เจาะไส้ใน-นอกงบฯปี’65 “ประยุทธ์” กั๊กเงินฉุกเฉิน 5.71 แสนล้าน

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงินกว่า 3.1 ล้านล้านบาท ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่ใน “ช่วงมรสุม” การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

การจัดทำ “งบฯแผ่นดิน” ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ปี 2564 ต่อถึงปี 2565 จึงต้องขับเคลื่อน 3 ขา ทั้งการเยียวยา-การกระตุ้น-การสาธารณสุข โดยมี “โครงการแกะกล่อง” หรือ “โครงการปีเดียว” และผูกพันข้ามปี-ต่อเนื่อง

“ประยุทธ์” กำงบฯกลาง-ฉุกเฉิน 5.71 แสนล้าน

งบประมาณรายจ่ายงบฯกลาง จำนวน 571,047 ล้านบาท อาทิ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 89,000 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายและไม่สามารถใช้จากแหล่งเงินอื่นใดได้ ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 5,000 ล้านบาท

ขณะที่กระทรวงเยียวยา-เศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 5,164,586,900 บาท แบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 4,078,855,000 บาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 1,085,731,900 บาท อาทิ โครงการพัฒนาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

กระทรวงคมนาคม 175,858,714,700 บาท รายจ่ายประจำ 11,582,117,200 บาท รายจ่ายลงทุน 164,276,597,500 บาท โครงการศึกษาแนวทางและจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการพัฒนาระบบบริหารและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่ง โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โครงการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้า ด้านการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาค

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,979,125,600 บาท แบ่งออกเป็น รายจ่ายประจำ 4,233,959,300 บาท รายจ่ายลงทุน 2,745,166,300 บาท เป็น “เงินนอกงบประมาณ” 81,809,700 บาท โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การจัดทำข้อมูลสำคัญภาครัฐ และข้อมูลรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล

กระทรวงเศรษฐกิจยุคหลังโควิด

กระทรวงพลังงาน 2,717,546,900 บาท รายจ่ายประจำ 2,025,849,000 บาท รายจ่ายลงทุน 691,697,900 บาท อาทิ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการแหล่งผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการประเมินศักยภาพเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อการกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและการเตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

กระทรวงพาณิชย์ 6,523,276,100 บาท รายจ่ายประจำ 5,407,889,100 บาท รายจ่ายลงทุน 1,115,386,900 บาท เป็น “เงินนอกงบประมาณ” 620,535,700 บาท โครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงการค้าอนุภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง โครงการยกระดับการค้าภาคอีสานสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มน้ำแม่โขง โครงการพัฒนาโครงข่ายทางการค้าภาคตะวันออก

โครงการส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการไทยเร่งต่อยอดให้ประโยชน์ FTA โครงการต่อยอดสินค้าท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมด้วยทรัพย์สินทางปัญญา โครงการพัฒนาระบบให้บริการดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ (End-to-End Services) สำหรับประชาชนและธุรกิจ

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โครงการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดและการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสินค้าและธุรกิจบริการศักยภาพ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตใหม่และเมกะเทรนด์ โครงการสร้างแบรนด์ประเทศไทยในด้านการค้าและบริการ โครงการเพิ่มขีดความสามารถทางการตลาด โครงการขยายการค้าการลงทุนสู่สากล โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์

กระทรวงแรงงาน 49,742,822,300 บาท รายจ่ายประจำ 49,377,878,200 บาท รายจ่ายลงทุน 364,944,100 บาท โครงการออกใบอนุญาตทำงานให้ผู้เชี่ยวชาญ โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการพัฒนาผู้ประกอบกิจการสมัยใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือบริการในชุมชน โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับการท่องเที่ยวและบริหารให้มีมูลค่าสูง โครงการเสริมสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีรองรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 โครงการพัฒนาศักยภาพช่างเชื่อมไทยสู่ระดับสากล โครงการจัดทำข้อมูลสำคัญภาครัฐและข้อมูลรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล

กระทรวงเยียวยา-สังคม-สาธารณสุข

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 24,664,817,400 บาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 23,217,139,900 บาท รายจ่ายลงทุน 1,447,677,500 บาท “เพิ่มขึ้น” จากปี’64 ที่จัดสรรให้ 22,341,810,800 บาท อาทิ โครงการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้ประสบปัญหาทางสังคม โครงการสื่อสารองค์กรเพื่อเสริมสร้างพลังงานด้านสตรีและครอบครัวสู่สังคม โครงการสร้างเสริมสวัสดิการสังคม โครงการสวัสดิการลดความเหลื่อมล้ำ โครงการปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน

กระทรวงสาธารณสุข 153,940,474,200 บาท รายจ่ายประจำ 136,919,565,400 บาท รายจ่ายลงทุน 17,020,908,800 บาท เป็น “เงินนอกงบประมาณ” 332,326,900 บาท โครงการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (2565) จำนวน 8,481,600 บาท โครงการจัดตั้งศูนย์การแพทย์แม่นยำแห่งชาติ จำนวน 2,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2565-2570) วงเงินรวม 12,000,000 บาท โครงการเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ จำนวน 16,738,200 บาท ระยะโครงการ 5 ปี (2565-2569) วงเงินรวม 68,093,000 บาท

โครงการพัฒนาสุขภาพความปลอดภัยของวัยแรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิตของประเทศ จำนวน 1,928,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2565-2570) วงเงินรวม 11,568,000 บาท โครงการพัฒนาและส่งเสริมความรอบรู้ด้านการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพที่ถูกต้องสำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 2,653,300 บาท ระยะเวลาโครงการ 6 ปี (2565-2570) วงเงินรวม 15,919,800 บาท โครงการยกระดับระบบบริหารจัดการกรมการแพทย์แนวใหม่ด้วยระบบดิจิทัล จำนวน 9,998,000 บาท โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและการตรวจสอบทางการแพทย์ จำนวน 18,650,000 บาท