“ธนาธร” โพสต์ “ประยุทธ์” ฟื้นฟูการบินไทย ไม่เอาประโยชน์ ปชช. เป็นตัวตั้ง

“ธนาธร” โพสต์เฟซบุ๊ก จวก “ประยุทธ์” ปมฟื้นฟู “การบินไทย” ไม่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่สมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงกรณีการฟื้นฟูการบินไทย ดังนี้

การตัดสินใจของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีการฟื้นฟูการบินไทย ไม่สมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจ และไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง

งบการเงินล่าสุดของการบินไทย ที่รายงานไว้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ระบุไว้ว่าการบินไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ถึง 1.28 แสนล้านบาท แผนการฟื้นฟูการบินไทยที่จะผ่านคณะรัฐมนตรี และการประชุมเจ้าหนี้ (วันที่ 11 และ 12 พ.ค. ตามลำดับ) ฉบับนี้ไม่ได้แก้ไขปัญหานี้เลย

การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และใช้เวลาเกือบหนึ่งปีในการทำแผนฟื้นฟู รัฐบาลขายหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ส่วนหนึ่งออกไปในเวลานั้น เพื่อให้กระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยกว่า 50% อันเป็นการทำให้การบินไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามรูปแบบเอกชนได้เต็มที่

แผนฉบับนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สองส่วนด้วยกัน คือการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการปรับโครงสร้างทางการเงิน

ในส่วนแรกที่เกี่ยวกับการดำเนินการ ผู้ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งนำโดยคุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ สามารถทำได้อย่างดี มีการยกเลิกเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไร, การปรับความถี่ของเส้นทางการบินให้เหมาะสม, ปรับเปลี่ยนเครื่องบินให้เหมาะสมกับเส้นทาง, ปรับลดจำนวนเครื่องบิน, ปรับสวัสดิการ, ลดจำนวนผู้บริหาร และลดจำนวนพนักงานลง ทั้งหมดสามารถทำให้การบินไทยมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งคุณภาพและราคา เทียบกับสายการบินอื่นได้

ในส่วนที่สอง ที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางการเงิน แผนฟื้นฟูฉบับนี้ไม่มีการปรับโครงสร้างทางการเงินแต่อย่างใด นอกจากการยืดการจ่ายหนี้กับเจ้าหนี้ทุกประเภท และเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยเงินกู้ใหม่ที่สามารถแปลงเป็นทุนในภายหลังได้ 5 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นสองก้อน คือก้อนแรก 2.5 หมื่นล้านบาท ให้การบินไทยกู้จากเอกชนและสถาบันการเงินต่างๆ และก้อนที่สองอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ให้กู้โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน ซึ่งทำให้การบินไทยต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง

การตัดสินใจเรื่องการปรับโครงสร้างทางการเงิน เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับทั้งผู้ถือหุ้นเดิม, เจ้าหนี้การค้า, เจ้าหนี้ธนาคาร, เจ้าหนี้เช่าซื้อเครื่องบิน, เจ้าหนี้หุ้นกู้ และผู้สนับสนุนการเงินรายใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และอยู่ในการรับผิดชอบของคุณประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมเห็นว่าคุณประยุทธ์ ควรทบทวนวิธีการฟื้นฟูการบินไทยอีกครั้ง การปรับโครงสร้างงบการเงินที่อยู่ในแผนฟื้นฟูนี้ แปลกประหลาด ไม่มีที่ไหนทำกัน ไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ ไม่ได้เอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง สะสมปัญหาไว้โดยไม่แก้ไข อันอาจส่งผลกระทบที่ใหญ่ยิ่งกว่าในอนาคต

โดยปกติ เมื่อบริษัทขาดทุนถึงขั้นล้มละลาย มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินล้นพ้นตัว ไม่มีความสามารถในการจ่ายคืนได้ กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกลไกที่จะหาทางออกเพื่อรักษาธุรกิจและการจ้างงานไว้ โดยผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องยอมรับความเจ็บปวด เพื่อปรับโครงสร้างกิจการ ทั้งด้านการดำเนินการและทางการเงิน ให้บริษัทกลับมาแข็งแกร่งและเดินหน้าต่อไปได้

ผู้ถือหุ้นเดิมต้องมีการลดทุน เจ้าหนี้ต้องยอมลดหนี้ ผู้บริหารเก่าต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบ พนักงานต้องยอมลดสภาพการจ้าง และมีผู้ถือหุ้นใหม่ยอมเสี่ยงใส่เงินทุนก้อนใหม่เข้ามาอุ้มกิจการ หากได้ข้อตกลงร่วมกัน บริษัทก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากใครคนใดคนหนึ่งไม่ยอมบริษัทก็ล้มละลาย

เรียกได้ว่า ยอมเสียคนละส่วน ดีกว่าทุกคนเสียทุกส่วน

แต่คุณประยุทธ์ไม่ได้เลือกเส้นทางนี้ คุณประยุทธ์ทำเพียงเพิ่มสภาพคล่อง ไม่ได้แก้ไขสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นเพียงการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยการใช้ภาษีประชาชนซื้อเวลา

คุณประยุทธ์ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่เด็ดขาด กลัวกลุ่มทุนธนาคารจะขาดทุน กลัวทุกฝ่ายจะเสียประโยชน์ ประนีประนอมกับทุกฝ่ายจนไม่มีใครต้องเจ็บ นอกจากพนักงานซึ่งเข้าโครงการลาออกอย่างสมัครใจไปแล้วเกือบหมื่นคน คนที่เหลืออยู่ก็มีการลดสวัสดิการจำนวนมาก

หลังจากการฟื้นฟู การบินไทยจะยังมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ (หรือหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน) เป็นจำนวน 1.28 แสนล้านบาท และหากรวมขาดทุนในปีนี้อีก ตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนล้านบาท ทำให้ไม่มีใครกล้าสนับสนุนเงินมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่แน่นอน

ในขณะเดียวกัน การอุ้มการบินไทยของรัฐบาล จะทำให้สังคมเห็นว่ารัฐจะเข้าไปช่วยเหลือตลอดเวลาที่เกิดปัญหา เหมือนเด็กไม่รู้จักโต ไม่เกิดความรู้สึกว่าต้องทำกำไร ต้องแข่งขันกับโลก หรือต้องยืนให้ได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีปัญหาก็จะคิดว่ารัฐต้องเข้ามาอุ้มแน่นอน จนไม่เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพและนวัตกรรมในสินค้าและ/หรือบริการของตนเอง

ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ การบินไทยจะยังเป็นรัฐวิสาหกิจไปอย่างน้อยอีกเกือบสิบปี และหากมีปัญหาเกิดขึ้น รัฐก็จะต้องใช้เงินภาษีจากประชาชนเข้าไปโอบอุ้มต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และที่สำคัญที่สุด การบินไทยในสภาพโครงสร้างการเงินของแผนฟื้นฟูนี้ ไม่ยั่งยืน เพียงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเพียงนิดเดียว (เช่น การระบาดที่คุมไม่ได้ของโควิด หรือวิกฤตเศรษฐกิจอีกรอบ) การบินไทยจะล้มละลายอีกครั้งทันที และครั้งนี้จะหนักกว่าเก่า เพราะหลุมขาดทุนเดิมยังไม่ได้กลบ หลุมใหม่จะลึกขึ้น ต้องการเม็ดเงินที่มากขึ้น และผู้เกี่ยวข้องจะเจ็บปวดมากขึ้น

ยอม “เจ็บแต่จบ” แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาในครั้งนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปรับโครงสร้างงบการเงินใหม่ให้ยั่งยืน น่าดึงดูดสำหรับเอกชนทั้งไทยและต่างชาติที่พร้อมเสี่ยงลงทุน เพื่อให้การบินไทยสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาภาษีประชานในอนาคต ตัดปัญหาการแต่งตั้งพวกพ้องที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งและปัญหาการทุจริต


ผมอยากเห็น “การบินไทย” เป็นสายการบินที่คนไทยภูมิใจ ด้วยการเป็นสายการบินที่มีบริการยอดเยี่ยมระดับโลก มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีนวัตกรรมที่นำหน้าใคร ไม่ใช่ภูมิใจเพียงเพราะมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้น การบินไทยจะเป็นอย่างนั้นได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี