“คดีชายชุดดำ” 10 เม.ย. 53 ประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกลืม ที่แยกคอกวัว

ทำความรู้จักเรื่องราว
ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ก.พ.64
แก้ไขครั้งล่าสุด 10 เม.ย.64

ลำดับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่การ “ขอคืนพื้นที่” วันที่ 10 เม.ย.53 พร้อมเรื่องราวของ “ชายชุดดำ” 

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลฎีกามีคำสั่งยกฟ้อง “ชายชุดดำ” คดีปะทะแยกคอกวัว เมื่อ 10 เมษายน 2553 โดยให้เหตุผลว่าพยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควร เบิกความมีน้ำหนักน้อย

“ประชาชาติธุรกิจ” ลำดับเหตุการณ์ก่อนนำมาสู่ “การขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ชายชุดดำ”

วันที่ 12 มีนาคม 2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มการชุมนุมเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้ชื่อ “กิจกรรม 12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์”

โดยมีการรวมตัวกัน 7 จุด 1.อนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ 2.อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินวงเวียนใหญ่ 3.แยกบางนา-ตราด 4.ศาลากลาง จ.นนทบุรี 5.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สามเหลี่ยมดินแดง 6.สวนลุมพีนี และรณรงค์ไปตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ขณะที่ นปช.ต่างจังหวัด มีการรณรงค์ในจังหวัด และทยอยเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร

วันที่ 16-17 มีนาคม 2553 นปช. เจาะเลือด 3 แสนซีซี นำไปเทที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงที่บ้านพักนายกรัฐมนตรี ที่สุขุมวิท 31 ส่งผลให้แกนนำ นปช. ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง

วันที่ 20 มีนาคม 2553 กลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนรถเคลื่อนไปรอบกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสำคัญ โดยรถมอเตอร์ไซต์และรถยนต์นับหมื่นคัน โดยสันติบาลประเมินว่ามีผู้ชุมนุมร่วมขบวนมากกว่า 65,000 คน

วันที่ 28-29 มีนาคม 2553 ตัวแทนรัฐบาลเจรจาเรื่องการยุบสภากับตัวแทน นปช. ถึง 2 รอบ ได้ข้อสรุปว่าจะให้ยุบสภา แต่ยังไม่กำหนดเวลา

วันที่ 3 เมษายน 2553 นปช.ย้ายไปชุมนุมบางส่วนที่บริเวณแยกราชประสงค์

วันที่ 7 เมษายน 2553 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

วันที่ 8-9 เมษายน 2553 รัฐบาลนำกำลังทหารเข้าระงับการออกอากาศของสถานีประชาชน (พีเพิลชาแนล) ซึ่งเป็นทีวีดาวเทียมของคนเสื้อแดง ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนไปยังสถานี จนสถานีกลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง แต่กำลังทหารก็ได้เข้าระงับการออกอากาศอีก

ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.63

ประชาไท รายงานว่า นปช.ชุมนุมได้เกือบเดือน วันที่ 10 เมษายน เป็นวันแรกที่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นจำนวนมาก หลังนายอภิสิทธิ์ ตัดสินใจสลายการชุมนุม ซึ่งขณะนั้นใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” จากผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจุดที่มีการปะทะและเสียชีวิตมากคือ ถนนดินสอและแยกคอกวัว

ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตหลายราย จนในช่วงค่ำ มีรายงานว่า “ชายชุดดำ” ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนั้นมี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก

ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน ทหาร 5 นาย (มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมภายหลัง บางแหล่งระบุ 1 คน บางแหล่งระบุ 2 คน)

รายงานข่าวหลายแหล่งระบุว่า ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตจาก M67 ขณะที่ประชาชน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากกระสุน และทยอยเสียชีวิตตั้งแต่ เวลา 19:00 น. เป็นต้นมา

ภาพชายชุดดำที่มักปรากฏซ้ำ ๆ บนหน้าสื่อ อาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ต่อมาปี 2555 ข่าวสด เคยสัมภาษณ์บุคคลในภาพดังกล่าวว่า เป็นคนเก็บของเก่าที่เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช.ด้วย และ ไม่ได้เป็นชายชุดดำ ที่เปิดฉากตอบโต้ทหารแต่อย่างใด

ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง

ในด้านคดีความนั้น ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คน ได้แก่ นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี ชาวกรุงเทพมหานคร, นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น ชาวเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือ นะ สุริชา ชาวอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือ เล็ก ภาคีฉาย ชาวกรุงเทพมหานคร และ นางปุนิกา หรือ อร ชูศรี ชาวกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-5

ประชาไท รายงานด้วยว่า ผู้ต้องหาหลายรายยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ระบุว่า พวกเขาถูกซ้อมในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องคดีแรก คือ คดีครอบครองระเบิดเตรียมคาร์บอม

ส่วนคดีครอบครองอาวุธนั้น ศาลพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2560 ยกฟ้อง 3 ราย อีก 2 ราย มีความผิดฐานครอบครองอาวุธสงคราม ลงโทษจำคุกรายละ 10 ปี โดยศาลไม่เชื่อว่าผู้ต้องหารับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม อย่างไรก็ตาม ศาลสั่งให้ขังจำเลยทั้งหมดไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้งหมดถูกจำคุก ตั้งแต่กันยายน 2557

กระทั่ง 31 ม.ค. 2560 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72,78 ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 พิพากษายกฟ้อง

ต่อมา ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 10 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3-5 แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา

ล่าสุด วันนี้ (16 ก.พ.64) ศาลอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ให้ นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนจำเลยอื่นไม่ได้ยื่นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาได้บรรยายพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบโดยละเอียด บางส่วนของคำพิพากษาอธิบายถึงบันทึกถ้อยคำให้การ ซึ่งมีลักษณะลอกเลียนกันมาเกือบเหมือนกันทุกถ้อยคำ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งบรรยายถึงพยานโจทก์ที่ระบุเห็นผู้ตะโกนด่าพยานจากรถตู้เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งปกติความสามารถในการจดจำบุคคลจะลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่พยานเบิกความในคดีไต่สวนการตายของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ พยานกลับจำตำหนิรูปพรรณของชายบนรถตู้ไม่ได้ ต่างกับที่เบิกความว่าเป็นจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักน้อย

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีความสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้ศาลอาญาออกหมายปล่อย