เบื้องหลังวาระลับ รมว.คลัง-รองนายกฯ “เราชนะ” ไม่แจกเงินสด

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 
ปรับปรุงครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564

 

เปิดเบื้องลึกเบื้องหลังวาระลับในวงหารือ รมว.คลัง-รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เหตุใดโครงการ “เราชนะ” ไม่แจก “เงินสด”

หลังเกิดการระบาดของ “โควิด-19” ระลอกใหม่ รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจไม่ใช้วิธี “ล็อกดาวน์” ทั้งประเทศเช่นเดียวกับระลอกแรก เพราะมีบทเรียนแล้วว่า ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหนัก

ดังจะเห็นได้ว่า อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 หดตัวไปถึง -12% ต่อปี ระดับเดียวกับเมื่อครั้ง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เลยทีเดียว จึงใช้มาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” โฟกัส 28 จังหวัดสีแดง ที่ระบุว่าเป็นจังหวัดควบคุมสูงสุด

ดังนั้น รอบนี้ รัฐบาลที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งรอบกายรายล้อมไปด้วยกุนซือจากภาคธุรกิจเอกชนมากมาย จึงปฏิเสธการ “ล็อกดาวน์” ทั่วประเทศอย่างแข็งขัน แถมทีแรกยังปฏิเสธจะจ่ายเงิน “เยียวยา” ผลกระทบในลักษณะเดียวกับ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่จ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนด้วย

แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรง และขยายวงไปหลายจังหวัด ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ทุบโต๊ะสั่งให้กระทรวงการคลังไปคิดมาตรการ “เยียวยา” มาเสนอ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ก็เคาะออกมาว่า รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน คนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

จึงทำให้หลาย ๆ คนตั้งความหวังว่า จะได้รับเงินที่สามารถนำไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ ทั้งการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนนำไปใช้หนี้ได้ด้วย

ซึ่งเดิมกระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางเป็นการ “แจกเงิน” เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์สามารถนำเงินสดไปใช้จ่ายได้ตามความประสงค์ โดย “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ก็ได้นำแนวทางดังกล่าวไปหารือร่วมกับ “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อเย็นวันที่ 14 ม.ค.

แต่ “นายสุพัฒนพงษ์” ต้องการให้ใช้วิธีการสแกนชำระค่าสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่งต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่ร่วมโครงการ เหมือนกับโครงการ “คนละครึ่ง” ที่เป็นโครงการที่ได้รับเสียงตอบรับดี เป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลนั่นเอง เพียงแต่ขยายให้ครอบคลุมการชำระค่าโดยสาร ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถตู้ประจำทาง และ บริการต่าง ๆ ที่ไม่รวมการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ บุหรี่

การหารือแนวทางการแจกเงินผ่านแพล็ตฟอร์มของรัฐบาล ได้ข้อยุติในเช้าวันที่ 15 ม.ค. โดยความเห็นชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และได้เห็นชอบกรอบวงเงินกู้ที่จะใช้จ่ายในโครงการ “เราชนะ” ให้อยู่ที่ไม่เกิน 210,200 ล้านบาท

ข้อสรุปเรื่องวิธีการจ่ายเงินดังกล่าว กำหนดให้กับผู้ได้รับสิทธิ 31.1 ล้านคน ผ่านการลงทะเบียนและใช้จ่ายผ่านร้านค้า และนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 19 ม.ค.

สุดท้ายที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ก็มีอนุมัติโครงการ “เราชนะ” โดยให้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่เดือดร้อน คนละ 3,500 บาท นาน 2 เดือน แต่ให้ใช้จ่ายผ่านร้านค้าและภาคบริการที่เข้าร่วมโครงการของรัฐเท่านั้น

และยังให้เติมเงินให้เป็นรายสัปดาห์อีกด้วย ไม่ได้จ่ายคราวเดียว 3,500 บาทต่อเดือน ส่งผลให้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายผ่านโซเชียลมิเดีย โดยส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการช่วยเหลือดังกล่าว เพราะต้องการให้แจกเป็นเงินสด เพื่อให้สามารถนำไปใช้ตามประสงค์มากกว่า

โดย “นายสุพัฒนพงษ์” ชี้แจงว่า การที่โครงการ “เราชนะ” ไม่ได้ให้เป็นเงินสด เพราะไม่อยากให้คนสัมผัสตัวเงิน เพราะจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ รวมถึงจะไม่สามารถกำกับการหมุนเวียนของเงินได้ แต่การไม่ให้เป็นเงินสด จะสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ เช่น ไม่สามารถนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือนำไปเล่นการพนัน รวมถึงไม่สามารถใช้กับร้านค้าขนาดใหญ่

โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อการให้ความช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการให้ประชาชนมีประสบการณ์กับสังคมไร้เงินสดมากขึ้นด้วย

ขณะที่ “นายอาคม” ก็ได้อธิบายผ่านการให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ว่า สาเหตุที่ไม่แจกเงินสด เป็นเพราะว่าต้องการลดปัญหา จากที่มีประสบการณ์จากช่วงที่ดำเนินโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ประชาชนต่างก็ออกมากดเงินสด ทำให้คิวรอกดเงินผ่านตู้เอทีเอ็มยาว ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการที่จะติดเชื้อโควิด รวมถึงจะทำให้ตู้เอทีเอ็ม อาจจะมีปัญหาจากการที่คนไปใช้งานจำนวนมากด้วย

“มีการระดมความคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้ลดการสัมผัสเงิน ลดความแออัด และไม่ให้มีปัญหาเรื่องระบบตู้เอทีเอ็มติดขัด จึงใช้แนวคิดการผลักดันสังคมไร้เงินสด เพราะหากไม่ใช้เทคโนโลยีจะเชย โดยธุรกิจ เช่น ขนส่งมวลชน ก็มีการพัฒนาการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยไม่ต้องใช้เงินสด จึงให้โครงการดังกล่าวใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ “นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง ก็กล่าวเสริมว่า กรณีมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่อยากให้จ่ายเป็นเงินสด เพราะจะนำไปใช้หนี้นอกระบบ ว่ากระทรวงการคลังไม่ได้สนับสนุนหนี้นอกระบบ จึงไม่สนับสนุนการนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อคืนหนี้นอกระบบด้วย โดยมาตรการ “เราชนะ” ออกมา เพราะต้องการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่เป็นหลัก

ทั้งหมดนี้ เป็นเบื้องหน้าเบื้องหลังของโครงการ “เราชนะ” ที่เป็นอีกหนึ่งมาตรการของรัฐบาลชุดนี้ที่ออกมาแบบไม่โดนใจประชาชนนัก เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ มาตรการที่ผ่านมา