครัวเรือนสูง อัตราแลกเปลี่ยน บาทแข็งค่ามาก ส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ-ธุรกิจไทย

ขณะที่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย หรือ TMB  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี เป็นศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกราย กล่าววรรคทองว่า “เศรษฐกิจไทยสิ้นสุดทางเลื่อน”

เขาบอกว่า ตอนนี้โครงสร้างประชากร-โครงสร้างเศรษฐกิจ ต่างเป็นสังคมแก่-สูงวัย หรือ เอจจิ้งคอร์ปอเรท ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้อานิสงค์ ส้มหล่นจากการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนทางตรงผ่านบีโอไอ เพราะมาตรการภาษีที่ดึงดูดนักลงทุนจากญี่ปุ่นได้เป็นจำนวนมาก แต่แต้มต่อตกอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ

อุตสาหกรรมธนาคาร อยู่ข้างหลัง ถ้าเศรษฐกิจดี ธนาคารก็จะดีตาม ก่อนวิกฤติเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว เมื่อมีสถานการณ์โควิด จะทำให้เร่งเครื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสูงขึ้น

ขณะนี้สังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เฉพาะบุคคล แต่เป็นสังคมบริษัทเช่นกัน หรือ “เอจจิ้งคอร์ปอเรท”

“เศรษฐกิจไทยสิ้นสุดทางเลื่อนแล้ว จะเลื่อนอัตโนมัติไปเรื่อย ๆ เลื่อนไปช้า ๆ ไม่ได้แล้ว…สิ้นสุดลงแล้ว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่าง”

ด้าน นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF พูดในเวทีเดียวกันนี้ว่า “เศรษฐกิจโลกซับซ้อนขึ้น มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามการค้า ปัญหาเบร็กซิท”

เจ้าของธุรกิจไฟฟ้า ลงทุนทั้งในเวียดนาม และเยอรมนี มีมุมมองการเมือง ว่า ส่วนสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศ จะลงทุนหรือไม่ลงทุน เขามองเรื่องเสถียรภาพการเมือง อยากให้มีความต่อเนื่อง เขาจึงเห็นด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศแข็งแกร่ง

เขายังเสนอด้วยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องทบทวน เพราะยุทธศาสตร์ชาติ เขียนขึ้นก่อนเกิดโควิด แต่โลกหลังโควิด จะไม่เหมือนเดิม เสนอให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ๆ ลงทุนกันมาก ๆ

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เคยบอกว่า “ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซนต์ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

เขาเคยวิพากษ์เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภา หรือ (ส.ว.) ที่ประเทศไทยมีถึง 250 คน มาจากการแต่งตั้ง

“มีประเทศไหนในโลกที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในสัดส่วนที่มากถึง 1 ใน 3 ของรัฐสภา (250 จาก 750คน) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมที่มีสิทธิ์เลือกผู้นำสูงสุดของประเทศ ผมว่านี่คือประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่ง ที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งและก่อให้เกิดความวุ่นวายของประเทศเราในตอนนี้”

“250 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ทางแก้ไม่น่ายาก ทุกคนรู้ดีอยู่ว่าต้องทำอย่างไร”

เศรษฐา ระบุว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ ทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งในสังคมไทยต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดปะทะกันถึงกับเสีย เลือดเนื้อ ซึ่งจะเป็นชนวนลุกลามให้เกิดการใช้ความรุนแรงโดยไร้เหตุผล และนำไปสู่ความหายนะของ ประเทศชาติได้

“ความไม่เท่าเทียมคือต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งหลายในโลก มันยากนักหรือกับการที่ไม่ต้องพยายามทำตนให้เหนือคนอื่น อยู่กันด้วยความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันน่าจะนำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืน”

ในการสัมมนา ประชาชาติธุรกิจ ครั้งล่าสุด 2 ธันวาคม 2563 “เศรษฐา” เสนอให้ไทย “เปิดประเทศ”

“ผมคิดว่าดีกว่าแน่นอน เพราะอย่างน้อยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบินสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ เพราะฉะนั้น เรื่องภาวะการว่างงาน อย่างแสนสิริเองเราก็ไม่รู้ว่าเราจะอั้นคนไว้ได้นานแค่ไหน เพราะปัจจุบันนี้การแข่งขันข้ามอุตสาหกรรมก็มีเกิดขึ้น โรงแรมบางโรงแรมแถวมักกะสัน ทำเลใจกลางเมืองเลย นำห้องพักมาปล่อยเช่ารายเดือน”

“เศรษฐกิจปีหน้า ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การแก้ไขปัญหาของเอสเอ็มอี ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกระดูกสันหลังของชาติ ผมเชื่อว่าวันนี้ผู้ประกอบการทุกรายเราช่วยตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย การลดราคา ตอนนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการรัฐมากกว่า เราไม่ได้ผลักภาระ แต่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงว่า สภาพเศรษฐกิจค่อนข้างน่าเป็นห่วง”

การเกิดขึ้นของโควิด-19 ชีวิต เป็นตัวเร่งให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมต้องเร่งปรับเปลี่ยน ทั้งนโยบาย มาตรการ และยุทธศาสตร์ชาติ ต้องปรับใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

เมื่อเศรษฐกิจไทยสิ้นสุดทางเลื่อนแบบอัตโนมัติ หากรัฐไม่เตรียมการรองรับ ทั้งธุรกิจ ประชาชน อาจต้องสะดุล้มหัวทิ่ม

คำพยากรณ์ของนักธุรกยักษ์ใหญ่ ที่ออฟเรคคอร์ด ไว้ไม่ใช่แค่สิ้นสุดทางเลื่อน แต่รัฐอาจเผชิญหน้ากับ “ม็อบนักธุรกิจ” ด้วยซ้ำ