เช็กเสียง ส.ส.รัฐบาล 275 คน ฝ่าเกมฝ่ายค้าน โหวตคว่ำงบ’65

รายงานพิเศษ

สภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมใหม่ ด้วย 2 วาระร้อนฉ่า

หนึ่ง วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน

สอง วาระพิจารณา ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สัปดาห์ถัดจากพิจารณากฎหมายงบประมาณ

ในยามที่รัฐบาลกำลัง “เมาหมัด” กับการแก้ไวรัสโควิด-19 และวัคซีนขาดมือ

“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเปิดฉากอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ในวันแรกว่า “แผนงบประมาณของประเทศที่ถูกจัดขึ้นอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ในสภาวการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตอย่างรุนแรงเช่นนี้ ผมไม่อาจยอมรับให้ผ่านสภาแห่งนี้ได้”

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนพรรคว่า จะไม่ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านให้รัฐบาล “ไม่ใช่ว่าไม่อนุญาตให้กู้เงินเพิ่ม แต่เราไม่ไว้วางใจให้รัฐบาลชุดนี้ได้บริหารเงินต่อ ครั้งที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่ามีความไร้ประสิทธิภาพมาก”

2 พรรคใหญ่ฝ่ายค้าน ประกาศไม่รับทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน

รัฐบาลมั่นใจเข็นผ่านสภา

ทว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ยังใจดีสู้เสือ ประเมินสถานการณ์ว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะผ่านการพิจารณาของสภาได้

ส่วน “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นยกธรรมเนียบปฏิบัติออกโรงขู่ว่า ถ้า พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านแท้งไป นายกรัฐมนตรีจะต้องยุบสภา

มหากาพย์งบฯ 2563

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปส่องมติกฎหมายงบการเงินทั้งหมดในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังเลือกตั้งปี 2562 กฎหมายการเงินทั้งหมดผ่านสภาไปอย่างฉลุยด้วยเสียงที่มากกว่าฝ่ายค้าน
เริ่มจากงบประมาณ 2563 แม้เป็นเหมือนมหากาพย์ เพราะนอกจากจัดทำกฎหมายงบประมาณได้ล่าช้าแล้ว ยังต้องเจอกับพิษเสียบบัตรแทนกัน ทำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องนัดลงมติวาระ 2-3 ถึง 2 ครั้ง

ซึ่งที่สุดแล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ก็ผ่านสภาด้วยเสียง 257 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2563โดยการลงมติวันนั้น ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์

ส่วน ส.ว.ตบเท้าให้ผ่านด้วยเสียง 215 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

กู้เงิน 1.9 ล้านล้านผ่านแบเบอร์

ต่อมาหลังโควิด-19 ระลอกแรก ระบาดทั่วประเทศ รัฐบาลออก พ.ร.ก.เยียวยาพิษโควิด-19 ทั้งหมด 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในคราวนี้ สภาอภิปรายดุเดือด 4 วัน คือ 27-30 พฤษภาคม 2563

ก่อนที่จะลงมติในวันที่ 31 พฤษภาคม

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน) ที่ประชุม เห็นด้วย 274 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง

2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.Softloan 500,000 ล้าน) ที่ประชุม เห็นด้วย 275 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 205 เสียง

3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (วงเงิน 400,000 ล้าน) ที่ประชุม เห็นด้วย 274 ต่อ 195 เสียง งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

เมื่อเรื่องมาถึง ส.ว. วันที่ 2 มิถุนายน 2563 ก็เห็นชอบแบบเสียงไม่แตก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท 241 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง, พ.ร.ก.Softloan มีมติ 243 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง และ พ.ร.ก.ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตราสารหนี้บริษัทเอกชน เห็นชอบ 242 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง

จากนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินก้อนมาแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 จึงตราร่างพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 2563 วงเงิน 88,452,597,900 บาท มาแก้ปัญหาไวรัสระบาดโดยเฉพาะ

สภาลงมติในวันที่ 17 มิถุนายน 2563 โดยที่ประชุมเห็นชอบด้วยเสียง 250 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 178 เสียง

ส่วน ส.ว.ทำหน้าที่ได้ตามเป้า ด้วยคะแนนเห็นด้วย 215 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

งบฯ 64 ฉลุย

มาถึงคิวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 วันที่ 18 กันยายน หลังจากรัฐสภาอภิปรายนาน 3 วัน 3 คืน ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 270 ต่อ 60 งดออกเสียง 120 ไม่ลงคะแนน 6 เสียง โดยฝ่ายค้าน “งดออกเสียง-ไม่เห็นด้วย” ตามฟอร์ม เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่ตบเท้ามาลงมติ 218 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1

ตรวจเสียงในสภา

เช็กเสียงในสภาก่อนโหวต 2 กฎหมายสำคัญ ขณะนี้รัฐบาลมี 19 พรรค 275 เสียง ประกอบด้วย 1.พลังประชารัฐ 122 เสียง 2.ภูมิใจไทย 61 เสียง 3.ประชาธิปัตย์ 50 เสียง 4.ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง 5.รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง 6.พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง 7.ชาติพัฒนา 4 เสียง 8.เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง 9.รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

10.พลังชาติไทย 1 เสียง 11.ประชาภิวัฒน์ 1 เสียง 12.พลังไทยรักไทย 1 เสียง 13.ครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง 14.ประชานิยม 1 เสียง 15.พลเมืองไทย 1 เสียง 16.ประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 17.พลังธรรมใหม่ 1 เสียง 18.ประชาธรรมไทย 1 เสียง 19.ไทรักธรรม 1 เสียง

พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค กับอีก 2 เสียง รวม 212 เสียง 1.พรรคเพื่อไทย 134 เสียง 2.ก้าวไกล 54 เสียง 3.เสรีรวมไทย 10 เสียง 4.ประชาชาติ 7 เสียง 5.เพื่อชาติ 5 เสียง 6.พลังปวงชนไทย 1 เสียง ผนวกกับฝ่ายค้านเฉพาะกิจ ไทยศิวิไลย์ 1 เสียง ของ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และ 1 เสียงของ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์”

แต่เมื่อหัก 5 ส.ส.อดีต กปปส. ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายรัฐบาลเหลือ 270 เสียง

จับตางูเห่าขาประจำ

กระนั้นยังมี “งูเห่า” ขาประจำที่ฝังตัวในฝ่ายค้านมาทดแทน พรรคเพื่อไทย นางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคประชาชาติ คือ นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

ส่วนงูเห่าเฉพาะกิจ เช่น 4 ส.ส.ก้าวไกล ที่ลงมติให้ฝ่ายรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

ประกอบด้วย นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี และนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทั้งงบประมาณ 2565 และงบฯเงินกู้ 5 แสนล้าน น่าจะผ่านสภาไปได้ไม่ยาก

เว้นไว้ 2 กรณี คือ หน่วยเหนือในรัฐบาลต้องการเล่นเกม “ยุบสภา” สั่งคว่ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ภูมิไจไทย ที่มี 61+4 (งูเห่า) เสียง

ถอนตัวร่วมรัฐบาล แต่นั่นอาจไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ