อินไซด์ ครม.พลิกซากการบินไทย คู่มือ ลุ้น เจ้าหนี้โหวตรับ-ล่ม แผนฟื้นฟู

รายงานพิเศษ

ปัญหาการฟื้นฟู การบินไทย กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ก่อนถึงเส้นตาย โหวตรับ-ไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ของที่ประชุมเจ้าหนี้ 13,331 ราย ในวันนี้ 1(2 พ.ค.64)

แม้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ต้องรอเก้อ เพราะ “ไม่มาตามนัด” แต่หากย้อนดูเส้นทาง “เจ้าจำปี” ก่อนบินถลาออกจากอ้อมอกรัฐบาล-กระทรวงการคลัง ไม่ได้โบกมือลาลับ-ลาจาก

ไทม์ไลน์พ้นรัฐวิสาหกิจ-เข้าแผนฟื้นฟู

ก่อนเลาะมติครม.เพื่อเกาะติดปฏิบัติการกู้ชีพการบินไทย ขอย้อน “ไทม์ไลน์” ก่อนครบ 1 ปีในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 หลังจากการบินไทยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483

โดยศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องการขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ส่งผลให้การบินไทยอยู่ภายใต้ “สภาวะบังคับชั่วคราว” หรือ Automatic Stay ทันที

การบินไทยได้เสนอรายชื่อ “คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ” ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา จำนวน 5 ราย และนิติบุคคล จำนวน 1 ราย โดยศาลได้นัดให้มีการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563

ช่วงเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ คณะกรรมการการบินไทยยังคงมีอำนาจบริหารจัดการกิจการของการบินไทยได้ตามปกติ รวมถึงยังสามารถเสนอชื่อกรรมการการบินไทยต่อศาลเพื่อขอเป็น “คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ” เพิ่มเติมได้

“หากเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของการบินไทย อาจรวมกันเพื่อคัดค้านและเสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการขึ้นเองได้ ซึ่งเจ้าหนี้ที่จะยื่นคัดค้านต้องมีมูลหนี้รวมกันไม่ต่ำกว่าสองในสามของหนี้สินทั้งหมดของการบินไทย”

กรณีเจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้าน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะต้องจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน แต่หากเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำคัดค้าน คณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอจะต้องดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน และสามารถขยายเวลาได้อีก 2 เดือน

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟู หากที่ประชุมเห็นชอบด้วยจะยื่นต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้บริหารแผนเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

“ปัญหาสำคัญในการดำเนินการตามกระบวนการศาล คือ การส่งสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้และแจ้งวันนัดให้กับเจ้าหนี้ทุกรายของการบินไทย ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 2.5 ล้านราย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและทรัพยากรจำนวนมาก”

หากเจ้าหนี้ได้รับสำเนาคำร้องไม่ครบทุกรายอาจมีการคัดค้านได้ ทำให้วันนัดไต่สวนต้องเลื่อนออกไปจนก่อให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการ

“เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางจึงได้ให้ความอนุเคราะห์ในการปรับปรุงข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2549 เพื่ออนุญาตให้สามารถส่งสำเนาคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และเปิดโอกาสให้การบินไทยใช้ทรัพยากรระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งสำเนาคำร้อง ถึงเจ้าหนี้ทุกรายให้เร็วที่สุด”

ทั้งนี้ การบินไทยได้มีการประกาศแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบผ่านทางเว็บไซต์และทางหนังสือพิมพ์เป็นระยะเวลา 7 วันด้วย

 แช่แข็งเจ้าหนี้-พิทักษ์ทรัพย์

สภาวะบังคับชั่วคราว หรือ Automatic Stay การดำเนินงานในปัจจุบันของการบินไทยยังสามารถทำธุรกรรมบางอย่างได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้การบินไทยยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติต่อไปได้ (Pay to Survive) เช่น การจ่ายเงินเดือนพนักงาน การจ่ายค่าสินค้าและบริการให้กับคู่ค้า

หากเป็นค่าใช้จ่ายรายการอื่น ๆ เช่น การลงทุนใหม่ การขายโอนทรัพย์สิน การก่อหนี้ใหม่ การชำระคืนเงินต้น การว่าจ้างที่ปรึกษา ให้พิจารณาตามความจำเป็นโดยต้องขออนุญาตจากศาล

ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว (Automatic Stay) ส่งผลให้เจ้าหนี้ต่าง ๆ ของการบินไทยถูกระงับสิทธิในการฟ้องร้องคดีแพ่ง คดีล้มละลาย อนุญาโตตุลาการ และห้ามเจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอากับหลักทรัพย์ประกัน

รวมถึงห้ามเจ้าของทรัพย์สิน เช่น เครื่องบิน ติดตามและเอาคืนทรัพย์สิน ตลอดจนห้ามเจ้าหนี้สาธารณูปโภคงดให้บริการ อย่างไรก็ดี เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้

การเจรจากับเจ้าหนี้ กิจกรรมสำคัญที่การบินไทยจะต้องดำเนินการก่อนศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ได้แก่ การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อไม่ให้คัดค้านผู้ทำแผนและแผนฟื้นฟูกิจการ

การดำเนินการเพื่อปกป้องทรัพย์สินของการบินไทยในช่วงการฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าการยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ก่อให้เกิดสภาวะบังคับชั่วคราว (Automatic Stay) ในทรัพย์สินต่าง ๆ ของการบินไทยในประเทศ

แต่ทรัพย์สินของการบินไทยในต่างประเทศยังจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อปกป้องด้วยเช่นกัน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการได้ 2 ลักษณะ ได้แก่

ลักษณะที่ 1 การยื่นขอรับรองการฟื้นฟูกิจการของไทยในต่างประเทศ (Recognition) และลักษณะที่ 2 การยื่น US Code : Chapter 11 โดยแต่ละวิธีมีลักษณะ “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ดังนี้

ยื่นแต่ละประเทศ (Recognition)

ข้อดี ไม่ใช่การฟ้องคดีฟื้นฟูกิจการใหม่ แต่เป็นการให้ประเทศนั้น ๆ รับรองการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในประเทศไทย

ข้อเสีย มีผลคุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น ๆ และประเทศนั้น ๆ ต้องมีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะ

ยื่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (US Code : Chapter 11)

ข้อดี มีผลคุ้มครองทั่วโลก

ข้อเสีย เป็นการฟ้องคดีฟื้นฟูกิจการเต็มรูปแบบ และหากดำเนินการพร้อมกับการฟื้นฟูกิจการในประเทศไทยจะมีข้อจำกัดทางกฎหมายมาก (Parallel Proceeding)

“ปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างการแบ่งกลุ่มประเทศในการยื่นขอรับรองการฟื้นฟูกิจการการบินไทยในต่างประเทศ (Recognition) และได้ดำเนินการขอรับรองการฟื้นฟูกิจการต่อศาลประเทศนั้น ๆ เรียบร้อยแล้ว 2 ประเทศ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสมาพันธรัฐสวิส และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น

สำหรับประเทศอื่น ๆ การบินไทยอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ของกฎหมายและความคุ้มค่าในการดำเนินการ”

5 อรหันต์ ทำแผนฟื้นฟู

คณะกรรมการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ การดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการการบินไทย จำนวน 5 คน ได้แก่ 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 3.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ 5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

นิติบุคคล 1 แห่ง คือ บริษัท สำนักงาน อี วาย จำกัด โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษากฎหมาย ได้แก่ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) และบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ตามลำดับ

การบินไทยได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 7 กลุ่มย่อย ดังนี้ 1.การดำเนินการกับเจ้าหนี้ คู่ค้าและการชำระหนี้

2.การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับศาลต่างประเทศ 3.การดำเนินการทางด้านทรัพยากรบุคคล 4.การติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก 5.การบริหารจัดการข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ 6.การสนับสนุนการจัดเตรียมสำเนาเอกสารเพื่อแจ้งเจ้าหนี้ และ 7.การดำเนินการเรื่องงบประมาณและประมาณการผลการดำเนินงาน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 กระทรวงคมนาคมมีคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 302/2563 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการของบริษัทและปัญหาทุจริตการบินไทย ซึ่งทำให้ประสบภาวะขาดทุน ประกอบด้วยคณะทำงานจำนวน 33 คน มี “พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช” เป็นประธาน

อย่างก็ตาม วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 การบินไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะโดยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานชุดที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งขึ้นว่ายังสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ โดยกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความเห็น

 ตั้ง “วิษณุ” นั่งหัวโต๊ะคกก.ติดตาม

ปฐมบทการบินไทยพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจ-เข้าแผนฟื้นฟูรัฐบาลติดตามชะตากรรมของการบินไทยอย่างใกล้ชิด ภายหลังครม.มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เหลือร้อยละ 48 จากเดิมร้อยละ 51

ส่งผลให้บัดนี้การบินไทยพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วโดยเด็ดขาด และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลตามกฎหมายล้มละลาย และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และการบินไทย รับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ครม.มีมติรับทราบการดำเนินการตามมติครม.เกี่ยวกับปัญหาการบินไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “คณะทำงานและติดตามการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” รายงานในที่ประชุมครม.ถึงผลการได้หารือร่วมกันกับรมว.คลัง รมว.คมนาคม และปลัดกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 พร้อมถึงมติครม.ให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และผู้ทรงคุณวุฒิ (คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 143/2563)

นายวิษณุรายงานอีกว่า ส่วนการติดตามดูแลกิจการของการบินไทยตามสัดส่วนของหุ้นย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และการประสานงานกับกระทรวงคมนาคม การบินไทยก็สามารถดำเนินการได้โดยตรงอยู่แล้ว หรือ0อาจจะใช้ช่องทางคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ก็ได้

วิษณุ เครืองาม

ขาดทุนติดต่อกัน 3 ปีติด

วันที่ 9 มิถุนายน 2563 มติครม.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย หลังการประชุมคณะกรรมการติดตามฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563

โดยนายวิษณุรายงานฐานะการเงินของการบินไทย สรุปผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 – 2562 อาทิ สินทรัพย์รวม ปี 62 จำนวน 280,775 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 268,721 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 256,665 ล้านบาท

หนี้สินรวม ปี 60 จำนวน 248,762 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 248,265 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 244,899 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น ปี 60 จำนวน 32,013 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 20,456 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 11,766 ล้านบาท

รายได้รวม ปี 60 จำนวน 190,535 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 200,586 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 188,954 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม ปี 60 จำนวน 193,430 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 212,192 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 199,989 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ ปี 60 จำนวน -2,072 ล้านบาท ปี 61 จำนวน -11,569 ล้านบาท ปี 62 จำนวน –12,017 ล้านบาท

นายวิษณุยังสรุปหนี้สินของการบินไทยด้วยว่า รวมหนี้สินมูลค่า 352,484 ล้านบาท อาทิ หนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงาน มูลค่า 97,449 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.65 หุ้นกู้ มูลค่า 74,180 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.02 หนี้สินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน มูลค่า 47,797 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.56

ประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น มูลค่า 32,049 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.09 ล้านบาท เงินกู้ยืมจากกิจการที่เกี่ยวข้อง มูลค่า 26,589 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.54 ล้านบาท (ที่มา เอกสารคำร้องขอฟื้นฟูกิจหารของการบินไทยที่ยื่นต่อศาลล้มละลามกลาง ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563

รวมถึงรายงานถึงประมาณการสภาพคล่องของการบินไทย-เงินสดขั้นต่ำในการดำเนินการ (ที่มา การประมาณการของการบินไทยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563)

“การบินไทยยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถลดได้ประมาณเดือนละ 5,000 – 6,000 ล้านบาท จากการประมาณการคาดว่าหากการบินไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือสภาพคล่อง เงินสดของการบินไทยจะไม่เพียงพอในเดือนมิถุนายน 2563”

ทั้งนี้ การบินไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งหากเจรจาเป็นผลสำเร็จจะทำให้การบินไทยสามารถดำรงสภาพคล่องได้มากกว่าประมาณการ

การบินไทย

พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้นายวิษณุยังรายงานความสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐกับการบินไทยภายหลังพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยว่า การบินไทยได้พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้กระทรวงการคลังและคมนาคมไม่สามารถดำเนินการได้เช่นในอดีตและกระทำการได้อย่างจำกัดในฐานะกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 49

“อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจของการบินไทยที่ผ่านมามีความเกี่ยวพันกับรัฐ หรือ หน่วยงานรัฐค่อนข้างมาก เช่น การใช้พื้นที่ท่าอากาศยาน การกู้เงินต่อจากกระทรวงการคลัง การแก้ปัญหาหุ้นกู้ของการบินไทย”

ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นไปอย่างราบรื่น รัฐจึงยังจำเป็นต้องมีบทบาทในการรับรู้ ติดตามความคืบหน้า ตลอดจนเป็นตัวอย่างในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจภาครัฐ โดยไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวกับการพิจารณาของศาล

การพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทย บางกรณีต้องส่งคืนทรัพย์สินให้กับกระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) บางกรณีต้องเจรจากับหน่วยงานรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้ประโยชน์

สำหรับสิทธิการบิน และเส้นทางการบินที่การบินไทยเคยได้รับอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากพ.ร.บ.เดินอากาศ พ.ศ.2497 กำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้เจรจาเพื่อขอสิทธิการบินกับประเทศต่าง ๆ และมอบให้คณะกรรมการการบินพลเรือนจัดสรรเส้นทางการบินให้ผู้ประกอบการสายการบินอย่างเป็นธรรม

“แต่อาจต้องมีการทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับที่มีผู้แทนของการบินไทย เช่น คณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลในการเจรจาทำความตกลงการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ”

ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ

การบินไทยได้ขอรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนของภาครัฐทั้งในเชิงนโยบายและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ ดังนี้

ประเด็นในเชิงนโยบาย 1.ทบทวนนโยบายการเปิดเสรีการบิน 2.การมีส่วนร่วมในการจัด Time Slot 3.ให้สายการบิน Low Cost ลงจอดได้ที่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น

4.สนับสนุนโครงการ Star Alliance Biometric Hub ในสนามบินสุวรรณภูมิ และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับโครงการ 5.สนับสนุนการบินไทยในการยื่นขอ Recognition ของแผนฟื้นฟูกิจการในศาลต่างประเทศ

ประเด็นในการดำเนินงาน 1.สนับสนุนการบินไทยในการยื่นของเงินกู้สภาพคล่องในระยะสั้น โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากสถาบันการเงิน

2.ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่ค้าการบินไทยในช่วงฟื้นฟูกิจการเพื่อผ่อนผันค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายการลงจอดเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง

3.สนับสนุนการจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารเพื่อให้การบินไทยมีหลุมจอดประชิดอาคารผู้โดยสารแบบประจำเฉพาะ (Dedicated Concourse) กรณีศึกษาเช่นสายการบิน Cathay Pacific ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

4.สนับสนุนการแก้ไขสัญญาต่าง ๆ ที่มีกับหน่วยงานรัฐและ/หรือรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการที่การบินไทยได้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ 79 สัญญา แบ่งออกเป็น

สัญญาเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานกับธนาคารของรัฐ 5 สัญญา สัญญาให้สิทธิประกอบกิจการกับ ทอท. 47 สัญญา สัญญาเช่าที่ดินและสถานที่กับกรมท่าอากาศยาน 17 สัญญา และสัญญาอื่น ๆ 10 สัญญา

วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ครม.มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ครั้งที่ 2/2563 โดยนายวิษณุได้รายงานการดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนี้

  • 1.วันที่ 26 พ.ค.63 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลรับคำร้อง 27 พ.ค.63
  • 2.วันที่ 26 พ.ค.63 ยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินการตามมาตรา 90/12 (9) เพื่อดำเนินการทางกฎหมายในประเทศในการยอมสภาพบังคับตามมาตรา 90/12 ศาลขอให้ชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 27 พ.ค.63
  • 3.วันที่ 27 พ.ค.63 ยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินการตามมาตรา 90/12 (9) เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของการบินไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสมาพันธรัฐสวิส ศาลอนุญาต 27 พ.ค.63
  • 4.วันที่ 27 พ.ค.63 ยื่นคำร้องขอแก้ไขขอฟื้นฟูกิจการในส่วนจองรายชื่อผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอ เนื่องจากนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ลาออก ศาลอนุญาต 27 พ.ค.63
  • 5.ยื่นคำน้องขออนุญาตเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของการบินไทยในสาธารณรัฐสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเครือออสเตรเลีย ศาลอนุญาต 1 มิ.ย.63
  • 6.ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในส่วนรายชื่อผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอ เนื่องจากการแต่งตั้งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นกรรมการและผู้ทำแผนเพิ่มเติม ศาลอนุญาต 5 มิ.ย.63
  • 7.ยื่นบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลางได้มีส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์แจ้งเจ้าหนี้ของการบินไทย ถึงคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเพื่อให้เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านภายในวันที่ 14 ส.ค.63 ศาลอนุญาต 12 มิ.ย.63

 เจรจาเจ้าหนี้ในประเทศ-ยื่นศาล ตปท.

การบินไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้านี้ทั้งหมด ได้แก่ เจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่และเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน (Lessors) การบินไทยได้เริ่มการเจรจาไปแล้ว 21 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย.63) โดยการบินไทยจะต้องเสนอจำนวนเงินที่จะทยอยชำระหนี้พิจารณาเพื่อออกหนังสือยินยอมให้การบินไทยใช้เครื่องบินต่อไป

เจ้าหนี้คู่ค้า การบินไทยได้จัดเตรียมจดหมายแจ้งและอธิบายการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เจ้าหนี้สถาบันการเงินในประเทศการบินไทยได้เริ่มนัดเจรจาไปแล้ว 16 สถาบันการเงิน เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงการบินไทยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.63 เพื่อขอให้ชำระคืนหนี้กู้ต่อจำนวน 437.45 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมค่าธรรมเนียมการให้กู้ยืมเงินต่อ ซึ่งการบินไทยยังไม่ได้ชำระคืนเงินกู้จำนวนดังกล่าวเนื่องจากการบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะพักชำระหนี้ชั่วคราว (Automatic Stay)

เจ้าหนี้หุ้นกู้ การบินไทยยังไม่ได้เริ่มเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นสหกรณ์และรายย่อย เนื่องจากอยู่ภายใต้สภาวะพักการชำระหนี้ชั่วคราวและรอความชัดเจนในแผนธุรกิจใหม่

ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางได้สั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้เกือบครบแล้ว เหลือเพียงเจ้าหนี้ในต่างประเทศประมาณ 1 พันราย

เจ้าหนี้ไมล์สะสม (ROP) ที่ยังไม่ได้แลกสิทธิประโยชน์ยังคงมีสถานภาพและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คงเดิมภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ขอสงวนสิทธิแลกไมล์สะสมเป็นตั๋วเครื่องบินของสายการบินพันธมิตรอื่นใน Star Alliance ตลอดจนบัตรกำนัล หรือสิ่งของอื่นที่ต้องมีการจ่ายเงินสด

เจ้าหนี้ตั๋วโดยสารสามารเลือกได้ว่าต้องการเลื่อนออกไปจนกว่าการบินไทยจะกลับมาให้บริหาร หรือรับเงินค่าตั๋วโดยสารคืน (Refund) ไม่สามารถคืนเป็นเงินสดได้

ขณะที่สถานการณ์ยื่นขอรับรองต่อศาลต่างประเทศ เพื่อให้ทรัพย์สินหรือเครื่องบินถูกยึดขณะใช้งานต่างประเทศ ประเทศที่ศาลรับรองแล้ว คือ เยอรมนี ประเทศที่ศาลเรียกชำระค่าธรรมเนียมศาลและอยู่ระหวางรอฟังคำสั่งศาล คือ สวิส

ประเทศที่ยื่นหนังสือร้องขอไปแล้ว คือ สิงคโปร์ ประเทศที่คาดว่าจะยื่นหนังสือร้องขอภายใน 19 มิ.ย.63 ได้แก่ ญี่ปุ่น และเครือรัฐออสเตรเลีย

ประเทศที่อยู่ระหว่างพิจารณาขอยื่นหนังสือร้องขอ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ และราชอาณาจักรเบลเยี่ยม

นอกจากนี้ยังขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น สิทธิในการประกอบกิจการ หรือ เช่าที่ดินจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สิทธิในการใช้และเช่าอาคาร หรือ ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และสิทธิในการเป็นผู้ประกอบกิจการโรงซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา

นอกจากนี้การบินไทยยังมีข้อเสนอในเชิงนโยบายอีกบางประการเพื่อให้การบินไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน เช่น การทบทวนการเปิดเสรีนโยบายการบิน